“ขับเคลื่อนพัฒนาผู้นำธุรกิจยุคใหม่สู่ประเทศไทย 4.0 จากนักออกแบบและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภาคเหนือตอนบน ผลักดันเข้าสู่ธุรกิจ “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry)” ผ่านกิจกรรมพัฒนาผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้าน (Décor Design) ภายใต้โครงการพัฒนาผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปีงบประมาณ 2561”
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เป็นประธานเปิดงานโครงการพัฒนาธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 เวลา 13.30-14.00 น. ณ ห้องพาโนราม่า โรงแรมธาริน จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่ากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยจะคัดเลือกนักออกแบบ 20 คน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 80 คน รวมเป็น 100 คน ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เข้ามาเรียนรู้กระบวนการออกแบบด้วยความคิดเชิงสร้างสรรค์ ฝึกปฏิบัติการในรูปแบบ Creative Camp แนวใหม่ เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบ Learning by Doing และเพิ่มความเข้มข้นด้วยการสร้างบรรยากาศของการแข่งขันด้วยการนำเสนอโมเดลธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ของผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะมีการคัดกรองผู้เข้าร่วมโครงการจาก 100 คน เหลือ 80 คน และรอบสุดท้ายจะมีการคัดเลือก เหลือ 30 คน ที่จะเข้าไปสู่กิจกรรมการจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์จริง การนำผลิตภัณฑ์ไปทดสอบตลาด และสุดท้ายเราเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด การออกแบบระดับประเทศมาตัดสินคัดเลือกผลงานดีเด่นที่ตอบโจทย์ธุรกิจสร้างสรรค์มากที่สุด และมอบรางวัล เกียรติบัตร จำนวน 3 รางวัล ให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป
เป้าหมายสำคัญของโครงการนี้ คือ การเสริมสร้างทักษะ ประสบการณ์ตรงให้กับผู้เข้าร่วมโครงการมีโอกาสเรียนรู้กระบวนการออกแบบเชิงสร้างสรรค์สร้างนวัตกรรม หรือ Design Thinking ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่หนึ่ง (Empathize) และสอง (Define) เป็นขั้นตอนทำความเข้าใจและตีความปัญหาอย่างลึกซึ้ง ขั้นตอนที่สาม (Ideate) คือขั้นตอนในการใช้ความคิดสร้างสรรค์และมุมมองจากหลายๆ ด้านมาสร้างไอเดีย และขั้นตอนที่สี่ (Prototype) และห้า (Test) คือขั้นตอนในการทดสอบแนวคิดและพัฒนาต้นแบบที่เป็นตัวอย่างแนวคิด เพื่อให้ได้แนวทางหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ซึ่งเป็นกระบวนการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ที่ได้รับการยอมรับในองค์กรธุรกิจระดับโลก ตลอดจนธุรกิจ Start Up ที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน
นอกจากนี้ โครงกานี้ยังสามารถเสริมสร้างศักยภาพการสร้างธุรกิจ “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และอัตลักษณ์ในท้องถิ่น มาผนวกเป็นต้นทุนในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น พิเศษ มีเอกลักษณ์ สอดคล้องกับทิศทาง และแนวโน้มการตลาดยุคใหม่ที่เข้าสู่สังคมธุรกิจบนโลกดิจิทัล ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และนักออกแบบให้มีศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับสากลได้อย่างยั่งยืน