รู้ทัน ป้องกัน โรคหืด (Asthma) ปัญหาทางเดินหายใจที่ใกล้ตัว

สุขภาพ

โครงการ Healthy Lung Thailand ผนึก สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย เดินหน้ารณรงค์คนไทยใส่ใจสุขภาพ แนะแนวทาง สร้างการรับรู้การรักษา – ป้องกัน “โรคหืด” เนื่องในวัน World Asthma Day: วันหืดโลก

โรคหืด (Asthma) เป็นอีกหนึ่งโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมาน และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ทำให้มีคุณภาพชีวิตแย่ลง หากมีอาการรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง การเข้าใจในโรค รวมถึงแนวทางการดูแลรักษาที่ถูกต้อง และเหมาะสมจึงมีความสำคัญมาก เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น โดยโรคหืดถือได้ว่าเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ควรมองข้าม และเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยมีอุบัติการณ์ผู้ป่วยโรคหืดราว 7% ในผู้ใหญ่ และ 10-15% ในเด็ก และพบว่าผู้ป่วยโรคหืดมีแนวโน้มเสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย ต่อปี มีคนไข้ที่เสียชีวิตจากโรคหืดในทุก ๆ วัน ซึ่งประเทศไทยบรรจุแผนการดูแลรักษาโรคหืดในแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ หรือ Service Plan ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันการรักษาโรคหืดในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก เนื่องจากเรามีองค์ความรู้และยาที่พัฒนามากขึ้น

องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การหืดโลก (Global Initiatives for Asthma -GINA) ได้กำหนดให้วันอังคารแรกในเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นวันหืดโลก หรือ World Asthma Day เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งเครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศ และประชาชนทั่วโลก ได้ตระหนักถึงความสำคัญ พร้อมร่วมรณรงค์ป้องกันและการปลุกจิตสำนึก เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหืด ซึ่งจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโรคหืดที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ทั้งจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ไม่เหมาะสม มีความเข้าใจผิด ปฏิบัติตัวเพื่อควบคุมโรคหืดไม่ถูกต้อง รวมถึงจากสภาวะสิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ให้ความรู้ว่า “โรคหืดเป็นโรคเรื้อรัง ไม่ติดต่อ เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งพบได้ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ เป็นภาวะที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมหรือทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมมีภาวะไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าคนปกติ เกิดการหดเกร็งตัวของหลอดลม นำไปสู่การหายใจที่ลำบาก อากาศเข้าสู่ปอดน้อยลง โดยมี 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น ละอองเกสรดอกไม้ เกสรหญ้า ไรฝุ่น ขนสัตว์ ควันบุหรี่ การออกกำลังกาย อากาศที่เย็นจัด การติดเชื้อไวรัส รวมถึงมลพิษในอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควันที่เกินค่ามาตรฐาน อย่างฝุ่นละออง PM2.5 ที่ได้รับผลกระทบทั่วทั้งประเทศ”

“อาการของโรคหืด จะเกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางรายจะมีอาการเป็นพัก ๆ แล้วหาย แต่บางรายเป็นอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยโรคหืดในภาวะปกติอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ สำหรับอาการที่พบบ่อยได้แก่ ไอ โดยมักมีอาการในตอนเช้าและตอนกลางคืน บางรายมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จากโรคภูมิแพ้ร่วมด้วย แต่ในภาวะจับหืดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการไอเป็นชุด ๆ หายใจลำบาก หายใจเสียงดังหวีด แน่นหน้าอก ในรายที่รุนแรงมากอาจไม่สามารถพูดเป็นประโยคปกติได้ รู้สึกตัวลดลง ซึมลงหรือสับสน หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้เนื่องจากสมอง ขาดออกซิเจน อาการของโรคหืดอาจกำเริบขึ้นได้ตามสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ และจะเกิดขึ้นเวลาใดนั้นไม่สามารถคาดเดาได้ ผู้ป่วยโรคหืดทุกคนจึงควรมีแผนปฏิบัติการเมื่อมีอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน (Asthma Action Plan) ซึ่งประกอบด้วย อาการของหืดกำเริบ การใช้ยาและการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน และอาการสำคัญที่ต้องมาโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยโรคหืดสามารถเรียนรู้แนวทางการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเมื่อเกิดอาการหอบ พร้อมทั้งการสูดพ่นยาที่ถูกวิธี รวมถึงการเตือนการสูดพ่นยา และการนัดหมายพบแพทย์ ได้ที่ Asthma Care Application ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีจากมือถือทั้งระบบ iOS และ Android ซึ่งเป็นความร่วมมือของหมอร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหืดสะดวกต่อการเข้าถึงข้อมูล”

“ทั้งนี้โรคหอบหืดเป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงอาการเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แพทย์จึงต้องประเมินผลการรักษาด้วยยาเป็นระยะ และอาจต้องปรับเปลี่ยนหรือลด - เพิ่มขนาดของยาตามความจำเป็นเพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โรคหืดเป็นโรคที่สามารถรักษาให้อาการหอบหายได้ ซึ่งการรักษาให้หายขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น ปัจจัยด้วยตัวโรค หรือปัจจัยที่มีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะภูมิแพ้ หรือโพรงจมูกอักเสบเรื้อรังก็มีโอกาสหายช้าหรือค่อนข้างน้อย การรักษาโรคหืดจะแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน ขึ้นอยู่กับความแรงของโรค อายุคนไข้ และภาวะที่เกิดร่วมกับโรคหอบหืด โดยการรักษานั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความเข้าใจกับผู้ป่วยก่อนการรักษา ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับโรค เพราะโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับผู้ป่วยรายใหม่ที่แพทย์ต้องให้เวลาในการอธิบายเกี่ยวกับโรค รวมถึงวิธีในการใช้อุปกรณ์สูดพ่นยาเพราะการสูดพ่นยาให้ถูกวิธีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และควรหลีกเลี่ยงการให้อุปกรณ์สูดพ่นยาหลายชนิดเพราะทำให้ผู้ป่วยสับสน โดยทั่วไปยาที่ใช้รักษาโรคหืด ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ยาที่ช่วยบรรเทาอาการ ใช้เพื่อขยายหลอดลมในช่วงที่มีอาการหอบหืดเนื่องจากหลอดลมตีบแคบ และยาสเตียรอยด์ชนิดสูงที่ใช้ควบคุมอาการ เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบเฉพาะที่ มีผลข้างเคียงต่ำเมื่อเทียบกับยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน ใช้เพื่อลดการอักเสบของหลอดลมและป้องกันไม่ให้เกิดอาการหอบขึ้นอีก ยาประเภทนี้ต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานตามความรุนแรงของโรค ภายใต้คำแนะนำของแพทย์”

“ปัญหาที่พบบ่อยในการรักษา คือ เมื่อคนไข้พกยาหลายหลอด คนไข้ละเลยการใช้ยาควบคุมอาการและมักจะชอบใช้เพียงยาขยายหลอดลม หรือ ยาฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบันสามารถเลือกใช้ยาที่มันง่ายขึ้น ยาที่ทั้งสามารถใช้เพื่อควบคุมอาการหรือใช้บรรเทาอาการเมื่อหอบกำเริบฉุกเฉินก็ได้ นอกจากนี้การที่ผู้ป่วยมีอุปกรณ์สูดพ่นยาหลายชนิด อาจทำให้สับสนได้เช่นกัน”

“เป้าหมายของการรักษาผู้ป่วยที่จับหืดบ่อยนั้นเป็นการลดความรุนแรงของโรคด้วยการใช้ยาให้เหมาะสมเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่มากับหอบหืดคือ ภาวะจับหืดเฉียบพลัน (Acute Asthma Attack) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยทุกคนแม้แต่กับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหอบไม่บ่อย และผู้ป่วยที่ละเลยการใช้ยาเพื่อป้องกันและควบคุมอาการ และชอบพึ่งพาใช้ยาพ่นขยายหลอดลมบ่อย ๆ ผู้ป่วยจำนวนมากที่เสี่ยงกับการเสียชีวิตระหว่างเดินทางมาโรงพยาบาล ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน”

“ปัจจุบันการป้องกัน และควบคุมอาการของโรคหืดไม่ให้กำเริบนั้นสามารถทำได้ และถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรค โดยแพทย์จะค้นหาปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด และแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้น เช่น กำจัดไรฝุ่นในบ้าน หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และควันต่าง ๆ นอกจากนี้ผู้ป่วยเองสามารถควบคุมอาการของโรคได้ด้วยการใช้ยาเพื่อควบคุมอาการตามที่แพทย์แนะนำต่อเนื่อง ไม่หยุดยาเอง รวมถึงประเมินความรุนแรงของอาการตนเองอยู่เสมอ และยังสามารถดูแลตนเองให้มีสุขภาพแข็งแรงพร้อมการปรับไลฟ์สไตล์ด้วยทฤษฎี 4E ได้แก่ 1.การออกกำลังกาย (Exercise) เพื่อสุขภาพ แต่ควรออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ 2.รับประทานอาหาร (Eating) ที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ พยายามเลี่ยงอาหารที่อาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้ของตัวเอง 3.สิ่งแวดล้อม (Environment) คนไข้โรคหืดจะต้องเลี่ยงสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งที่จะกระตุ้นให้อาการกำเริบ และ 4.อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) ในภาวะที่คนไข้เครียด ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน มีผลกระทบต่อการเกิดโรคอย่างมาก”

“โรคหืด สามารถรักษาได้ถ้าผู้ป่วยเข้าใจธรรมชาติของโรค เข้าใจการทำงานของยาที่ควบคุมอาการของโรคได้ดี รวมถึงได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะสามารถทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นอย่างมาก เพราะหืดเป็นโรคเรื้อรังต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เน้นการรักษาแบบป้องกัน ก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีปอดที่แข็งแรง เพราะสิ่งสำคัญที่ทำให้โรคดีขึ้นได้ไม่ใช่เพราะหมอ แต่คือ ตัวผู้ป่วยเองที่ต้องให้ความร่วมมือกับการรักษา”

อนึ่ง โครงการรณรงค์เนื่องในวัน World Asthma Day: วันหืดโลก ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการ Healthy Lung Thailand ซึ่งเป็นโครงการผสานความร่วมมือระหว่าง บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัดและเขตสุขภาพที่ 1 กระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ด้วยการสนับสนุนทางด้านวิชาการจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย สมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก และมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยที่ให้ความร่วมมือในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 ประกอบด้วยพื้นที่ 8 จังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ซึ่งผลจากการดำเนินการในปีที่ผ่านมา โครงการ Healthy Lung Thailand ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมะเร็งปอดของบุคลากรทางการแพทย์มากกว่าหนึ่งหมื่นคนทั่วประเทศ จนก่อให้เกิดพัฒนาการด้านการรักษาและดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพและเข้าถึงการบริการ เพื่อนำไปสู่พัฒนาการด้านการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการเกิดโรค และอัตราการเสียชีวิต ทั้งกับผู้ให้บริการสุขภาพ บุคลากรทางการแพทย์ในภาครัฐ รวมถึงชุมชนท้องถิ่น เพื่อขยายการเข้าถึงการรักษา และการสนับสนุนการดูแลสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นไป
  • ผู้โพสต์ :
    MTM
  • อัพเดทเมื่อ :
    5 พ.ค. 2020 13:30:46

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา