คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ผู้ก่อตั้งและอดีตคณบดี มอบ รางวัลอุกฤษ มงคลนาวิน “นิติศาสตร์เพื่อสังคม” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 ให้แก่ ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะเป็นบุคคลผู้กอปรคุณูปการ เป็นแบบอย่างอันดีงามด้านนิติศาสตร์เพื่อสังคม และยังได้มอบทุนสนับสนุนโครงการของนิสิต ที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคม ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีแรก และกำหนดจะจัดในเดือนมีนาคมของทุกปี
ในปีแรกนี้ รางวัลอุกฤษ มงคลนาวิน “นิติศาสตร์เพื่อสังคม” ได้มอบให้แก่ ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ผู้ที่สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เพราะท่านได้อุทิศตนเพื่อปฏิบัติราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และยังได้ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อแก้ไข ผดุง และเสริมสร้างความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และความสุขของมวลมนุษย์ ทั้งในสังคมไทย และสังคมโลก โดยได้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญหลายหน้าที่ โดยเฉพาะตำแหน่งหลายตำแหน่ง ซึ่งปฏิบัติในภารกิจขององค์การสหประชาชาติ ท่านได้สร้างคุณูปการอย่างกว้างขวางในวงการสิทธิมนุษยชนโลก และสร้างเกียรติคุณอย่างยิ่งใหญ่แก่วงการนิติศาสตร์ไทย
ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน กล่าวว่า “การสร้างคน นั้นยากยิ่งว่าการสร้างวัตถุมาก โดยเฉพาะการสร้างคนให้เป็นคนดี ไม่เพียงให้ความรู้ติดตัวไว้ทำสัมมาชีพ แต่ยังต้องสร้างให้นิสิตนิติฯ จุฬาฯ รู้จักเรียนรู้ในการช่วยเหลือสังคม เช่น การออกค่ายอาสาพัฒนา และที่ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง คือ ได้สร้างคนให้เป็น ครูที่ดีและเป็นนักกฎหมายที่ยิ่งใหญ่ สร้างคุณนำความรู้ความเชี่ยวชาญไปช่วยเหลือสังคม โดยรางวัลนี้เป็นการประกาศเกียรติคุณ และเป็นกำลังใจแก่นักนิติศาสตร์ ผู้กอปรคุณูปการแก่สังคม รวมทั้งเพื่อเป็นแบบอย่างอันดีงาม ในวงวิชาชีพนิติศาสตร์ และสาธารณชนสืบไป”
ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ผู้ที่ได้รับรางวัลอุกฤษ มงคลนาวิน “นิติศาสตร์เพื่อสังคม” ปีแรก เผยว่า “รางวัลนี้จะสร้างกำลังใจและกระตุ้นพลังในการทำงานของผมต่อไปครับ ผมรู้สึกภูมิใจที่มีโอกาสได้สอน และทำงานที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคม
ตลอดระยะเวลาที่ผมทำงานมา นอกเหนือจากการสอนหนังสือ ผมทุ่มเทให้งานช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย ได้เรียนรู้สถานภาพความยากลำบากของผู้อพยพในภูมิภาคเอเชีย โดยเก็บข้อมูลเพื่อใช้เป็นกรณีศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหานโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความเป็นธรรม ช่วยบรรเทากลุ่มคนเหล่านี้ที่เขาเหมือนหนีร้อนมา พึ่งเย็น โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นหลักของสิทธิมนุษยชน เช่น การจดทะเบียนเกิดให้แก่ทุกคนที่เกิดในประเทศไทย หรือสิทธิการได้รับการศึกษาในเด็กไร้สัญชาติ ได้เข้าเรียนในโรงเรียนประถม ซึ่งผมทำงานช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย ตั้งแต่ปี 1979 จนกระทั่งปี 1992 ผมได้เขียนหนังสือเรื่อง Status of Refugees in Asia จัดพิมพ์โดย Oxford University Press ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ ฐานวิชาการยังคงใช้อ้างอิงกันอยู่ เพื่อหาข้อสรุปในการช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย”
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปถึงที่มาของรางวัลว่า “รางวัลอุกฤษ มงคลนาวิน “นิติศาสตร์เพื่อสังคม” ก่อกำเนิดขึ้นจากความตั้งใจของ ศ.ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน ที่ได้มอบเงินจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่คณะฯ เนื่องในมงคลวาระฉลองอายุ 84 ปี 7 รอบนักษัตร เพื่อจัดตั้งกองทุนเกี่ยวกับนิติศาสตร์เพื่อสังคมตามปณิธานที่คณะฯ ยึดมั่นมาตลอด ทางคณะจึงได้นำเงินดังกล่าวเป็นทุนประเดิมจัดตั้ง เงินทุนรางวัลอุกฤษ มงคลนาวิน “นิติศาสตร์เพื่อสังคม”
โดยได้แบ่งเงินรางวัลเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทบุคคล จะต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านนิติศาสตร์เพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และดำรงตนตามจริยธรรมของวิชาชีพตามตำแหน่งหน้าที่ของตน และมีปณิธานมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานนิติศาสตร์เพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องตลอดไป โดยจะได้รับเงินรางวัล 84,000 บาท พร้อมประติมากรรมเกียรติยศ จารึกลายพระหัตถ์เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช และ ประเภทโครงการของนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โครงการที่นิสิตคณะฯ จัดทำขึ้นเพื่อเกื้อกูลประโยชน์ต่อสังคม มีแผนการดำเนินงานต่อยอดที่ชัดเจน โดยจะได้รับเงินรางวัล 84,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนดำเนินโครงการเพื่อสังคม เป็นการปลูกฝังคุณลักษณะอันดีงาม และส่งเสริมให้นิสิตพัฒนาตนเป็นนักกฎหมายที่มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ”