คณะบัญชีฯ จุฬาฯ สร้างโมเดลจุฬาธุรกิจสู้วิกฤติ COVID-19 ร่วมกับทิพยประกันภัย มอบการประกัน COVID-19 แก่นิสิตทุกคน

การศึกษา ภาษา ติวเตอร์

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาโมเดลสู้วิกฤติ COVID-19 ร่วมมือกับ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยคณะฯ มอบหลักสูตรจุฬาธุรกิจพิชิตโควิด-19 ให้แก่ทิพยประกันภัย และรับมอบกรมธรรม์คุ้มครองการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ให้แก่นิสิตของคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ทุกคน ทุกระดับชั้น โดยมี รศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี และ ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมแถลงความร่วมมือ ณ คณะบัญชีฯ จุฬาฯ

รศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ทางคณะฯ ได้พัฒนาโมเดลความร่วมมือสู้วิกฤติ COVID-19 ขึ้น โดยได้ออกแบบหลักสูตรจุฬาธุรกิจพิชิต COVID-19 ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารธุรกิจภายใต้สภาวะความไม่แน่นอน ที่ทำให้การดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องมีแผนสำรอง เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ฝ่าวิกฤต ส่งมอบให้แก่ทิพยประกันภัย โดยทางบริษัทได้ร่วมกับคณะฯ สร้างความมั่นใจ อุ่นใจให้แก่นิสิตและผู้ปกครองด้วยการมอบกรมธรรม์คุ้มครองการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ให้แก่นิสิตในคณะฯ ทุกคน ทุกระดับชั้น ปริญญาตรี โท และเอก


ทั้งนี้ หลักสูตรจุฬาธุรกิจพิชิต COVID-19 ซึ่งเป็นแผนการพลิกฟื้นธุรกิจในภาวะวิกฤต หรือ CBS Reform Business Model (Chulalongkorn Business School Reform Business Model) ที่นำมาใช้เป็นแนวทางเพื่อสรรค์สร้างกลยุทธ์ในภาวะฉุกเฉิน สำหรับทุกประเภทขององค์กรไม่เว้นแม้แต่สถาบันการศึกษา ซึ่งคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ได้เป็นผู้นำในการเริ่มปฏิบัติแล้ว

หลักการในการพัฒนาประกอบด้วยการ Retool ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ผ่านการไลฟ์สดออนไลน์โดยในทุกวิชาที่มีการเรียนการสอนในห้องเรียน เพื่อให้นิสิตที่ไม่สะดวกมาเรียนในห้องเรียน สามารถเรียนรุ้วิชาต่างๆ ได้ที่บ้าน หรือแม้กระทั่งนิสิตแลกเปลี่ยนที่เดินทางกลับมาประเทศไทย และนิสิตต่างชาติที่ต้องกลับยังประเทศของตัวเอง สามารถเรียนต่อได้ผ่านออนไลน์

ในขณะเดียวกัน ยังมีการ Reprocess ปรับขั้นตอนและกระบวนเรียนการสอน เช่น จากเดิมที่จะมีการสอบในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งหากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยังไม่สงบ คณะฯ ต้องปรับแผนการดำเนินงานใหม่ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ด้วยการเลื่อนจัดสอบให้เร็ว รวมถึงปรับเปลี่ยนเนื้อหาวิชาให้มีความกระชับ และมุ่งเน้นกระบวนการให้นิสิตรู้จักเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ ด้วยโมเดลนี้คณะฯ ยังได้มีการ Retarget กลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่การเรียนการสอนมุ่งเน้นไปที่นิสิต และเมื่อได้มีการเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนผ่านการออนไลน์ ทำให้ศิษย์เก่าของคณะฯ หรือแม้กระทั่งบุคคลภายนอก สามารถร่วมเรียนรู้ในวิชาพื้นฐาน หรือวิชาที่ตนสนใจผ่านการออนไลน์นี้ได้เช่นกัน”

“วันนี้เราทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตไวรัสโควิด – 19 คณะบัญชีฯ จุฬาฯ ในฐานะเป็นสถาบันการศึกษาที่ชี้นำสังคม จึงไม่ได้มีบทบาทเพียงให้ความรู้แต่ในรั้วการศึกษาเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความรู้สู่ประชาชนด้วย แผนสำรองเพิ่มเติมที่คณะฯ เตรียมจัดทำในอนาคต คือการจัดตั้งศูนย์ Hotline เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้ท่ามกลางวิกฤตไวรัสโควิด – 19 รวมถึงคณะฯ ยังให้การสนับสนุนช่วยเหลือหน่วยงานต่างๆ อย่างเต็มกำลังความสามารถอีกด้วย

คณะฯ เชื่อมั่นว่าเราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ นอกจาก Retool, Reprocess, Retarget ประการสุดท้ายที่สำคัญยิ่งคือ Reunite สมัครสมาน ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น โครงการความร่วมมือระหว่าง คณะบัญชีฯ จุฬาฯ และทิพยประกันภัย พิชิตโควิด – 19” คณบดี คณะบัญชีฯ จุฬาฯ กล่าวปิดท้าย

  • ผู้โพสต์ :
    MameawLove
  • อัพเดทเมื่อ :
    17 มี.ค. 2020 16:24:39

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา