5 องค์กรรวมใจตั้งทุ่นกักขยะแม่น้ำเจ้าพระยา แก้ปัญหาขยะลอยน้ำไหลสู่ทะเล

ข่าวประชาสัมพันธ์

หน่วยงานรัฐและภาคเอกชน จับมือแก้ไขปัญหาขยะต้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา ติดตั้งทุ่นกักขยะยาว 250 เมตร บนพื้นที่บางกระเจ้า ลดปริมาณขยะในแม่น้ำ ปกป้องระบบนิเวศทางทะเล ด้าน บมจ.มั่นคงเคหะการ อุดหนุน 2 เรื่องหลัก ทุ่นยาว 150 เมตร และเรือยนต์เก็บขยะ


เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562 หน่วยงานรัฐและเอกชน ประกอบด้วย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จ.สมุทรปราการ และบริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการจัดการขยะลอยน้ำด้วยทุ่นกักขยะ (BOOM) รวม 250 เมตร บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ตำบลบางน้ำผึ้งหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 จ.สมุทรปราการ เพื่อจัดการปัญหาขยะลอยน้ำในบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่คุ้งบางกระเจ้า และลดปริมาณขยะก่อนออกสู่ท้องทะเลซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ


นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 6 ของโลกที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ท้องทะเลมากที่สุดของโลก (จากผลการสำรวจของ เจนนา อาร์. แจมเบ็ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา) เนื่องจากไทยมีจำนวนขยะจำนวนมากที่ยังมีการบริหารจัดการไม่ดี ทำให้มีขยะตกค้างจำนวนมาก โดยข้อมูลล่าสุดปี 2560 ขยะมูลฝอยในไทยมีปริมาณ 27.40 ล้านต้นต่อปี คิดเป็นคนไทยสร้างขยะ 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ในจำนวนดังกล่าวมีการนำขยะไปกำจัดอย่างถูกต้อง 11.70 ล้านตัน นำไปรีไซเคิล 8.52 ล้านตัน ขยะที่เหลือจำนวน 7.18 ล้านตันกำจัดไม่ถูกต้อง และปล่อยให้เกิดการปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อม กลายเป็นแหล่งกำเนิดของขยะทะเล โดยสัดส่วนร้อยละ 80 ของขยะทะเลมีแหล่งกำเนิดจากพื้นที่บนบกไหลผ่านปากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเล กระทบต่อสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะส่งผลต่อการตายของสัตว์ทะเลหายาก จากการเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร และระบบนิเวศ เปลี่ยนแปลง


การติดตั้งทุ่นกักขยะจะช่วยดักขยะที่ถูกพัดพามาบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าบริเวณพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า และป้องกันขยะไหลลงสู่ท้องทะเลได้ โดยผลการศึกษาปริมาณขยะปากแม่น้ำของ ทช.จากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน พบว่าขยะทะเลลอยน้ำที่ไหลผ่านปากแม่น้ำที่ความลึก 2 เมตร ในช่วงน้ำลงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณ 1,425 ตันต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งสร้างปัญหา แก่คนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จากการระบายน้ำจากคลองบางนา (บริเวณข้างวัดบางนา นอก) คลองบางอ้อ คลองพระโขนง และขยะจากเรือลากจูงทราย เรือขนส่งที่มาจอดหยุดพักรอน้ำขึ้น - น้ำลง บริเวณตำบลบางน้ำผึ้ง ก่อนที่จะลอยทะลักเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา


“การติดตั้งทุ่นกักขยะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทาง และลดปริมาณขยะไหลสู่ทะเล ได้ถึงร้อยละ 80 ของขยะทะเลที่มีแหล่งกำเนิดจากพื้นที่บนบกไหลผ่านปากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเล และยังได้ส่งกระทบต่อสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะส่งผลต่อการตายของสัตว์ทะเลหายาก ทั้งนี้ ทช. ได้นำขยะที่ได้มา ทำการศึกษาวิจัยเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในลดผลกระทบด้านต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดต่อทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของทุ่นกักขยะซึ่งเป็นรูปแบบนำร่องเพื่อพิจารณาขยายผลในพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย” นายปิ่นสักก์ กล่าว

ด้านนางสาวดุษฎี ตันเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม อันเป็นพื้นฐานหนึ่งของการมีสุขภาวะที่ดี หรือ Well-being โดยได้สนับสนุนโครงการจัดการขยะลอยน้ำบริเวณปากแม่น้ำ โดยทุ่นกักขยะ (BOOM) ณ อบต.บางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโครงการที่มีส่วนช่วยในการลดปริมาณขยะที่ล่องลอยจากฝั่งออกสู่ท้องทะเล และช่วยสัตว์ทะเล ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการกินขยะ


“บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาขยะที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น และให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ในการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยได้สนับสนุนทุ่นกักขยะ พร้อมติดตั้งในพื้นที่ อบต.บางน้ำผึ้ง หมู่ที่ 1 บริเวณร้าน Bangkok Tree House และหมู่ที่ 3 บริเวณท่าเรือแลพระนคร ความยาวรวม 150 เมตร พร้อมสนับสนุนเรือยนต์จัดเก็บขยะจำนวน 1 ลำ เพื่อมอบให้ อบต.บางน้ำผึ้ง ใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ของส่วนรวมในการบริหารจัดการขยะ ทั้งนี้เพื่อช่วยลดปริมาณขยะลอยน้ำลงสู่ทะเลและพื้นที่บางกระเจ้า อันจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นอีกด้วย” นางสาวดุษฎี กล่าว

  • ผู้โพสต์ :
    Marikk2
  • อัพเดทเมื่อ :
    18 มิ.ย. 2019 15:52:08

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา