มธ. จัดกิจกรรมอบรมออนไลน์ครูพลังงานสะอาด 50 ทีม ขับเคลื่อน “โครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด”

การศึกษา ภาษา ติวเตอร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2563 จัดกิจกรรมอบรมครูเชิงปฏิบัติการแบบออนไลน์ ครั้งที่ 2 ขับเคลื่อน “โครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด” เติมความรู้ เสริมทักษะครูพลังงานสะอาด 50 ทีมสุดเข้มข้น! หนุนพัฒนาสื่อที่ส่งเสริมการตระหนักรู้ด้านพลังงาน (Energy Literacy)

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมอบรมครูเชิงปฏิบัติการแบบออนไลน์ ครั้งที่ 2 เพื่อติดตามผลงานของครูทั้ง 50 ทีม ซึ่งได้รับโจทย์จากการอบรมครั้งที่แล้ว ภายใต้การดำเนิน “โครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2563 ซึ่งครูพลังงานสะอาดทั้ง 50 ทีม ได้โชว์ไอเดียสุดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ด้านพลังงาน ร่วมกับทีมผู้ออกแบบหลักสูตรและวิทยากรหลักจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอาจารย์จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้

ผศ.ดร.ญาดา อรรถอนันต์ ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้และตระหนักรู้ด้านพลังงาน (Energy Literacy) ที่มีอยู่รอบตัว โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้เชิงบูรณาการร่วมกับรายวิชาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ผ่านการรับสมัครครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากทุกกลุ่มสาระและอาชีวศึกษา จำนวน 50 ทีม จากทั่วประเทศ เพื่อร่วมพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ซึ่งครูทุกท่านจะได้รับการอบรมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษาในฐานะ School Partner สู่การเผยแพร่และจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์สำหรับโรงเรียนและชุมชน จำนวน 10 บทเรียนออนไลน์หลัก และ 50 บทเรียนออนไลน์ย่อย เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาได้เข้าถึงสื่อการเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาด และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ของตนได้ โดยโครงการฯ ได้สร้างแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังจากกลุ่มครู ผู้นำชุมชน และนักศึกษาแกนนำ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2565

ผศ.ดร.ญาดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมอบรมครูเชิงปฏิบัติการแบบออนไลน์ ครั้งที่ 2 แบ่งออกเป็น 4 วัน โดยวันแรก เป็นการวิเคราะห์เนื้อหาและกลุ่มเป้าหมายจากโครงร่างสื่อการเรียนรู้ที่ครูเตรียมมา วันที่สอง เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา ส่วนวันที่สาม เป็นการฝึกปฏิบัติการเขียนโครงร่างสื่อการเรียนรู้และสตอรี่บอร์ด (Storyboard) และปิดการอบรมวันสุดท้าย ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมการเรียนรู้ พร้อมรับข้อเสนอแนะจากคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งตลอดระยะเวลาของการอบรมทั้ง 4 วัน ครูพลังงานสะอาดได้รับคำแนะนำจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญอย่างเข้มข้น

สำหรับการดำเนิน “โครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด” ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัด “กิจกรรมให้คำปรึกษาและสังเกตการณ์นำสื่อการเรียนรู้ไปใช้ในการเรียนการสอน” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้คำแนะนำกับครูที่เข้าร่วมโครงการฯ ในการสร้างสรรค์ “นวัตกรรมการเรียนรู้ด้านพลังงาน”ที่ส่งเสริมการตระหนักรู้ด้านพลังงาน (Energy Literacy) โดยมีนักเรียนในห้องเรียนของตนเองเป็นกลุ่มเป้าหมาย พร้อมติดตามการออกแบบและพัฒนาสื่อจากครูเดือนละ 1 ครั้ง ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจนถึงเดือนตุลาคม 2564 โดยคาดว่าครูทั้ง 50 ทีม จะพัฒนาร่างต้นแบบสื่อการเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาดที่พร้อมเผยแพร่สู่สาธารชนในเดือนพฤศจิกายน 2564
  • ผู้โพสต์ :
    NNT
  • อัพเดทเมื่อ :
    8 พ.ย. 2021 14:48:48

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา