ผู้เชี่ยวชาญหารือยกระดับความร่วมมืออาเซียน ป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ และส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญา ในเวที UN Crime Congress

ข่าวประชาสัมพันธ์

โลกในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี แม้จะสร้างผลกระทบในเชิงบวก แต่ก็กลับก่อให้เกิด
ปัญหาอาชญากรรมแฝงที่ตามมาหลายรูปแบบ ปัญหาสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบ เช่น ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติก็มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น อย่างกรณีที่หลายประเทศเริ่มใช้สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ก็ยังมีช่องโหว่สำหรับการก่ออาชญากรรมผ่านระบบออนไลน์ซึ่งยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจนมาควบคุม การป้องกันอาชญากรรม หรือ
การหาทางจัดการปัญหา จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีและหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ความร่วมมือกับต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วนมากที่สุด เพื่อหาแนวทางในการ
ป้องกันอาชญากรรม และเพื่อจัดการกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ การหาประโยชน์ทางเพศโดยใช้เทคโนโลยี อาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทยก็จริง แต่ส่วนใหญ่มันเกิดขึ้นจากต่างประเทศ ไร้พรมแดน และ ใช้เทคโนโลยีมาก ซึ่งค่อนข้างกระทบทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ เกิดความสูญเสียมหาศาล เราจึงต้องร่วมมือกัน”

ส่วนหนึ่งจากการสัมภาษณ์ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
ในช่วงการประชุมคู่ขนานออนไลน์ หัวข้อ “ความร่วมมือข้ามภาคส่วนเพื่อการป้องกันอาชญากรรม: ประสบการณ์จากการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (ACCPCJ)” ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมจากประเทศไทย สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ผู้แทนเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย และรัฐบาลญี่ปุ่น ร่วมอภิปรายความก้าวหน้าของความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา โดยการประชุมคู่ขนานออนไลน์นี้เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (The 14th United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice – Crime Congress) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-12 มีนาคม พ.ศ.2564 ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

การประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (ACCPCJ) จัดขึ้นโดยกระทรวงยุติธรรมไทย ร่วมกับ TIJ มาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 และเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 การประชุม ACCPCJ เป็นการประชุมที่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM) ด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (SOCA) ตลอดจนผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงาน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ แนวทางการปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศสมาชิก เกี่ยวกับ
การเพิ่มความเข้มงวดในการใช้มาตรการทางกฎหมาย ส่งเสริมความร่วมมือทางกฎหมายการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ การดำเนินงานด้านความยุติธรรมทางอาญาแบบบูรณาการที่มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในปัจจุบัน

นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย พูดถึงการประชุมคู่ขนาน ACCPCJ ครั้งนี้ว่า เป็นการอภิปรายถึงความก้าวหน้าของความร่วมมือในอาเซียน ที่สืบเนื่องมาจากการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 2 และขานรับกับ Kyoto Declaration ที่ได้มีการประกาศในช่วงเปิดงาน
UN Crime Congress ว่าด้วยการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโรดแมปให้กับทุกประเทศที่เข้าร่วมประชุมได้นำไปปรับและ
หาแนวทางปฏิบัติต่อไป

“ประชาคมนานาชาติแสดงเจตจํานงทางการเมืองที่ชัดเจน ต้องการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันอาชญากรรมให้เข้มแข็งขึ้นภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากนี้ ภายใต้กรอบแนวคิดนี้ เราจึงมุ่งหารือถึงความร่วมมือภายในภูมิภาคอาเซียนว่าควรจะเป็นไปอย่างไร” นายวงศ์เทพ กล่าว

ทางด้าน นายสุวรรณสาม อัน ผู้อำนวยการสำนักข้อตกลงและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้แสดงความเห็นขานรับและสนับสนุนทั้งในด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งในเรื่องหลักนิติธรรม การป้องกันอาชญากรรม และการต่อสู้กับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติแบบบูรณาการ และยังกล่าวถึงความคืบหน้าสำคัญที่ประชาคมอาเซียนร่วมมือกันจัดการกับปัญหาดังกล่าว คือ (1) ที่ผ่านมาประชาคมการเมืองและ
ความมั่นคงอาเซียน APSC ได้จัดประชุมคณะรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศภาคีอาเซียน (ASEAN Foreign Ministers Meeting หรือ AMM) เพื่อหารือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก และกำหนดนโยบายร่วมกันในการรับมือกับการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ และ (2) ประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลักกำลังร่วมมือกันหารือเพื่อปรับแก้กฎหมายที่ใช้ในการป้องกันและจัดการกับปัญหาดังกล่าว

อีกหนึ่งตัวแทนประเทศสมาชิกอาเซียนอย่าง มาดามสุไรนี ชาร์บาวี รองอธิบดีอัยการ สภาอัยการ และเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย ประเทศบรูไน ได้กล่าวถึงความร่วมมือด้านการป้องกันอาชญากรรมเบื้องต้น คือ การเข้าร่วมการประชุมเพื่อลงนามในอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย (ASEAN Convention on Counter Terrorism) และยังกล่าวว่า การประชุม ACCPCJ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับสากล เพราะการประชุมนี้ช่วยให้หลายภาคส่วนในอาเซียนมี
เวทีในการกำหนดนโยบายร่วมกัน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาแบบบูรณาการ สำหรับจัดการกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ตามวิสัยทัศน์สำคัญในอาเซียน คือ “ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มีการพูดถึงในที่ประชุม คือ การขาดแพลตฟอร์มที่เหมาะสมในการหารือเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้ในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งนี้ เพื่อผลักดัน
ความร่วมมือให้เกิดประสิทธิผลภายในประชาคมอาเซียน
โดย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์
วิศิษฏ์สรอรรถ
ปลัดกระทรวงยุติธรรม และประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM) ประเทศไทย กล่าวในประเด็นนี้ว่า “ความยุติธรรมทางอาญาไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งในแต่ละประเทศ แต่เรามีทั้งศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ แม้แต่ในประเทศเดียวกัน ก็ยังไม่เคยมีเวทีหรือแพลตฟอร์มอย่างเป็นทางการที่จะดูแลปัญหาเฉพาะด้านนี้”

ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ ยังได้ระบุถึงปัญหาความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ในคดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนหรือ
ASLOM ประสบคล้ายคลึงกัน คือ กระบวนการในการรับรองข้อตกลงค่อนข้างช้า เนื่องจากมีกฎเกณฑ์รองรับค่อนข้างมาก ในกรณีที่ข้อตกลงอาจผ่านเกณฑ์หรือข้อกำหนดแล้ว ก็ต้องมีเกณฑ์อื่น ๆ มารองรับอีก ซึ่งสิ่งนี้ทำให้กระบวนการล่าช้า ทำให้บางครั้งในคดีเกี่ยวเนื่องข้ามชาติ ผู้ต้องโทษต้องรอถึง 5 ปี หรือมากกว่านั้น จึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในประเทศปลายทางได้ ด้วยเหตุนี้ TIJ จึงพยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือโดย
การดำเนินงานกับ ASLOM เพื่อสร้างเวทีการประชุมอย่าง ACCPCJ ในฐานะแพลตฟอร์มที่จะใช้ในการผลักดันความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนในหลายประเทศของภูมิภาคอาเซียน เพื่อแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนนี้ด้วย

ความท้าทายใหม่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องประสบ คือ หลายประเทศยังไม่มีกฎหมายเท่าทันกับคดี หรือ เคสใหม่ๆ ที่เป็นผลพวงจากการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี อย่างคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสินทรัพย์ดิจิทัลได้ แม้ว่าในประชาคมอาเซียนมีผู้ใช้สกุลเงินนี้มากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกก็ตาม ดังนั้น ประชาคมอาเซียนควรหารือกันเพื่อหาแนวทางในการรับมือกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งในประเด็นนี้ นายจูเลียน การ์ซานี รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) มองว่า “ปัจจุบันหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้คริปโตเคอร์เรนซีมากติดอันดับต้น ๆ ของโลก เงินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ถูกแลกเปลี่ยนข้ามพรมแดนผ่านระบบและการแลกเปลี่ยนด้วยสกุลเงิน
คริปโต เราจึงต้องหามาตรการในการรับมือกับเรื่องนี้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีกฎเกณฑ์หรือมาตรการใด ๆ ทางกฎหมายออกมารองรับ และการสั่งห้ามใช้หรือหยุดใช้งานคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นระบบที่เกิดขึ้นออนไลน์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่มากขึ้น เพราะในช่วงการแพร่ระบาด ผู้คนต้องรักษาระยะห่างทางสังคม และใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารมากขึ้น แนวโน้มที่จะเกิดอาชญากรรมในรูปแบบขององค์กรข้ามชาติ ผ่านโลกออนไลน์ก็มากขึ้นด้วย แนวทางแก้ปัญหาที่จำเป็น คือ การความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ หลักฐานเชิงประจักษ์ และแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม

นอกจากประชาคมอาเซียน ญี่ปุ่นยังเป็นผู้เล่นสำคัญในการส่งเสริมและให้ความร่วมมือในหลาย ๆ ด้านกับอาเซียน ในด้านการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยญี่ปุ่นได้ดำเนินงานร่วมกับ UNODC มาโดยตลอด

นายโยชิมิตสุ ยามาอุชิ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวในที่ประชุมครั้งนี้
ถึงความพร้อมของญี่ปุ่นในการกระชับความร่วมมือกับอาเซียนที่มีมากขึ้น หลังจากเข้าร่วมในงานประชุม ACCPCJ ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ความคืบหน้าล่าสุด เช่น การที่ญี่ปุ่นได้ร่วมเซ็นสัญญา MOU, การให้ทุนสนับสนุนและการฝีกอบรมแก่บุคลากรในการดำเนินโครงการความร่วมมือด้านความยุติธรรมทางอาญาระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียน เช่น โครงการลดความแออัดในเรือนจำ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 ในเรือนจำ และยังมีความร่วมมือด้านอื่น ๆ กับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่น อย่าง UNAFEI และ ICD ในด้านการช่วยเหลืองานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และ
การร่วมงานกับ
องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจกา (Japan International Cooperation Agency - JICA) “ญี่ปุ่นต้องการส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มนี้ในระดับปฏิบัติการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการประชุมและแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้เกี่ยวกับคดีความและระบบกฎหมายต่าง ๆ”นายโยชิมิตสุ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อท้าทายสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประชาคมอาเซียนเพื่อจัดการกับปัญหา
ด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น กฎหมายแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ข้อจำกัดด้านภาษา ความพร้อมทางด้านองค์ความรู้ของบุคลากรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และ ความพร้อมของเครื่องมือหรือนวัตกรรมที่จะนำมาใช้ในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งถือเป็นงานท้าทายที่ทาง TIJ ต้องพยายามดำเนินงานผลักดันให้แต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนหาแนวทางความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป

ท้ายสุด ดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงหัวใจของ

การดำเนินงานและเป็นบทสรุปในการประชุมครั้งนี้ว่า “TIJ เชื่อว่าความยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน และเห็นได้ชัดว่าความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนไม่เพียงทำให้ความยุติธรรมนั้นมีความครอบคลุมแต่ยังทำให้ความยุติธรรมนั้นเป็นไปได้สำหรับทุกคนด้วย”

  • ผู้โพสต์ :
    NotableBangkok
  • อัพเดทเมื่อ :
    7 เม.ย. 2021 11:35:50

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา