เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 - นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธีเปิดการจ่ายก๊าซธรรมชาติ โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 ณ สถานีผสมก๊าซท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 (TP5MX) ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ตามความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 เป็นการเชื่อมโยงระบบท่อก๊าซธรรมชาติจากภาคตะวันออกไปยังภาคตะวันตก ระยะทาง 417 กิโลเมตร ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่มีระยะทางยาวที่สุดในประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน รองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคการขนส่งของประเทศ พร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 โดยมี นายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พร้อมด้วยผู้บริหาร กลุ่ม ปตท. ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี
นายอรรถพล เปิดเผยว่า ตลอด 45 ปี ปตท. ยังคงภารกิจในการดูแลความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ จัดหา และต่อยอดพลังงานใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยก๊าซธรรมชาติ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ อีกทั้งรองรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม และการขนส่ง ความสำเร็จของท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 เป็นการเพิ่มศักยภาพการจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้า เชื่อมต่อโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตก รองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคส่วนต่าง ๆ และสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ โดยโครงการฯ พาดผ่าน 8 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี กรุงเทพฯ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และนนทบุรี ระบบท่อมีการออกแบบด้านวิศวกรรมตามมาตรฐานระดับสากล มีความสามารถการจ่ายก๊าซฯ สูงสุดประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตลอดจนมีสถานีควบคุมก๊าซฯ ระหว่างทาง จำนวน 28 สถานี ตลอดแนวท่อ อีกทั้ง โครงการยังได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ทำให้สามารถก่อสร้างได้เป็นผลสำเร็จ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน ระยะเวลาก่อสร้างรวมประมาณ 6 ปี (2561 – 2567) โดยท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 จะเป็นพลังสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรม รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน