การศึกษานิวซีแลนด์ จับมือ 5 โรงเรียนดังระยอง ต่อยอดโครงการ New
Zealand – Thailand Digital Classroom เพิ่มโอกาสให้ครูและเด็กไทย
ได้แลกเปลี่ยนการเรียน
และพัฒนาความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือทางการศึกษาข้ามพรมแดนระหว่างโรงเรียนในนิวซีแลนด์และโรงเรียนไทยในรูปแบบใหม่ที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น
นางสาวช่อทิพย์ ประมูลผล ผู้อำนวยการ ประจำประเทศไทย หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand ; ENZ) สถานทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการ New Zealand – Thailand Digital Classroom จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เริ่มตั้งแต่ปี 2020 ช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทำให้มีข้อจำกัดและอุปสรรคในการเดินทางทั่วโลก ENZ จึงได้ริเริ่มโครงการ New Zealand – Thailand Digital Classroom เพื่อช่วยสานต่อความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างครูและนักเรียนไทยกับครูและนักเรียนชาวนิวซีแลนด์ผ่านการทำงานและกิจกรรมออนไลน์ร่วมกัน ช่วยให้ความสัมพันธ์ทางการศึกษาข้ามพรมแดนระหว่างโรงเรียนในนิวซีแลนด์และโรงเรียนไทยมีความต่อเนื่องและเกิดผล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ:
- พัฒนาความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือทางการศึกษาข้ามพรมแดนระหว่างโรงเรียนในนิวซีแลนด์และโรงเรียนไทยในรูปแบบใหม่ที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น
- ให้โอกาสนักเรียนในการพัฒนาและสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมและความชื่นชมในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ตลอดจนการพัฒนาทักษะที่จำเป็น เช่น การคิดเชิงวิเคราะห์ การทำงานร่วมกันข้ามวัฒนธรรม และการสื่อสาร
- เปิดโอกาสให้ครูจากทั้งสองโรงเรียนได้แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของวิธีการสอน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศ และปรับปรุงความสามารถทางวัฒนธรรม
โครงการ New Zealand – Thailand Digital Classroom มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 300 คน จากโรงเรียนต่างๆ ยกตัวอย่างโรงเรียนในปี 2521 ที่ผ่านมา ได้แก่ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ระยอง, โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต, โรงเรียนวัดป่าประดู่ จ.ระยอง, โรงเรียนระยองวิทยาคม, โรงเรียนธัญบุรี และ โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
สำหรับในปี 2022 ทาง ENZ ได้จัดโครงการนี้ร่วมกับ Christchurch Educated ซึ่งเป็นหน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคของเมืองไคร์เชิร์ช นิวซีแลนด์ และ กลุ่มโรงเรียนในจังหวัดระยอง โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จากเมืองไคร์เชิร์ช นิวซีแลนด์ 5 โรงเรียน และ จากจังหวัดระยอง 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ระยอง, โรงเรียนวัดป่าประดู่ จ.ระยอง, โรงเรียนระยองวิทยาคม และโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา โรงเรียนมาบตพุดพันพิทยาคาร
กิจกรรมในโครงการประกอบด้วยการจับคู่ระหว่างโรงเรียนนิวซีแลนด์และโรงเรียนไทย โดยครูจากสองโรงเรียนตกลงในการคัดเลือกนักเรียนและจำนวนนักเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการ ช่วงวันและเวลาและระยะเวลาในการจัดโครงการตามความเหมาะสม โดยครูจะเป็นผู้กำหนดหัวข้อกิจกรรมแต่ละสัปดาห์ และนักเรียนจากทั้งสองประเทศจะถูกจับกลุ่มร่วมกันเพื่อทำงานกลุ่มที่ได้รับมอบหมาย มีการทำประชุมสดทางออนไลน์ทุกสัปดาห์เพื่อปรึกษาโครงการ และนำเสนอผลการวิจัย หรือกิจกรรมเมื่อสิ้นสุดโครงการ ระยะเวลาเรียนประมาณ 5 สัปดาห์
ทัศนะจากน้องๆนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปี 2021 ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ได้แก่
นายวันชัย กระจ่าง (น้องเบียร์) ปัจจุบันศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่5 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ระยอง เล่าว่า ผมรู้สึกประทับใจมากๆที่เด็กต่างจังหวัด ซึ่งขาดแคลนประสบการณ์ด้านภาษาและวัฒนธรรม ได้รับโอกาสดีๆที่จะฝึกภาษาอังกฤษและทักษะต่างๆ แถมเป็นการเปิดโลกให้กับเด็กๆอย่างผมมากที่ได้มีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติเราได้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานของเขาผ่านห้องเรียนออนไลน์ที่สะดวกสบาย ประสบการณ์ที่ได้คือ การที่เราเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าสู่สังคมโลกภายนอก, ทุกวันนี้โลกของเราก้าวหน้าไปอย่างมากทักษะที่จำเป็นคือทักษะการเรียนรู้ที่จะปรับตัว ทำให้ผมจะต้องปรับตัวเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆจากประเทศนิวซีแลนด์ ทำให้ผมและเพื่อนๆที่ร่วมโครงการกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้นและที่สำคัญคือกล้าที่จะใช้ภาษาอังกฤษอีกด้วยครับ.
“ทุกคนล้วนใฝ่ฝันหาโอกาสและประสบการณ์ให้กับตนเอง ผมได้รับความอบอุ่นจากการร่วมกิจกรรม ทั้งจากเพื่อน คณะครู และพี่ๆผู้ประสานงาน ผมสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของผู้จัดที่จะทำโครงการให้ผมและเพื่อนๆ ซึ่งมันมีค่ามาก เพราะผมยังไม่เคยได้มีโอกาสไปศึกษาแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศเลย หรือการจะมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติสักหนึ่งคนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โครงการนี้จึงเป็นเสมือนโครงการที่มาสานฝันเด็กต่างจังหวัดแบบผมมากๆ ช่วยมอบโอกาสและประสบการณ์ดีๆ ให้กับผมและเพื่อนๆ ผมจึงมองว่าโครงการนี้มีคุณค่าและควรค่าแก่การจัดขึ้นอีกเรื่อยๆเพื่อกระจายโอกาสให้เด็กไทยในต่างจังหวัด ขอขอบคุณมากๆครับ”
นางสาวกัลยา พนรเขต (น้องแป๋ม) เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนระยองวิทยาคม เล่าว่า ตอนแรกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม New Zealand - Thailand digital classroom รู้สึกตื่นเต้นและกังวลมากๆค่ะ เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่จะได้เจอได้ทำความรู้จักกับเพื่อนๆชาวต่างชาติ ถึงแม้ว่าจะเป็นการเจอกันแบบออนไลน์ก็ยังคงตื่นเต้นมากๆอยู่ดี แล้วหลังจากที่พวกเราได้ Contacts ของเพื่อนนิวซีแลนด์มาแล้ว พวกเราก็คุยกันค่อนข้างเยอะนะคะเพราะว่าต้องทำงานด้วยกัน ทำพรีเซนต์เกี่ยวกับ Issue facing teener เราก็เลยต้องคุยแลกเปลี่ยนทั้งการใช้ชีวิต การเรียนการศึกษา ประสบการณ์ต่างๆมากมายในชีวิตวัยรุ่น ปัญหาต่างๆที่เราทั้ง 2 ประเทศพบเจอ มันทั้งสนุก ทั้งได้เปิดโลกเปิดมุมมองในที่บางครั้งเราก็ไม่เคยรู้ ที่สำคัญคือพวกเค้าน่ารักมากๆค่ะ คุยสนุกมากเลย ต่างคนต่างสนใจการใช้ชีวิตของกันและกัน ทำให้มีเรื่องให้คุยกันตลอดเลยค่ะ
“หนูคิดว่าเป็นกิจกรรมออนไลน์ในยุคโควิดที่ดีมากๆค่ะ เปิดโอกาสให้เราได้ฝึกฝนทักษะทางด้านภาษารวมถึงการทำงานการเข้าสังคม การแก้ปัญหา ซึ่งทำให้เราได้มิตรภาพที่ดีกับคนต่างเชื้อชาติ ประสบการณ์ราคาแพงที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อ เพียงแค่ใช้ใจแลกมันมาเท่านั้นเอง ก็อยากขอบคุณที่จัดกิจกรรมดีๆแบบนี้มาให้นักเรียนอย่างพวกเรานะคะ แล้วก็ขอบคุณตัวเองและคุณครูที่เชื่อว่า เราจะได้อะไรหลายอย่างจากกิจกรรมนี้ แล้วก็คิดไม่ผิดจริงๆค่ะ”
นางสาวอุบลวรรณ สุพรมอินทร์ (กาละแมร์) เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดป่าประดู่ จ.ระยอง เล่าถึงประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการ Digital classroom ในปี 2021 ว่า โครงการ New Zealand - Thailand digital classroom ถือเป็นโอกาสที่ดีของใครหลายๆคนที่ไม่สามารถไปสถานที่จริงๆ แต่การเรียนออนไลน์ก็ทำให้เราสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า สะดวก ได้รับความรู้เหมือนกัน ถึงแม้อาจจะไม่ได้สัมผัสบรรยากาศตรงนั้น เรียนรู้สภาพแวดล้อมตรงนั้นจริงๆ แต่ก็ยังเป็นอะไรที่มอบประโยชน์และประสบการณ์ให้เราได้ไม่น้อยเลย เราได้เปิดโลกมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมของนิวซีแลนด์มากขึ้น ได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่เป็นต่างชาติจากทางออนไลน์ ทำงานร่วมกัน โชคดีที่ได้เพื่อนในทีมที่น่ารัก เฟรนลี่มากๆ ตั้งใจทำงาน พยายาม Discuss หาเรื่องพูดคุย พยายามให้ได้รู้จักกันมากขึ้น เราก็ได้แชร์วัฒนธรรมอาหารของไทยให้กับเขาด้วยที่ ได้ฝึกให้มีความรับผิดชอบ ที่สำคัญที่สุดได้ฝึกภาษาอังกฤษแน่นอนได้ใช้ในการ communicate (สื่อสาร) กับ Native speaker (ครูพื้นเมือง) ได้ใช้จริงๆ ช่วยเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น เขาก็รู้สึก appreciate (ชื่นชม) กับการเรียนรู้ภาษาของเรา ไม่มีการมา judge (พิพากษา) แถมชมบ่อยมากๆ ประสบการณ์ที่ได้รับจากโครงการนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ถึงจะเหนื่อยหน่อยเพราะเวลาไม่ค่อยตรงกัน แต่ทุกคนทุ่มเทใส่ใจกับงานมากๆ ค่ะ