ไอวีแอลจับมือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สร้างความตระหนักรู้ เรื่องการคัดแยกขยะ และการจัดการขยะรีไซเคิล

อุตสาหกรรม

(กรุงเทพฯ - 21 พฤศจิกายน 2562) บริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการคัดแยกการจัดการขยะรีไซเคิล โดยจะร่วมกันพัฒนาสื่อให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะ และการรีไซเคิลขยะพลาสติก คิดค้นนวัตกรรมกักเก็บขยะจากแหล่งน้ำไหลก่อนที่ขยะจะเคลื่อนตัวออกสู่ทะเล และสร้างความตระหนักรู้ด้านการคัดแยกขยะและพลาสติกภายใต้โครงการ สำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU Green Office) โดยมีการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูล รวมทั้งบูรณาการองค์ความรู้ปัจจุบัน ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาสื่อให้ความรู้และการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน

นายริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายด้านความยั่งยืน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล กล่าวว่า “ไอวีแอลในฐานะผู้ผลิต PET รายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิล PET รายใหญ่ของไทย เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะและการรีไซเคิลขยะพลาสติก โดยตระหนักถึงสถานการณ์และปัญหาเรื่องการจัดการขยะในปัจจุบัน ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งทุกภาคส่วนต่างก็หันมาช่วยกันพัฒนาการจัดการขยะกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะขวดพลาสติก PET ซึ่งสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% เมื่อผ่านการเข้ากระบวนการรีไซเคิลแล้วสามารถผลิตเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) ถือเป็นวิธีการที่ยั่งยืนในการจัดการพลาสติกใช้งานแล้ว และส่งเสริมให้เกิดการดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้อย่างเป็นรูปธรรม”

“ทั้งนี้ ไอวีแอลจะนำองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิล มาผนวกกับความรู้เชิงวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับการกักเก็บ ดักจับขยะจากทางระบายน้ำ คู คลอง แม่น้ำ หรือจากแหล่งน้ำไหลอื่นๆ ตลอดจนให้การสนับสนุนถังสำหรับคัดแยกขยะ และการอบรมให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะและการรีไซเคิลขยะพลาสติกแก่หน่วยงานในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์กรอื่นๆ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง และสามารถนำขยะพลาสติกรีไซเคิลไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายริชาร์ด กล่าว

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่เป็นแหล่งขององค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคมศาสตร์ นำโดยคณะสิ่งแวดล้อม คณะประมง และสำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (KU Green Office) จะให้การสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการ และให้คำปรึกษาในเรื่องการพัฒนาสื่ออบรมให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะและการรีไซเคิลขยะพลาสติก ร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ด้านการคัดแยกขยะและพลาสติก ภายใต้การทำงานของสำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU Green Office) เพื่อส่งเสริมการจัดการขยะอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทางอันจะส่งผลให้เกิดการลดปริมาณขยะในมหาวิทยาลัย ชุมชน และสังคม ตลอดจนร่วมผลักดันให้นิสิต นักศึกษา และบุคลากรทั้งสองฝ่ายทำการศึกษา ให้ความช่วยเหลือด้านการทำวิจัย และงานวิชาการอื่น ๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการทำงาน การประชุม ฝึกอบรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอบรมให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะ และการรีไซเคิลขยะพลาสติก”

“การคัดแยกขยะพลาสติกที่ถูกต้อง และเหมาะสม จะสามารถรีไซเคิลขวดพลาสติก PET ได้ถึง 1.65 พันล้านขวดต่อปี และช่วยประเทศไทยลดการใช้น้ำมันดิบกว่า 531,269 บาร์เรล ลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกซ์มากถึง 118 ล้านกิโลกรัม ลดปริมาณของเสียประเภทพลาสติก PET ที่ถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบเพื่อกำจัดและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า” นายริชาร์ด กล่าวสรุป

  • ผู้โพสต์ :
    Pang
  • อัพเดทเมื่อ :
    21 พ.ย. 2019 16:36:41

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา