“บิทคับ กรุ๊ป” เปิดเวทีอัปเดตทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลมาแรงปี 2024 “ท๊อป จิรายุส” ชี้ ไทยเตรียมขันตักน้ำรีบปรับตัวสู่เทรนด์ธุรกิจสีเขียว

ลงทุน การเงิน ธนาคาร เศรษฐกิจ

กรุงเทพมหานคร – เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการ “Bitkub Exchange” ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของไทย และบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ผู้ให้บริการ “Bitkub Academy” ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล ร่วมจัดงานเสวนา “Digital Economy & Trends 2024 เศรษฐกิจดิจิทัลและทิศทางอนาคตปี 2024” เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลและเทรนด์ธุรกิจใหม่ที่กลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวรับมือ โดยมีนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เผยมุมมองแนวโน้มและเทรนด์ของ World’s Digital Economy และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีบล็อกเชนในปี 2567 และนายอรรถกฤต ชิมผลาพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด นำเสนอภาพรวมการดำเนินงานของ Bitkub Exchange ในปี 2566 และเป้าหมายต่อไปในปีต่อไป ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค 101 กรุงเทพฯ

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าวตอนหนึ่งภายในงานว่า “ความยั่งยืน หรือ Sustainability เป็นเทรนด์ธุรกิจหนึ่งที่ต้องจับตามองในตอนนี้ เนื่องจากเป็นประเด็นที่นักลงทุนและบริษัทชั้นนำทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งจากที่ตนได้เข้าร่วมการประชุมในเวทีโลกหลายที่ในปีที่ผ่านมา ทุกที่ต่างมุ่งความสนใจและยกให้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนเป็นเรื่องที่สำคัญระดับโลก แม้แต่ในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum 2023: WEF 2023) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ยังพูดถึงเรื่อง Climate Change ว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทุกคนต้องใส่ใจและเดินหน้าลงมือทำเรื่อง Net Zero กันอย่างจริงจัง ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระแส Green Business ไม่ใช่แค่การรณรงค์สร้างการรับรู้แล้ว แต่ปัจจุบันถูกนำมาปรับใช้กับนโยบายทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจกันมาแพร่หลายมากขึ้น และในขั้นต่อไปจะเข้าสู่การบังคับใช้อย่างจริงจัง (Mandated) และจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจโดยตรง ซึ่งในอนาคตอาจได้เห็นการบังคับใช้และการลงโทษธุรกิจที่ไม่ปรับตัวให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น การต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นหากไม่ Net Zero, การไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ หรือการไม่สามารถนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ถ้าไม่มี Emissions Gap Report เป็นต้น

แนวคิดในการดำเนินธุรกิจยุคใหม่อย่าง “ESG” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อโลกการประกอบธุรกิจ และการลงทุนที่ธุรกิจจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance) เพื่อให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งแนวคิด ESG นี้จะกลายเป็นเหมือนหลักปรัชญาใหม่ในการบริหารองค์กรอย่างยั่งยืนที่ทั้งภาครัฐและนักลงทุนใช้พิจารณาประกอบการลงทุนและดำเนินธุรกิจ เช่น แต่เดิมบริษัทจะทำรายงานสำหรับผู้ถือหุ้น (Shareholder report) และรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR report) แต่เมื่อต้นปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเริ่มประกาศให้ทุกบริษัทจะต้องมี Emissions Gap Report ด้วย หรือกรณีกลุ่มบริษัท BlackRock ที่เป็นกลุ่มการลงทุนที่มีอิทธิพลระดับโลก อาจไม่สามารถเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ไม่ Net Zero ได้ ก็ย่อมสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของโลกธุรกิจแห่งความยั่งยืน ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะต้องปรับตัวเท่านั้น แต่บริษัทขนาดเล็กเองก็จำเป็นต้องขยับด้วยเช่นกัน เพราะมีโอกาสที่จะโดนผลกระทบจากกำแพงภาษีนำเข้าส่งออกหรือแบนไม่ให้นำเข้าประเทศได้ รวมถึงต่อไปอาจมีกฎเกณฑ์บังคับต่อบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ให้พิจารณาไม่เลือกคู่ค้าบริษัทขนาดเล็กที่ไม่ดำเนินธุรกิจที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งเป็นมาตรการบังคับให้ธุรกิจต้องปรับตัวกันทั้ง Supply Chain ในที่สุด

นอกจากนี้ ทางภาครัฐเองก็เริ่มให้ความสำคัญกับกฎความยั่งยืนมากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญที่จะผลักดันส่งเสริมการค้าการลงทุนไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเจรจากับซีอีโอกลุ่มบริษัท BlackRock และบริษัทชั้นนำในโลกธุรกิจและโลกการลงทุนทั่วโลก รวมถึงการเตรียมเข้าร่วมประชุม World Economic Forum 2024 ในเดือนมกราคมปีหน้าอีกด้วย ซึ่งแม้กฎใหม่ของโลกธุรกิจสีเขียวจะยังไม่แน่นอนและไม่มีใครทราบว่าจะมีมาตรการข้อบังคับแบบไหนออกมาอีก แต่ตนเชื่อว่าปีหน้าเป็นต้นไป ด้วยหลายปัจจัย จะเป็นปีที่นักลงทุนทั่วโลกจะกระจายเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่อาเซียนมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็จะเป็นหนึ่งในประเทศลำดับต้น ๆ ที่จะมีการไหลของเม็ดเงินเข้าประเทศมามากกว่าที่เคยเป็นมา จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยและนักลงทุนควรจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม และพยายามปรับตัวให้เป็นไปตามปรัชญาของโลกธุรกิจที่กำลังให้ความสำคัญ”

นายอรรถกฤต ชิมผลาพิบูลย์ เปิดเผยว่า “การดำเนินงานในปีที่ผ่านมาของ Bitkub Exchange เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการต่อลูกค้าเสมอเพื่อปรับตัวสำหรับการแข่งขันในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างปีที่ผ่านมา เรามีการลิสส์เหรียญเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระดานเรามีเหรียญมากกว่า 100 เหรียญแล้ว และอนาคตเราจะมุ่งลิสส์เหรียญเพิ่มให้มีมากกว่า 200 เหรียญ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับลูกค้าของเรา และเราก็จะเดินหน้าพัฒนาระบบที่ดีให้กับลูกค้าไปพร้อม ๆ กัน อย่างในปีที่ผ่านมาเราก็ได้เพิ่มระบบยืนยันตัวตนแบบ NDID เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์และมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้า รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อขอบคุณลูกค้าอย่างกิจกรรม Bitkub Rewards

ในปี 2567 นี้ เรายังมีแผนที่จะอัปเดตระบบ Trading Engine ร่วมกับบริษัทระดับโลก เพื่อรองรับจำนวนธุรกรรมที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต นอกจากนี้ เราก็มีแผนพัฒนาฟีเจอร์รักษาความปลอดภัยใหม่ด้วยระบบ Passkey ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงระบบอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าอย่าง Auto DCA สำหรับคนที่อยากลงทุนแบบต่อเนื่องเป็นรายเดือน ระบบ Subscription Program จ่ายรายเดือนเพื่อลดค่าธรรมเนียม และเราก็กำลังพัฒนา Bitkub Prepaid Card ร่วมกับ Mastercard และสถาบันการเงินที่ได้ใบรับรองในไทยทั้งแบบ Virtual และ Physical card”

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีเวทีเสวนาพิเศษในหัวข้อ “Transition Physical World to Digital World & Trends 2024” โดยมี นายพงศกร สุตันตยาวลี ประธานเจ้าหน้าที่ด้านผลิตภัณฑ์ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด, นายวีรพงษ์ ชุติภัทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียล เอสเตท เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด และนายณัฐ จูงวงศ์ เจ้าของเพจพ่อบ้านคริปโตและผู้ร่วมก่อตั้ง Wagyu Lab เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอีกด้วย

บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยความรู้และเทคโนโลยี และพร้อมจะมุ่งมั่นพัฒนาระบบของเราให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัลและสะพานที่แข็งแรงให้กับผู้คนในประเทศไทย

  • ผู้โพสต์ :
    Panthira
  • อัพเดทเมื่อ :
    28 ธ.ค. 2023 14:34:43

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา