เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา นับเป็นข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนวงการคริปโทเคอร์เรนซีทั่วโลก หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (ก.ล.ต. สหรัฐฯ) ได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้งกองทุน Spot Bitcoin ETFs อย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยอนุมัติคำขอของกองทุนที่ยื่นขอใบอนุญาตทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่ Fidelity, BlackRock, Grayscale, Valkyrie, ARK 21 Shares, Invesco Galaxy, VanEck, WisdomTree, Franklin, Bitwise และ Hashdex
โดยนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “มติของ ก.ล.ต. สหรัฐ ที่อนุมัติให้จัดตั้ง 11 กองทุน Spot Bitcoin ETFs ในครั้งนี้ จะส่งผลสำคัญต่อทิศทางวงการคริปโทเคอร์เรนซี เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการลงทุนผ่านเหรียญบิทคอยน์ได้สะดวกและง่ายขึ้นแล้ว ยังเป็นเหมือนการประทับตรายืนยันสถานะของบิทคอยน์ที่ถูกสบประมาทมากว่า 10 ปี ว่าเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ ให้กลายเป็น “The First International Digital Commoditiy” ที่เป็นที่ยอมรับ และกำลังจะเข้าถึงคนส่วนใหญ่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก
ในขณะเดียวกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้ คือการเข้ามาของเงินทุนสถาบันที่จะยิ่งส่งให้เหตุการณ์ “Golden Year” หรือเวฟใหม่ของคริปโทเคอร์เรนซีที่ตามสถิติแล้วจะมาถึงทุก 4 ปี หลังปรากฎการณ์ “Bitcoin Halving” ซึ่งครั้งต่อไปจะเป็นช่วง 2567-2568 ที่จะยิ่งมีความคึกคักมากกว่าที่เคยเป็นมา เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา วงการคริปโทเคอร์เรนซีถูกขับเคลื่อนแค่เพียงเม็ดเงินจากนักลงทุนรายย่อยแทบทั้งหมด แต่หลังการอนุมัติกองทุน Spot Bitcoin ETFs จะมีเงินทุนสถาบันจำนวนมหาศาล อีกทั้งนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่เดิมทีมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ก็มีโอกาสลงทุนในบิทคอยน์ได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งจะคล้ายกับยุคที่อนุมัติกองทุน ETF ทองคำเป็นครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อน และตนเชื่อว่า หลังจากนี้จะยังมีกองทุนใหม่เพิ่มขึ้นจาก 11 กองทุนเดิมที่ได้รับอนุญาต รวมถึงกลุ่มกองทุนเดิม 11 แห่งก็จะต้องการปริมาณการซื้อที่เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อแข่งขันให้รองรับความต้องการของนักลงทุนสถาบันที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ การมาของ Spot Bitcoin ETFs เราน่าจะได้เห็น New Financial Products ของบิทคอยน์เกิดขึ้นมา และจะทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ที่เป็นสถาบันการเงินเก่าเข้ามาเป็น Infrastructure Providers ในการเข้ามาทำแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือจะเปิดเป็น Crypto Private Fund เพื่อการลงทุน หรือแม้แต่จะเข้ามาทำ Custodian Solutions เพื่อรับฝากเหรียญของลูกค้าเหมือนการฝากเงินธนาคาร รวมถึงการเข้ามามีบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลมากยิ่งขึ้น หากวงการคริปโทเคอร์เรนซีมีขนาดใหญ่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยกับนายแกรี่ เกนสเลอร์ ประธาน ก.ล.ต. สหรัฐฯ ที่ออกมาเตือนว่า มติในครั้งนี้เป็นการอนุมัติการจัดตั้งกองทุน Spot Bitcoin ETFs แต่ไม่ได้รับรองสิ่งที่ผูกติดมากับบิทคอยน์ ซึ่งก็ยังคงต้องระมัดระวังในการเลือกการลงทุนนี้อยู่ โดยเป็นเรื่องที่ดีและเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลอยู่แล้วที่ควรให้คำแนะนำแก่นักลงทุน เพราะแม้แต่การลงทุนที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างตลาดหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ ก็ยังมีคนล้มละลายจากการไม่ศึกษาตัวธุรกิจให้ถี่ถ้วน ซึ่งสำหรับตนก็อยากแนะนำว่า ตลาดบิทคอยน์มีความผันผวนสูงมาก การอนุมัติ ETF นี้มีข้อดีคือช่วยให้นักลงทุนที่ไม่ชำนาญทางเทคนิคในระบบการซื้อขายสามารถเข้ามาลงทุนได้สะดวกขึ้น แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในตัวสินทรัพย์ที่ลงทุนด้วย ไม่แนะนำให้เข้ามาลงทุนตามกระแส เพราะมีความเสี่ยงสูงมาก ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่จะลงทุนทุกครั้ง”
“สิ่งที่ได้มาจากมติของ ก.ล.ต. สหรัฐ เมื่อคืนก่อนนี้ คือ “Legitimacy” หรือ การคืนความชอบธรรมทางกฎหมายให้แก่อุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัล ที่ไม่ได้รับการยอมรับในฐานะสินทรัพย์มานาน เหตุการณ์นี้จึงนับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ที่เกิดความชอบธรรมและชัดเจนแล้วว่า บิทคอยน์ ได้ถือเป็นหนึ่งใน “Mainstream Asset Class” แล้ว ซึ่งเป็นที่มาว่าทำไมคนในแวดวงคริปโทเคอร์เรนซีทั่วโลกต่างตื่นตัวและจับตามองต่อเหตุการณ์นี้และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป” นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าว