กินอยู่อย่างรู้คุณค่า พร้อมพัฒนาสุขภาพให้ดี
ในนิทรรศการดินแดนผักและผลไม้..มหกรรมวิทย์ฯ 64
“You are what you eat” “กินอะไรก็เป็นอย่างนั้น” ประโยคยอดฮิตที่เอาไว้ใช้เตือนใจให้ผู้คนใส่ใจดูแลสุขภาพ และรู้จักรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกรับประทานผักและผลไม้ จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สุขภาพเราได้มากทีเดียว เท่านั้นยังไม่พอ หากเรารู้ที่มาของผลผลิตต่างๆ อาจส่งผลให้เราอยากกินผักและผลไม้มากขึ้นก็เป็นได้
นิทรรศการดินแดนผักและผลไม้ (Fruit and Veggie Land) ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2564 ถูกจัดขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองปีสากลแห่งพืชผักผลไม้ ตามประกาศขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งภายในนิทรรศการได้นำเสนอเรื่องราวและคุณค่าของเหล่าบรรดาพืชผักและผลไม้ พร้อมด้วยเกร็ดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็น 5 โซนด้วยกัน พร้อมเปิดให้ตื่นตาตื่นใจไปกับความมหัศจรรย์อันแสนอร่อย เรียนรู้และสำรวจดินแดนที่เต็มไปด้วยสีสันสดใสแห่งนี้ใน 2 ช่องทาง ไร้ข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ด้วย Virtual Exhibition ในโลกออนไลน์ผ่าน www.thailandnstfair.com/360virtualexhibition/ และสัมผัสบรรยากาศจริงในแบบออนกราวด์ จนถึงวันที่ 19 พ.ย. นี้ ณ อาคาร 9-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
โซนที่ 1 – ออกเดินทางสู่ดินแดนผักและผลไม้ อุ่นเครื่องด้วยข้อมูลพืชผัก ผลไม้ที่บอกความหลากหลายของการเจริญเติบโตของพืชผล และการจำแนกตามกระบวนการเกิดผล ไม่เว้นแม้แต่การรู้จักแหล่งกำเนิด ยกตัวอย่าง องุ่น มาจาก ไม้เถาเนื้อแข็ง ที่มีลำต้นเกาะเกี่ยวไปตามโครงสร้างต่างๆ เช่น รั้ว หรือ ซุ้ม สามารถรับน้ำหนักผลพวงองุ่นได้ ส่วนใต้ดิน ผักอย่างแครอท และหัวไชเท้า คือส่วนรากของพืชที่เจริญเติบโตอยู่ใต้ดิน ทำหน้าที่สะสมอาหารให้กับพืช มันจึงทั้งอวบอ้วน กรอบอร่อยและอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ไม้ยืนต้น มีผลไม้มากมาย อาทิ ส้ม แอปเปิ้ล มะม่วง ฯลฯ ที่ออกผลบนกิ่งของต้น เมื่อสุกงอมได้ที่ ผลอันแสนหวานฉ่ำจะร่วงลงสู่พื้นดิน เพื่อให้เมล็ดที่อยู่ข้างใน งอกออกมากลายเป็นต้นใหม่
โซนที่ 2 – มาทำความรู้จักชนิดผักและผลไม้กันเถอะ พื้นที่แห่งการตั้งข้อสังเกตให้คุณพ่อคุณแม่และเด็กๆ ได้เข้าใจ เริ่มด้วยการจำแนกผักและผลไม้ 2 วิธี คือการจำแนกตามหลักพฤกษศาสตร์โดยดูจากส่วนของพืชที่มันเจริญเติบโต หรือ จำแนกตามหลักโภชนาการโดยดูจากรสชาติของมัน และมีเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ ว่ารู้หรือไม่? ในทางโภชนาการ ผลของพืชบางชนิดอาจถือว่าเป็นผัก หรืออาจเป็นได้ทั้งผักและผลไม้ อย่างเช่น มะเขือเทศ ที่อาจจัดให้เป็นผักหรือผลไม้ก็ได้ด้วย
โซนที่ 3 - ทดลองปลูกผักด้วย 2 มือเรา มุมเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยความน่าสนใจในพืชผักสวนครัว รั้วกินได้ ที่จะทำให้เด็กๆ เรียนรู้คุณค่าของผัก ผลไม้ผ่านการปลูกและดูแลเอง เพียงแค่หาพื้นที่เล็กๆ บริเวณบ้านมาปลูกผักสวนครัว เช่น กะเพรา ต้นหอม ผักชี สะระแหน่ พริก ผัก ตำลึง สามารถดัดแปลงปลูกได้หลายแบบจะปลูกในกระถาง หรือ ปลูกผ่านภาชนะดัดแปลงเหลือใช้อย่างขวดน้ำก็ช่วยประหยัดต้นทุนได้ นอกจากนี้ เราสามารถนำส่วนต่างๆ ของผัก ผลไม้ที่รับประทานเหลือมาปลูกซ้ำได้ด้วยวิธีการหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การนำกิ่ง ส่วนลำต้น มาปักชำในดินหรือในน้ำ ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ อีกทั้งยังทำให้เรามีพืชผักกินเองได้ง่าย และเห็นคุณค่าของพืชผักมากขึ้น
โซนที่ 4 – รู้คุณค่ามหาศาล มหัศจรรย์ความอร่อยของผักผลไม้ เป็นอีกพื้นที่ให้ความรู้ผ่านสีสันของกราฟฟิกผลไม้อันสดใส ดึงดูดให้เด็กสนใจได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น รู้หรือไหมว่า มะเขือพวง ผักสะเดา ถั่วและธัญพืช เป็นกลุ่มผักที่มีใยอาหารมากที่สุดอีกด้วย นอกจากนี้ หากอยากสุขภาพดีแต่ไม่รู้ว่าจะกะปริมาณการกินผัก ผลไม้อย่างไร องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ว่า ควรกินผักและผลไม้ อย่างน้อยวันละ 400 กรัม โดยคำนวณง่ายๆ ก็คือควรกินผักสุกประมาณ 6 ทัพพีต่อวัน และ ผลไม้ประมาณ 20-30 คำต่อวัน ก็สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง เป็นต้น
เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีความพิเศษและน่าสนใจเกี่ยวกับผลไม้ 5 กลุ่มสี ได้กี่ สีขาว, สีน้ำตาล เหลือง ส้ม, สีแดง, สีม่วง และสีเขียว สีสันต่างๆ ของผักและผลไม้เหล่านี้กำลังบอกใบ้ผ่านสีแต่ละชนิด ที่เรียกว่า สารพฤกษเคมี หรือ ไฟโตรนิวเทรียน (Phytonutrient) เป็นสารที่พืชสร้างมาเพื่อป้องกันตัวเองจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โรคและแมลงต่างๆ โดยสารเหล่านี้มีประโยชน์ต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก และเป็นสารของมนุษย์ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเอง ดังนั้น เพื่อให้ร่างกายได้รับสารเคมีที่ดีเหล่านี้ เราจึงต้องทานผักผลไม้ให้หลากหลายผ่านผักผลไม้ 5 สีนั่นเอง
ภายในนิทรรศการยังปิดท้ายด้วยการปลูกฝังแนวความคิด ‘รักษ์โลก’ ให้แก่เด็กๆ ด้วยการนำเศษผักผลไม้ที่กลายเป็นขยะนั้นมาเข้าระบบ เครื่องกำจัดขยะเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยด้วยเทคโนโลยีถังหมักปุ๋ยชีวภาพที่เอามาแนะนำในงาน ง่ายๆ ก็เพียงใส่เศษผัก เปลือกผลไม้และเศษอาหารอื่นๆ ลงไปในถังระบบควบคุมอัจฉริยะ จะช่วยให้จุลินทรีย์เจริญเติบโต และเริ่มย่อยสลายเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยชีวภาพสูตรเฉพาะตัว นับว่าเป็นการกระตุ้นให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
โซนที่ 5 - ความสนุกส่งท้าย ก่อนบอกลาดินแดนผักผลไม้ โซนสุดท้ายที่เด็กๆ สามารถฝากฝีไม้ลายมือไว้กับเวิร์คช็อปทั้ง 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมระบายสีกับน้องปริม ที่จะมาปลดปล่อยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ด้วยกิจกรรมลากเส้นต่อจุด ให้กลายเป็นรูปผัก ผลไม้ และระบายสีตามใจต้องการ และ กิจกรรมตอกลายดอกไม้ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนถุงผ้าด้วยสีจากธรรมชาติ พร้อมรับผลงานกลับบ้านไปเป็นที่ระลึกได้เลย
เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่จะช่วยให้ทุกคนมองเห็นที่มาและประโยชน์จากผักผลไม้ได้อย่างชัดเจนขึ้น รวมถึงตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งใกล้ตัว
ว่าแต่ มีใครตอบได้ไหมคะ ว่า “มะเขือเทศ” เป็นผัก หรือ ผลไม้ กันแน่?