ความยั่งยืนนับเป็นหนึ่งปัญหาเร่งด่วนที่สุดที่โลกกำลังเผชิญ และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดที่จัดการกับความท้าทายนี้คือการท่องเที่ยวและบริการ โดยมีความคิดริเริ่มหนึ่งทางด้านการศึกษาการบริการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืนและเป็นนวัตกรรม นั่นก็คือ Sustainable Hospitality Challenge 2024 (SHC) ซึ่งก่อตั้งโดย Hotelschool The Hague หนึ่งในโรงเรียนด้านการบริการชั้นนำของโลกในเนเธอร์แลนด์ SHC ผลักดันให้ผู้นำด้านการบริการรุ่นต่อไปสามารถคิดนอกกรอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมที่ยั่งยืนของตนเองได้ และยังมอบแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบริการด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ วิทยาลัยดุสิตธานีและโรงแรม ASAI Chinatown ในเครือ Dusit International ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบรองชนะเลิศสำหรับภูมิภาคเอเชียและแอฟริกาขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยรวบรวมนักศึกษาด้านการบริการมากกว่า 70 คนจากสถาบันด้านการบริการที่ดีที่สุดในเอเชียและแอฟริกามาร่วมแข่งขันและพิสูจน์ว่า ผลิตภัณฑ์และแผนงานของพวกเขาจะสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อความยั่งยืน มีการนำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจ 13 รายการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงจาก 13 ทีม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมมาเป็นคณะกรรมการตัดสิน อย่างไรก็ตามมีเพียง 2 ทีมเท่านั้นที่สามารถผ่านเข้าไปสู่รอบชิงชนะเลิศ โดยหนึ่งในนั้นก็คือทีมจากวิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่สอนทางด้านธุรกิจบริการโดยเฉพาะ
ผลงานที่ชนะการแข่งขันคือ “ธารา (Thara)” ระบบกรองน้ำแบบออร์แกนิก เป็นแนวคิดที่แปลกใหม่ของนักศึกษาวิทยาลัยดุสิตธานี 3 คนจากสาขาวิชาศิลปะการประกอบอย่างมืออาชีพ (หลักสูตรนานาชาติ) ได้แก่ นายศุภกร จัง นายชอน อะเจย์ แมททิว และ นางสาวจิรดา กล้วยไม้งาม ไอเดียนี้ได้มาจากแนวคิดการใช้พืชดูดซับสิ่งตกค้างจากน้ำเสียจนสามารถนำกลับมาใช้อุปโภคใหม่ได้ ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์การบริโภค ระบบนี้แสดงให้เห็นว่าน้ำไหลผ่านผนังสีเขียวแนวตั้งไปยังกล่องฆ่าเชื้อก่อนไปที่ก๊อกน้ำ ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานและลดอัตราการสิ้นเปลืองน้ำ โดยนักศึกษาได้ทำการทดสอบคุณภาพของน้ำฆ่าเชื้อในห้องปฏิบัติการ ซึ่งแสดงให้เห็นประสิทธิภาพถึง 75% นับเป็นสัญญาณที่ดีหากนำมาใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมได้จริง
“เดือนที่ผ่านมานี้การทำงานร่วมกับสมาชิกในทีมที่น่าทึ่ง 2 คนคือ ศุภกรและชอน ถือเป็นประสบการณ์ที่พิเศษมาก การสนับสนุนและคำแนะนำที่เราได้รับจากอาจารย์และคนรอบข้างนั้นยิ่งใหญ่และเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราถึงเข้ารอบชิงชนะเลิศ เวลาที่เราใช้ไปกับการทำงานในโครงการนี้เหนื่อยแต่ก็คุ้มค่า ดิฉันรู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับความท้าทายที่เราเผชิญ และการนอนไม่หลับตลอดทั้งคืนที่ใช้สลับไปมาระหว่างงานของวิทยาลัยกับโปรเจ็กต์นี้ ดิฉันมีความสุขและซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่งสำหรับโอกาสในการทำงานในโครงการนี้” นางสาวจิรดากล่าว
ไอเดียของทีมที่เข้ารอบสุดท้ายอีกทีมนั้นคือ “Dynapath” จากมหาวิทยาลัย Vin ประเทศเวียดนาม ซึ่งคิดค้นกระเบื้องที่สามารถผลิตพลังงานจากพลาสติกรีไซเคิลได้ ไอเดียนี้มาจากแนวคิดในการใช้ประโยชน์สูงสุดจากกิจกรรมในแต่ละวันซึ่งก็คือการเดิน โดยกระเบื้องจะผลิตพลังงานเมื่อถูกเหยียบ นอกจากนี้แนวคิดนี้ยังมุ่งส่งเสริมการออกกำลังกายของแขก ช่วยลดการใช้ลิฟต์ที่ใช้พลังงาน และเป็นอีกวิธีในการรีไซเคิลขยะพลาสติกด้วย
วิทยาลัยดุสิตธานีและ Dusit International มุ่งมั่นที่จะพัฒนาแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน ผ่านโครงการ “Tree of Life” ของ Dusit International ซึ่งเป็นโครงการความยั่งยืนของทุกหน่วยธุรกิจในเครือดุสิตฯ โดยวิทยาลัยดุสิตธานีและ Dusit International กำลังดำเนินการเพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคตของอุตสาหกรรมการบริการในประเทศไทยและทั่วโลก สำหรับการแข่งขัน Sustainable Hospitality Challenge รอบชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นที่ดูไบ อันเป็นส่วนหนึ่งของ Future Hospitality Summit ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม 2567