ประกันสังคมแก้กฎหมายเงินทดแทนเพิ่มสิทธิลูกจ้างเจ็บจากงาน

สุขภาพ

สำนักงานประกันสังคม เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติเงินทดแทน ซึ่งใช้มาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่พ.ศ. 2537 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยกฎหมายใหม่นี้เน้นเพิ่มสิทธิให้ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานและให้ความเป็นธรรมกับนายจ้าง

นางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า “ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมาพระราชบัญญัติเงินทดแทนยังไม่เคยมีการแก้ไข แต่ได้มีการออกกฎกระทรวงต่างๆ โดยฉบับล่าสุดเป็นการเพิ่มค่ารักษาพยาบาลสูงสุดเป็น 2 ล้านบาท โดยเริ่มใช้ปี 2560 และ มีการให้สิทธิย้อนหลังตั้งแต่มกราคม 2559 และระหว่างนี้อยู่ระหว่างเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติเงินทดแทน”

กฎหมายเงินทดแทนฉบับใหม่นี้ มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

“เพิ่มสิทธิให้กับลูกจ้างหลายประการ เช่น เพิ่มอัตราค่าทดแทนกรณีต่างๆ จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน ทั้งนี้ ลูกจ้างจะได้รับค่าทดแทนตั้งแต่วันแรกที่ไม่สามารถทำงานได้ และยังขยายความคุ้มครองไปยังลูกจ้างของส่วนราชการ เนื่องจากปัจจุบันลูกจ้างส่วนราชการ ไม่ได้รับการคุ้มครองหากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน อีกกลุ่มหนึ่งคือลูกจ้างที่ทำงานในองค์กรที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรจะได้รับความคุ้มครองด้วย นอกจากนั้นยังมีการเสนอเพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ จากเดิม ไม่เกิน 15 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีตายหรือสูญหายจากเดิม 8 ปีเป็นไม่เกิน 10 ปี”

ส่วนของนายจ้างมีการแก้ไขอะไรหรือไม่?

“กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ละเลยในส่วนของนายจ้างเนื่องจากเจตนารมณ์กฎหมายนี้ ต้องการสร้างกองทุนเพื่อดูแลลูกจ้างแทนนายจ้าง จึงมีการปรับปรุงในส่วนของนายจ้างให้ได้รับความเป็นธรรม โดยมีการปรับลดเงินเพิ่มกรณีนายจ้างค้างชำระ โดยลดจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ2 และกำหนดเพดานการจ่ายเงินเพิ่มไม่ให้เกินเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่ายและยังมีการแก้ไขบทนิยาม คำว่า “ภัยพิบัติ” ให้ชัดเจนขึ้น ในเรื่องลักษณะของภัยพิบัติ เพื่อให้นายจ้างในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติได้รับการลดในการจ่ายเงินเพิ่ม ตามกฎหมายและจะให้เป็นอำนาจของกระทรวงแรงงานในการออกระเบียบเพื่อให้มีความรวดเร็ว”

ตอนนี้ร่างกฎหมายใหม่ อยู่ขั้นตอนไหนแล้ว?

“ผ่านการชี้แจงคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ปนช.) และคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แล้ว เตรียมขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 61”

รองเลขาธิการฯ ทิ้งท้ายว่า “ขอให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานให้กับนายจ้าง กองทุนเงินทดแทนจะเข้ามาดูแลลูกจ้างแทนนายจ้าง แต่หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเมื่อเกิดอะไรขึ้นกับลูกจ้าง นายจ้างจะต้องรับผิดชอบมากมายดังนั้น การที่นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายเงินทดแทน ก็เปรียบเสมือนการซื้อประกันให้แก่ลูกจ้างวันนี้กฎหมายเงินทดแทนกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลดีแก่นายจ้างและลูกจ้าง”

  • ผู้โพสต์ :
    Ssoteam
  • อัพเดทเมื่อ :
    11 เม.ย. 2018 17:33:39

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา