คณะกรรมการประกันสังคม มีมติเห็นชอบแก้ไขระเบียบกำหนดสิทธิการรักษาพยาบาล ในการรับบริการทางการแพทย์ให้แรงงานต่างด้าว ใช้บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือบัตรประจำตัวบุคคล ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่ออกโดยทางราชการ (กรมการปกครอง) เป็นหลักฐานในการใช้สิทธิการรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด แทนการใช้บัตรประกันสังคม
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มติคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) เมื่อวันที่ 18 กรกาคม 2561 ได้เห็นชอบให้แก้ไขระเบียบสำนักงานประกันสังคม ว่าด้วยการกำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์ ให้แรงงานต่างด้าว สามารถใช้บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่ออกโดยทางราชการ (กรมการปกครอง) เป็นหลักฐานในการขอรับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดแทนการใช้บัตรประกันสังคม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและให้ความคุ้มครอง ในระบบประกันสังคมแก่แรงงานต่างด้าว ที่คณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้ทำงานในประเทศไทยและขึ้นทะเบียนทำประวัติ ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่ออกกรมการปกครอง กำหนดให้มีรูปถ่าย เลขประจำตัว 13 หลัก และรายละเอียดที่สำคัญของผู้ถือบัตรอย่างครบถ้วน ได้แก่ ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ วันออกบัตร วันบัตรหมดอายุ ดังนั้นแรงงานต่างด้าว ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนจำนวนกว่า 7 แสนคน ที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานประกันสังคม สามารถใช้บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ยื่นขอเข้ารับการรักษาพยาบาลหรือขอรับประโยชน์ตามสิทธิในระบบประกันสังคมได้ทันที อย่างไรก็ดี ในส่วนแรงงานต่างด้าว ทุกสัญชาติ ที่เข้ามาทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีหลักฐานการขึ้นทะเบียนโดยใช้หนังสือเดินทาง (Passport) และใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) นั้น ยังคงสามารถใช้บัตรประกันสังคม เป็นหลักฐานในการแสดงตน ในการขอรับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลที่กำหนด ได้เช่นเดิม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ / สาขา / จังหวัดทั่วประเทศ
------------------------------------------------
ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน