พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง ความพร้อมการทำงานของสำนักงานประกันสังคมในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 29 ว่า กระทรวงแรงงานมุ่งหวังให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนตามแนวคิดประกันสังคมถ้วนหน้า โดยในปี 2562 ตนได้ให้แนวทางในการดำเนินงานที่จะต้องเน้นหนักและเร่งรัดการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ ให้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อการเข้าถึงหลักประกันทางสังคม ทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งจะเป็นการสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมตอบสนองตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ที่กำหนดให้มี สวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสมกับคนทุกเพศ ทุกวัย ของรัฐบาล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ในการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ ให้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคมได้ขยายความคุ้มครองไปในทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งในปี 2561 นี้ ที่ผ่านมาตนได้มอบนโยบายเน้นหนักและเร่งด่วนให้สำนักงานประกันสังคม เร่งผลักดันการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพิ่มอีก 1 ล้านคน ให้เข้าถึงหลักประกันทางสังคมครอบคลุม เหมาะสมกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มอาชีพ และส่งเสริมให้แรงงานภาคสมัครใจเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึง ปัจจุบันได้มีการขยายความคุ้มครองสู่แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ เช่น แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และกลุ่มอาชีพอื่นๆ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้วจำนวน 113,777 คน นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมได้พัฒนาและเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตน อาทิ พัฒนารูปแบบการให้บริการกรณีทันตกรรม โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ซึ่งมีผู้ประกันตนเข้าถึงบริการทันตกรรม เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวนถึง 8 แสนครั้ง เพิ่มเป็น 1.27 ล้านครั้งในปัจจุบัน เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จาก 400 บาท เป็น 600 บาท ต่อเดือน ให้แก่บุตรผู้ประกันตนกว่า 1 ล้านคน ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกกฎกระทรวง ให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป อีกทั้งยังมีการเพิ่มค่าฝากครรภ์ กรณีคลอดบุตร ให้กับผู้ประกันตนกว่า 290,000 คน เพิ่มสิทธิประโยชน์และค่าทดแทนให้กับลูกจ้างที่ทำงานให้กับนายจ้าง ในระบบกองทุนเงินทดแทน โดยจัดทำร่างแก้ไขพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อเพิ่มความคุ้มครองให้กับลูกจ้างได้มีหลักประกันที่มั่งคงและยั่งยืน ซึ่งขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทนฉบับใหม่แล้ว เตรียมเสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2561
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปถึงการดำเนินตามนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ของกระทรวงแรงงานประจำปีงบประมาณ 2562 ตามกลยุทธ์ก้าวกระโดด สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงสิทธิประโยชน์การประกันสังคม และปรับปรุงบริการทางการแพทย์ เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีเข้ารับการผ่าตัดวันเดียวกลับ (One day Surgery) ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีรักษาโรคมะเร็ง ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีผู้ทุพพลภาพ ปรับปรุงมาตรฐานสถานพยาบาลที่ให้บริการพัฒนารูปแบบการให้บริการทางการแพทย์กับสถานพยาบาลต่างๆ ในรูปแบบใหม่เพื่อให้บริการผู้ประกันตนระดับพรีเมียมส่งเสริมและป้องกันโรคแก่ผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรให้ผู้ประกันตน ที่สิ้นสภาพได้รับสิทธิประโยชน์ไปอีก 6 เดือน (จากเดิมขาดสิทธิทันที) และการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO C 102 ปฏิรูประบบประกันสังคม เพื่อรองรับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปฏิรูประบบบำนาญ การปรับเพดานค่าจ้างปรับสูตรการคำนวณบำนาญ ประกันเงินบำนาญขั้นต่ำ (กรณีเสียชีวิตภายใน 5 ปี) ผู้รับบำนาญทำงานต่อได้สิทธิประโยชน์ 3 กรณี (เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย) ขยายอายุการรับบำนาญจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ขยายอายุผู้สมัครเป็นผู้ประกันตนในระบบจากเดิม 15–60 ปี เป็น 15 ปีขึ้นไป ขยายโอกาสในการรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป การจ้างงานผู้สูงอายุเข้าทำงานกับสำนักงานประกันสังคมสำหรับบุคคลที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป บูรณาการภาคีเครือข่ายในการส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาแรงงานนอกระบบให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในส่วนของการแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทนฉบับใหม่ จะส่งผลให้มีการขยายความคุ้มครองให้กับลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการทุกประเภทและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างที่ประสบอันตรายอันเนื่องจากการทำงาน เช่น การเพิ่มอัตราค่าทดแทนกรณีต่างๆ จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างทุพพลภาพเป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี ปัจจุบันไม่เกิน 15 ปี เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้าง ถึงแก่ความตายหรือสูญหายเป็นไม่เกิน 10 ปี ปัจจุบันไม่เกิน 8 ปี แก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนสำหรับกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ให้ได้รับตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงาน ปัจจุบันจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกิน 3 วัน เพิ่มการจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้าง ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ปัจจุบันการจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจำนวน 100 เท่า ของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในส่วนของนายจ้างก็จะได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทนนี้เช่นกันคือได้มีร่างกฎหมายในการปรับลดเงินเพิ่มจากเดิมร้อยละ 3 ต่อเดือน ลดลงเหลือร้อยละ 2 ต่อเดือน และไม่เกินเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่ายอีกด้วย ในส่วนของการให้บริการสำนักงานประกันสังคมได้มีการยกระดับการให้บริการผู้ประกันตน ในระบบ e-Service เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตนในรูปแบบที่หลากหลายทั้ง e-Service, Mobile Application, Social Media และ Web application ได้แก่ พัฒนาระบบ e-Service เพิ่มช่องทางการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ผ่านช่องทางต่างๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ศูนย์บริการข้อมูล 1506 ร้านสะดวกซื้อ (7-11) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพิ่มช่องทางการชำระเงินสมทบผ่านธนาคารและหน่วยบริการพัฒนารูปแบบการรับ-จ่าย เงินให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเงิน เพื่อก้าวสู่สังคมดิจิทัล โครงการ e-self Service สำหรับนายจ้างและผู้ประกันตน การบูรณาการระหว่างสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กับสำนักงานประกันสังคม การจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามนายจ้างมาขึ้นทะเบียนประกันสังคมโดยใช้ E-mail / SMS แทนการออกหนังสือ การยกเลิกการขอสำเนาเอกสารทางราชการ (Zero copy)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในตอนท้ายว่า ในโอกาสครบรอบปีที่ 28 ของสำนักงานประกันสังคม ตนขอชื่นชมบุคลากรของสำนักงานที่ตั้งใจทำงาน ทุ่มเท มุ่งมั่นพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการบริการที่เป็นเลิศ รวมถึงเป็นที่พึ่งให้กับผู้ประกันตนอย่างแท้จริง
--------------------------------------------