คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ชี้ “Internet of Things” เปลี่ยนธุรกิจการศึกษาอนาคต

การศึกษา ภาษา ติวเตอร์

คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ฉายวิสัยทัศน์ การปั้นบุคลากรออกสู่ภาคธุรกิจ ต้องปรับตัวทุกทิศทางตามสถานการณ์โลกปัจจุบัน “สมาร์ทโฟน” และ “Internet of Things” จุดเปลี่ยนธุรกิจการศึกษาอนาคต เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจึงต้องเป็นผู้นำทางความคิดที่รู้เท่าทันต่อกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ

รศ.ดร.สถาพร โอภาสานนท์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ถึงทิศทางอนาคตการศึกษาไทย ว่า โลกธุรกิจทุกวันนี้ต้องเผชิญกับความ ท้าทายที่มาจากความก้าวหน้าที่รวดเร็วของเทคโนโลยีและพลวัตรทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งต้องอาศัยการดำเนินธุรกิจที่ทันต่อเหตุการณ์และสามารถปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่วงการการศึกษาที่ในอดีตไม่ได้มีพัฒนาการที่รวดเร็วมากอย่างปัจจุบันนี้ เนื่องจากองค์ความรู้ต่าง ๆ จะมีอยู่เฉพาะในตำราที่มีอยู่อย่างจำกัดภายในห้องสมุดหรือโดยการถ่ายทอดจากอาจารย์ผ่านการเรียนการสอนในห้องเรียนเท่านั้น ในขณะที่สมาร์ทโฟนและ Internet of Things ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้การหาความรู้ด้วยตนเองไม่มีขีดจำกัด และไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาและสถานที่อีกต่อไป

ทักษะที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจในอนาคต

เนื่องจากในปัจจุบันความรู้สามารถเข้าถึงได้ง่ายในทุกที่ทุกเวลาเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต การศึกษาด้านบริหารธุรกิจในยุคใหม่จึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การถ่ายทอดองค์ความรู้ หากแต่เป็นการพัฒนาทักษะ (Skill) ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ โดยการพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนให้ชำนาญจนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญ ซึ่งในขณะที่โลกของการศึกษากำลังมุ่งไปสู่การเตรียมความพร้อมของผู้เรียนเพื่อรองรับการมาถึงของยุคดิจิทัล เช่น ทักษะในการเขียนโปรแกรม (Coding) และการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่สำหรับการศึกษาด้านบริหารธุรกิจแล้ว ทักษะในเรื่องดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องหลักที่ผู้เรียนทุกคนต้องรู้อย่างลึกซึ้งจนถึงขั้นที่สามารถเขียนโปรแกรมเพื่อพัฒนาระบบหรือแอปพลิเคชั่นเองได้ หากแต่ต้องเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านั้นว่าใช้งานอย่างไร และรู้ถึงลักษณะของข้อมูลและประโยชน์ที่จะได้รับจนสามารถหาแนวทางในการประยุกต์เทคโนโลยีเหล่านั้นมา สร้างประโยชน์ทางธุรกิจได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง ทั้งนี้ หนึ่งในทักษะที่มีความสำคัญมากสำหรับการดำเนินธุรกิจ คือ ทักษะการแก้ปัญหา หรือ Problem Solving ซึ่งต้องไม่ใช่เป็นแค่นักคิดที่รู้ “What to do” แต่ยังต้องเป็นนักปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับ “How and When to do it” การเรียนด้านบริหารธุรกิจจึงต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic Thinking) คิดแบบมีตรรกะ (Logical Thinking) และคิดในเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) รวมถึงมีสนามฝึกซ้อมให้ผู้เรียนได้ทดลองแก้ปัญหาทางธุรกิจด้วยตัวเองได้ ในขณะที่หุ่นยนต์ (Robot) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการจ้างงานที่มีลักษณะเป็นกิจวัตร (Routine) หรือเป็นแบบขั้นตอน (Procedural) ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีดังกล่าวก็ยังไม่สามารถมาทดแทนการทำงานที่ต้องอาศัยสัมผัสมนุษย์ (Human Touch) ได้ ดังนั้นการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจยังต้องมีการสอดแทรกกระบวนการพัฒนาทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่นและทักษะในการสื่อสารทั้งภาษาที่ 1, 2 หรือ 3

เปลี่ยนจาก Lecturer เป็น Facilitator

การปรับบทบาทของอาจารย์จากที่เป็น Lecturer หรือ Instructor ที่มุ่งสอนเนื้อหาและทฤษฎีต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตำราอยู่แล้ว มาเป็น Facilitator หรือ Coach แทน เนื่องจากมีช่องทางในการเข้าถึงแหล่งความรู้มากมายทั้งในรูปแบบของ E-book ไปจนถึงคลิปวิดีโอที่มีการสอนฟรีอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต ผู้เรียนจึงสามารถศึกษาเนื้อหาในส่วนที่เป็นความรู้เบื้องต้นได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเสียเวลาและทรัพยากรเพื่อมาเรียนในห้องเรียน บทบาทของอาจารย์จึงปรับไปสู่การเป็นผู้อำนวยความสะดวกที่จะทำหน้าที่ในการคลายข้อสงสัยแก่ผู้เรียนในส่วนของเนื้อหาที่มีความซับซ้อนและยากต่อการทำความเข้าใจด้วยตนเอง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการชี้แนะเพิ่มเติม ตลอดจนเป็นผู้กระตุ้นและชักนำให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้และทฤษฏีมาต่อยอดหรือนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาทางธุรกิจผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยการใช้กรณีศึกษา โปรเจคของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ และเกมจำลองสถานการณ์ ประกอบการเรียนการสอนเพื่อสร้างประสบการณ์ในการแก้ปัญหาในบรรยากาศเสมือนจริง

• ไม่ใช่ Student แต่เป็น Participant

ทางด้านผู้เรียนก็ต้องปรับตัวโดยทำความเข้าใจในส่วนเนื้อหาความรู้มาก่อนเข้าชั้นเรียน ซึ่งการจะทำได้นั้นต้องอาศัยคำแนะนำด้านการเลือกแหล่งข้อมูลที่ดีจากอาจารย์ผู้สอน ตลอดจนการพัฒนาทักษะของตัวผู้เรียนเองในการคัดกรองข้อมูล เนื่องจากความท้าทายที่ตามมาจากการค้นหาข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ตที่ให้ทั้งคุณและโทษคือ ภาวะข้อมูลท่วมท้น หรือ Information Overload ที่ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสที่จะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือข้อมูลล้าสมัย นอกจากความสามารถในการคัดเลือกแหล่งข้อมูลและการคัดกรองข้อมูลแล้ว ผู้เรียนยังต้องสามารถที่จะเปรียบเทียบ วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ตนได้ทำการศึกษามาก่อนเข้าชั้นเรียน เนื่องจากผู้เรียนจะต้องปรับบทบาทของตนเองจากการเป็น Student ที่มาชั้นเรียนเพื่อมาฟังผู้สอนบรรยายตามตำรา มาเป็น Participant ที่มีความพร้อมที่จะมาแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์และนักศึกษาคนอื่น ๆ ในชั้นเรียนได้

โครงสร้างหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่น

ด้วยบริบทของการศึกษาที่เปลี่ยนแปลง ทำให้การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่แท้จริงจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการศึกษาด้านบริหารธุรกิจยุคใหม่ โดยการออกแบบโครงสร้างหลักสูตรต้องเน้นให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวเพื่อเอื้อให้สามารถทำการปรับปรุงหลักสูตรได้รวดเร็วและบ่อยครั้งมากขึ้น เพื่อให้หลักสูตรคงความทันสมัยและทันตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคมอยู่เสมอ ทั้งนี้ หลักสูตรจะมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวต่อการปรับปรุงได้ก็ต่อเมื่อมีจำนวนวิชาและจำนวนหน่วยกิตไม่มากจนเกินไป การลดจำนวนวิชาในหลักสูตรสามารถทำได้โดยการลดจำนวนวิชาที่เน้นการจดจำเนื้อหา ทฤษฏี หรือวิธีการคำนวณที่ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเองนอกชั้นเรียน ร่วมกับการจัดกลุ่มวิชาแบบมีจุดมุ่งหมาย (Purpose) ตามที่หลักสูตรนั้นต้องการสร้างจุดแข็งให้แก่ผู้เรียน โดยเน้นการสร้างความเข้าใจในหลักการตลอดจนสถานการณ์และบริบทที่เหมาะสมต่อการนำความรู้และแนวคิดทางธุรกิจมาใช้ในการแก้ปัญหาทางธุรกิจได้จริง

ไม่ใช่แค่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันแต่ต้องล้ำหน้ากว่า

รศ.ดร.สถาพร วิเคราะห์ทิ้งท้ายว่า ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและการปรับตัวของภาคธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจึงต้องเป็นผู้นำทางความคิดที่รู้เท่าทันต่อกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจได้ด้วยวิสัยทัศน์ที่ผ่านกระบวนการขัดเกลาจากการทำงานวิจัยและการให้คำปรึกษาทางวิชาการอย่างใกล้ชิดกับภาคธุรกิจ ดังนั้นการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรในแต่ละครั้งจึงไม่เพียงแค่ใช้การสำรวจความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันผ่านการทำ survey และ focus group กับผู้ว่าจ้างในภาคธุรกิจเท่านั้น แต่สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจยังต้องสามารถคาดการณ์ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจในอนาคตที่ได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้ด้วย เพื่อให้หลักสูตรที่ถูกออกแบบมาไม่ใช่แค่เพียงทันสมัยต่อสภาวการณ์ปัจจุบันเท่านั้น แต่ต้องก้าวล้ำเพียงพอที่จะสามารถรองรับการทำงานจริงเมื่อผู้เรียนจบการศึกษาไปแล้ว โดยยังสามารถนำความรู้หรือทฤษฎีที่เรียนไปใช้ในการทำงานได้อยู่ ไม่ใช่กว่าผู้เรียนจะจบการศึกษา ความรู้ที่ได้ศึกษามาก็ล้าสมัยไปเสียแล้ว ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการศึกษาด้านบริหารธุรกิจสมัยใหม่ต้องอาศัยการปรับตัวในทุกด้าน เพราะปัจจุบันทุกคนมีต้นทุนทางความรู้ที่เท่าเทียมกันตามข้อมูลที่มีอยู่มากมายในโลกของอินเทอร์เน็ต แต่ทักษะต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาและต้องมีการชี้แนะจากอาจารย์ผู้สอนที่มีประสบการณ์และรู้จริงเท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จได้

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tbs.tu.ac.th/tbsinsights/

************************************************************************************

เว็บไซต์ : tbs.tu.ac.th
  • ผู้โพสต์ :
    TBS.TU
  • อัพเดทเมื่อ :
    4 ม.ค. 2022 13:26:38

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา