สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ผนึกหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศเตรียมจัดงานใหญ่ “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” ครั้งที่15 ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ในปีนี้จัดงานแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนกว่า 300 ผลงานในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ “นิวนอร์มัล” จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) โดยเพิ่มมาตรการคัดกรองผู้เข้าชมงานและนิทรรศการอย่างเข้มงวด ตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผู้เข้าร่วมงานต้องลงทะเบียนร่วมงานล่วงหน้าทางเว็บไซต์ก่อนเท่านั้นที่ www.researchexpo.nrct.go.th และ www.nrct.go.th ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 กรกฎาคม ศกนี้ และ ไม่อนุญาตให้เข้าชมงานแบบ Walk In ทุกกรณี สำหรับผู้ที่พลาดการลงทะเบียน ติดตามชมงานและร่วมประชุม-สัมมนาออนไลน์ได้ทุกหัวข้อ ที่เว็ปไซต์ดังกล่าวข้างต้น
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2563) ” เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เน้นการเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงานวิจัย ได้แก่ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ เพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อขับเคลื่อน BCG Economy Model ในปีนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจะเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 4 สิงหาคม เวลา 10.00 น.
ภายในงานฯ ประกอบด้วย ภาคนิทรรศการ ได้แก่ นิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราถบพิตร รัชกาลที่9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย พร้อมด้วยนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยงานในระบบวิจัยทั่วประเทศ นิทรรศการนวัตกรรมตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่ นิทรรศการชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม และนิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ส่วนภาคการประชุมและสัมมนามีมากกว่า 100 เรื่อง ฯลฯกิจกรรม Research Clinic เป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องของการวิจัย และ เปิดตัว “ทูตวิจัย” คนแรกของประเทศไทย ประจำปี 2563 “อั้ม อธิชาติ ชุมนานนท์” อีกด้วย
ในปีนี้มีทัพงานวิจัยที่น่าสนใจกว่า 300 ผลงาน อาทิ การพัฒนาชุด PPE Coverall รุ่น “เราชนะ” สำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ในการป้องกันขณะเผชิญโรคโควิด-19 เจลพอกหน้า สารสกัดจากข้าวหอมมะลิแดง หุ่นยนต์เก็บขยะจากผิวน้ำ การออกแบบบรรจุภัณฑ์น้ำผึ้งการแก้ปัญหาช้างป่าในประเทศไทย โครงการเภสัชอาสาพาชุมชนยั่งยืนอาหารและเครื่องดื่มหมักจากข้าวมอลต์แดง ฯลฯ
ผลงานเด่นส่วนหนึ่ง ดังนี้
นวัตกรรมเครื่องตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดย ศ.ดร.โกสุม จันทร์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัยด้านไบโอเซนเตอร์และภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เผยถึงผลสำเร็จในการคิดประดิษฐ์ชุดทดสอบเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 โดยระบุว่าหลังเกิดการระบาดของ โควิด-19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดผลิตชุดทดสอบคัดกรองผู้ป่วย ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความรวดเร็วโดยใช้หลักการในการตรวจเบื้องต้น ซึ่งใช้เวลาไม่นานประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก็จะสามารถรู้ผลทันทีและสามารถที่จะกระทำได้ทั้งในห้องแลบปฎิบัติการและในพื้นที่มีเครื่องมือที่มีราคาแพง
“หลักการของเราคือต้องเป็นวิธีทดสอบง่าย ๆ และไม่ใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง วิธีการก็คือว่าเมื่อได้ตัวอย่างมาแล้วเราก็สกัดสารพันธุกรรมออกมา จากนั้นก็ทำการเพิ่มจำนวนพันธุกรรมโดยเพิ่มอุณหภูมิเดียว โดยเราออกแบบให้ตรวจจับเฉพาะไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นชิ้นส่วนพันธุกรรมที่จำเพาะ หลังจากนั้นเมื่อมันทำปฏิกิริยากันแล้วประมาณ 60 นาที เราก็เอาสารละลายผสมอันนี้หยดลงบนแผ่นสตริป ที่มีลักษณะเเดียวกันกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ แล้วก็สามารถอ่านผลได้ทันทีว่าเป็นบวกหรือลบ คือถ้าอ่านได้แถบเดียวจะเป็นผลเน็คกาทีฟหรือมีผลเป็นลบ ซึ่งเป็นการแสดงผลเชิงคุณภาพ แต่ถ้าเป็นเชิงปริมาณอยากทราบว่าในแถบอันนั้นมีปริมาณไวรัสเท่าไหร่ สามารถใช้กล้องถ่ายรูปผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือในระบบแอนดรอยสามารถถ่ายรูปบนแผ่นสตริปที่เราได้ออกแบบไว้เทียบเคียงมาตรฐานที่ทำไว้แล้วก็สามารถที่จะแปลงออกมาได้ว่ามีปริมาณไวรัสที่อยู่ในนั้นเท่าไหร่
“การทดสอบนี้ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นอยู่ในหลักร้อยเท่านั้น ขณะนี้อยู่ในการพัฒนาเฟสที่2”
ศ.ดร.โกสุม ระบุอีกว่าสำหรับเฟสต่อไปหรือระยะที่สอง ถ้ามีเปอร์เซนต์ความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น หลังจากนั้นกระบวนการต่อไปเข้าสู่เฟส3ในการส่งเทคโนโลยีนี้สู่หนรวยงานที่รับผิดชอบหรือหน่วยงานที่ให้การรับรองต่อไป
ผ้าใยกล้วยบัวหลวง ผ้าประจำจังหวัดปทุมธานี โดย ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร และคณะนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า ผลงานชิ้นนี้มาจากงานวิจัยชื่อ “การพัฒนาเส้นใยกล้วยในงานแฟชั่นเครื่องแต่งกายและสิ่งทอ” โดยนำต้นกล้วยที่เหลือจากการเก็บผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดปทุมธานี มาเพิ่มมูลค่า พบว่าเส้นใยจากกล้วยเมื่อผ่านกระบวนการวิจัยคิดค้นด้วยนวัตกรรม ทำให้เกิดเส้นใยที่มีความเหนียวและนุ่ม ปั่นเป็นเส้นด้ายและนำมาทอเป็นผืนผ้าได้ ซึ่งเส้นใยกล้วยที่รับซื้อจากชาวบ้านมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 500 บาท เมื่อนำมาปั่นเป็นเส้นด้ายกล้วย ทำให้มีราคาสูงถึง 1,400 บาท ปัจจุบันโครงงานนี้สามารถทอขึ้นเป็นผืนผ้า และนำมาตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มได้อย่างสวยงาม ทันสมัยและนำมาพัฒนาเป็นอาชีพชุมชน “กลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน” สามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.ทศวรรษ สีตะวัน และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร คิดค้น เครื่องสูบน้ำพลังเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อกู้วิกฤตชุมชน เพื่อแก้ปัญหาเรื่อง “น้ำ” ให้เกษตรกรที่อยู่ห่างไกลระบบสายส่งกำลังไฟฟ้าและเขตชลประทาน จุดเด่นของนวัตกรรมนี้คือ สามารถเคลื่อนที่ได้ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ปรับมุมรับแสงอาทิตย์และพับเก็บได้ ปริมาณการสูบน้ำได้สูงสุด 2,500 ลิตร ต่อชั่วโมงสูบน้ำใต้ดินได้ลึก 10 เมตร ส่งน้ำในแนวราบได้ 300 เมตร มีหน้าจอ แสดงผลการใช้พลังงานไฟฟ้า การสิ้นเปลืองพลังงาน โดยเกษตรกรในชุมชนสามารถดูแล บำรุงรักษาได้เอง ปัจจุบัน นำไปใช้ในศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรจำนวน 10 ศูนย์ ในจังหวัดอุดรธานี และเน้นในจุดที่เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งสูง และในปี 2563 นี้ยังต่อยอดนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขยายพื้นที่ความช่วยเหลือไปยัง 13 จังหวัดทั่วประเทศอีกด้วย
ดร.ประกอบ ชาติภุกต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และคณะนักวิจัย กล่าวถึงผลงาน การสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทขนมหวานพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ จ.เพชรบุรี ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยจาก มทร.พระนครและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า ขนมหวานเมืองเพชรบุรีถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีมานานโดยใช้ความหวานของน้ำตาลในการช่วยยืดอายุขนม แต่หากมองในแง่ของโภชนาการถือเป็นข้อด้อยในเรื่องสุขภาพสำหรับผู้บริโภค ฉะนั้นโจทย์วิจัยที่ตามมาคือ หากลดความหวานลงแล้วทำอย่างไรให้ขนมหวานยังคงมีรูปลักษณ์ รสชาติ กลิ่น และสีสันคงเดิม สามารถเก็บได้นานเหมือนเดิมโดยไม่ใช้วัตถุกันเสีย จึงเกิดเป็นโครงการงานวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อยกระดับกลุ่มต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ภายใต้แนวคิด “ขนมหวานลดหวาน ที่มีคุณค่าแต่ไม่ฆ่าคุณ” โดยพัฒนาสูตรใหม่เพื่อเป็นสูตรขนมหวานแบบลดหวาน ลดพลังงาน และลดการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย คิดค้นสารให้ความหวานที่เรียกว่า อิริทิทอล ซึ่งเข้ามาทดแทนน้ำตาลได้มากถึง 25% นอกจากนี้ยังพัฒนากลยุทธ์การตลาดและร่วมออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์บนอัตลักษณ์ของเพชรบุรี ออกแบบและสร้างเครื่องจักรสำหรับการผลิตขนมหวานพื้นเมือง จ.เพชรบุรี แบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมอีกด้วย งานวิจัยนี้ครอบคลุมในพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบ้านลาด อำเภอเขาย้อย อำเภอบ้านแหลม
ผลงานจากฟางข้าวสู่ผลิตภัณฑ์ย่อยสลาย เป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ผลงานของ อาจารย์เกวรินทร์ พันทวี อาจารย์สาขาวิชาศิลปกรรม คณะมนษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับอาจารย์วีระนุช สระแก้วจากสาชาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม เป็นงานวิจัยที่มุ่งแก้ปัญหาด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม จากการเผาฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยวที่ส่งผลทำให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศพีเอ็ม 2.5 (PM 2.5)โดยเฉพาะในพื้นที่แถบราบลุ่มภาคกลางอย่าง จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ ทุก ๆ ปีจะมีปัญหาการเผาฟางข้าวหลังเก็บเกี่ยวเป็นจำนวนมากซึ่งปริมาณฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 1 ตัน ต่อไร่โดยมีการแปรรูปฟางข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างหลากหลาย อาทิ กระถางปลูกต้นไม้ ที่รองแก้ว ปลอกสวมแก้ว ที่วางสบู่ ฯลฯ มีการออกแบบลวดลายให้ดูสวยงามและทันสมัย โดยใช้ศาสตร์การออกแบบประสานกับเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ที่จะใช้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนต่อไป ปัจจุบันได้เริ่มทดลองขายตามออเดอร์ที่สั่งเข้ามาเช่น กระถางต้นไม้สนนราคาใบละ10-15 บาท ข้อดีเมื่อปลูกต้นไม้ลงดินก็ไม่ต้องแกะกระถางออก ใส่ลงไปดินได้ทั้งกระถางรากของต้นไม้ก็ไม่ได้รับผลกระทบจากการดึงต้นไม้ออกและนาน ๆ ไปก็จะย่อยสลายไปเอง ที่สำคัญงานวิจัยชิ้นนี้ยังตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านเรื่องการสร้างรายได้เพิ่มนอกเหนือจากการขายข้าวอีกด้วย
ขอเชิญผู้สนใจทั่วไป ที่มีความประสงค์ร่วมชมงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” ครั้งที่15 ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00-18.00 น. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ และขอสงวนสิทธิ์ในการเข้าชมงาน หรือ เข้าฟังการสัมมนา เฉพาะผู้ลงทะเบียนในระบบภายในวันที่ 31 กรกฎาคม นี้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th และ www.nrct.go.th เท่านั้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-561-2445 ต่อ 515-519