รพ.สวนผึ้ง สนองตอบThailand 4.0 พร้อมพัฒนาการบริการตามแนวทาง Smart Hospital
ยึดหลักครอบคลุมคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี
โรงพยาบาลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีเป็นโรงพยาบาลพื้นที่ชายแดน สนองตอบนโยบาย Thailand 4.0 พร้อมดูแลประชากรในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง บริหารงานแบบบูรณาการจากหลายภาคส่วน ตามแนวทาง “Smart Hospital ที่ครอบคลุมคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีสุขภาพดี และสิ่งแวดล้อมดี” ในรูปแบบของสวนผึ้งโมเดล โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1) Smart People ประชาชนที่มีศักยภาพในการดูแลตนเอง ครอบครัว และมีส่วนร่วมกับสังคม 2) Smart Organization หน่วยงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการบูรณาการ การดำเนินงานในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน 3) Smart Hospital โรงพยาบาลที่สนับสนุนส่งเสริม ให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลตนเอง โดยมีการขับเคลื่อนในรูปแบบของทีม ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนให้สะดวกต่อการเข้าถึงบริการ พัฒนาการให้บริการด้วยเครื่องมือและวิทยาการที่ทันสมัย และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนให้สะดวกต่อการเข้าถึงบริการ
นายแพทย์ฉัทฐกร ธัญเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนผึ้ง เปิดเผยว่าโรงพยาบาลสวนผึ้งนับเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่ชายแดน ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการดูแลประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอสวนผึ้งและอำเภอบ้านคา ในด้านสุขอนามัยโดยเพิ่มทางด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพเป็นการช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้และพัฒนาชุมชมโดยรอบโรงพยาบาล ทั่งส่งเสริมบุคลากรให้มีการค้นคว้าวิจัย และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ตามวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลที่ว่า “โรงพยาบาลสวนผึ้ง ที่พี่งของประชาชน บำบัดรักษา พัฒนาชุมชน” โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้พัฒนาบริการที่ได้คุณภาพมาตรฐาน เป็นมิตรต่อผู้เข้ารับบริการ
สนองตอบนโยบาย Thailand 4.0 ลดขั้นตอน สู่การบริการที่รวดเร็ว
นายแพทย์ฉัทฐกร กล่าวเพิ่มเติมถึงการทำงานตามนโยบาย Thailand 4.0 ที่ต้องการให้โรงพยาบาลมีความทันสมัย และนำเอาใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อลดขั้นตอนบริการ ลดระยะเวลารอคอย ลดความแออัด เช่น การนำเอาชุด LaboLink Smart OPD ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ ประกอบด้วย เครื่องวัดความดันแบบสอดแขน เครื่องชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงชนิดแกนเลื่อนอัตโนมัติ คนไข้สามารถทำเองได้ เมื่อวัดเสร็จแล้ว ค่าที่ได้จะถูกส่งผ่าน Labolink Box เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาลโดยอัตโนมัติ ทำให้การจัดการหน้าห้องตรวจเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ระบบคิวอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงนัดหมายการตรวจและแจ้งคิวผ่านจอภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาลงสู่แอปพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือ การให้ข้อมูลด้านการใช้ยาแก่ผู้ป่วยผ่านแอปพลิเคชั่น RDU ใช้โปรแกรม ThaiCOC ส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยกลับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนดูแลต่อเนื่อง ลดการเจ็บป่วยซ้ำและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนกับโรงพยาบาลผ่านระบบ Line Official เป็นต้น
นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) จำนวน 1,384 คน ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรมาตรฐาน อสต. ทำงานเป็นจิตอาสาควบคู่กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือ สื่อสาร ทำความเข้าใจกับชุมชน ให้มีความรู้ในการดูแลสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรคอีกด้วย “การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพของประชาชนให้มีความทันสมัย เป็นสิ่งสำคัญเพราะจะนำไปสู่การให้บริการทางการแพทย์ ที่ให้ประชาชนนำข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรงพยาบาลสวนผึ้ง เป็นโรงพยาบาลที่อยู่ติดกับแนวชายแดน จึงมีภารกิจและหน้าที่นอกเหนือเพิ่มเติมจากโรงพยาบาลทั่วไป คือการดูแลเรื่องการระบาดของโรคที่มาจากแนวชายแดน เพิ่มการดูแลพี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนและสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดน ถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้โรคภัยไข้เจ็บที่มาจากแนวชายแดนลดลงได้” นายแพทย์ฉัทฐกร กล่าวในท้ายสุด