แพทย์เตือน! ผู้ป่วยเบาหวาน ระวัง! “เบาหวานขึ้นจอประสาทตา” แนะตรวจคัดกรองสุขภาพตาทุกปี

สุขภาพ

จากสถานการณ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานของประเทศไทยในปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนถึง 5 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ ก็มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามระบบต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งภัยเงียบที่น่ากลัวของผู้ป่วยเบาหวาน คือ ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา โดยพบว่าภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยศูนย์เสียการมองเห็นเป็นอันดับต้นๆของประเทศ แต่โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาสามารถป้องกันได้ ถ้าวินิจฉัยได้เร็ว ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องได้รับการคัดกรองตรวจสุขภาพตาเป็นระยะ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง...

ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา คือระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สูงผิดปกติและส่งผลข้างเคียงต่อจอประสาทตา หากตรวจพบช้า หรือรักษาช้า รุนแรงถึงขั้นศูนย์เสียการมองเห็น โดยภาวะเบาหวานขึ้นตานั้นสามารถเกิดขึ้นได้ถึงร้อยละ 30-40 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน โดยผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงที่จะมีเบาหวานขึ้นจอประสาทตา คือ

1. การเป็นโรคเบาหวานเป็นระยะเวลานานและขาดการตรวจหาภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

2. ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง

3. ผู้ป่วยที่มีระดับความดันโลหิตสูง

4. ผู้ป่วยมี่มีไขมันในเลือดสูง

ซึ่งอาการที่บ่งบอกถึงโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ระยะแรกส่วนมากจะไม่แสดงอาการ และไม่เจ็บปวดทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่ามีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา แต่หากปล่อยไว้จนมีโปรตีนรั่วเข้าไปในจอประสาทตา อาจทำให้มองเห็น ผิดปกติ เห็นภาพไม่ชัดเจน และเริ่มมีเลือดออกจะบดบังการมองเห็น และถ้าหากบดบังการมองเห็นทั้งหมด ผู้ป่วยจะมีภาวะตาบอดในที่สุด จึงแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน มั่นตรวจคัดกรองหาภาวะเบาหวานขึ้นตา เป็นประจำทุกปี การตรวจก็ไม่ได้ยุ่งยากและซับซ้อน หากผู้ป่วยมาพบแพทย์

1. แพทย์จะหยอดตาขยายม่านตา และรอจนม่านตาขยาย และ 2.แพทย์จะใช้กล้องส่องตรวจไปที่จอตา

หากตรวจพบมีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในระยะที่ยังไม่รุนแรง แพทย์ก็จะทำการรักษาโดยการคุมเบาหวาน คุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงจนเป็นอันตรายต่อดวงตา ซึ่งระยะนี้เป็นระยะที่ทำการรักษาได้ง่ายที่สุด แต่หากมีภาวะที่เสี่ยงต่อตาบอด เช่น โปรตีนรั่วเข้าไปในจอตามากแล้ว หรือมีเส้นเลือดผิดปกติ
มีเลือดออกในตา มีพังผืดบนจอตา จอตาหลุดลอก ก็จะมีการรักษาอยู่ 3 วิธี

1. การรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ คือการใช้แสงเลเซอร์เพื่อปิดเส้นเลือดรอยรั่วที่จอประสาทตา จะทำให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ชัดขึ้น ซึ่งอาการข้างเคียงอาจทำให้ผู้ป่วยมีการมองเห็นที่แคบลง และความสามารถในการมองเห็นในที่มืดลดลง

2. การรักษาด้วยการฉีดยาเข้าในตา ซึ่งเป็นการรักษาที่นับเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือจะทำให้จุดมองภาพชัดที่บวมยุบลงได้เร็ว การมองเห็นกลับมาฟื้นตัวเร็ว แต่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง

3. การรักษาด้วยการผ่าตัด ใช้เมื่อมีเลือดออกในน้ำวุ้นตาเรื้อรัง มีพังผืดบนจอตา จอตาหลุดลอกซึ่งไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยวิธีใด หลังการรักษาผู้ป่วยต้องดูแลตัวเอง โดยการควบคุมเบาหวานไม่ให้มีน้ำตาลในเลือดสูง ต้องมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการหลังการรักษาตามที่แพทย์นัด

การป้องกันภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาของผู้ป่วยเบาหวานที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพคุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูง ดูแลควบคุมอาหารการกิน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และมั่นตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ในแต่ละปีศูนย์จักษุ โรงพยาบาลราชวิถี ได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ป่วยที่ประสบปัญหาสุขภาพทางตามากกว่า 100,000 ราย ซึ่งศูนย์จักษุแพทย์ รพ.ราชวิถี เป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยาที่เก่าแก่ที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข เปิดดำเนินการมานานกว่า 35 ปี อบรมสร้างจักษุแพทย์ไปช่วยดูแลสุขภาพตาประชาชนทั่วประเทศ และยังเป็นศูนย์รักษาโรคตาที่ทันสมัย โดยมีอาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญทางจักษุวิทยาครบทุกสาขา โดยภายในอาคารศูนย์การแพทย์ที่จะเปิดให้บริการในกลางปี 2562 นี้ จะเปิดศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellent center) ทางจอประสาทตา และเป็นศูนย์รับส่งต่อสำหรับโรคตาที่มีความยากซับซ้อน ของกระทรวงสาธารณสุข มีซึ่งยังมีความต้องการงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์การรักษาที่ทันสมัย ครบครัน เพื่อประโยชน์ในการรักษา จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนบริจาคซื้อเครื่องมือแพทย์กับโรงพยาบาลราชวิถี โดยสามารถร่วมบริจาคได้ที่ชื่อบัญชี “เงินบริจาคของโรงพยาบาลราชวิถี” หมายเลขบัญชี 051-276128-1 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี (ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า) หรือ สอบถามโทร 02-3548108-37 ต่อ 3032 หรือกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซด์เพื่อขอรับใบเสร็จรับเงิน http://www.rajavithi.go.th

**************************************************************

  • ผู้โพสต์ :
    We_Rut
  • อัพเดทเมื่อ :
    28 พ.ย. 2018 15:46:02

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา