“แพทย์ราชวิถี” เปิดนวัตกรรมการผ่าตัดกระดูกสันหลังโก่งสำเร็จ ด้วยเทคนิคแผลเล็ก แห่งแรกของเอเชีย

ข่าวประชาสัมพันธ์

โรงพยาบาลราชวิถี โดยกลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคนิคการรักษาโรคกระดูกสันหลังคดอย่างรุนแรง ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในไทย ด้วยวิธีการผ่าตัดกระดูกสันหลังออกทั้งระดับ (Full Vertebral Column Resection) และพัฒนาวิธีการรักษาโรคข้อกระดูกสันหลังค่อมและยึดติด AS (Ankylosing Spondylitis) ด้วยเทคนิคผ่าตัดแผลเล็กได้ประสบความสำเร็จเป็นแห่งแรกในเอเชีย นับเป็นการพัฒนาเทคนิคการรักษาโรคกระดูกสันหลังผิดรูป 2 เคส ของโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อคุณภาพในการรักษา และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย

นายแพทย์อธิคม เมธาเธียร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษกลุ่มงานออร์โธปิดิกส์โรงพยาบาลราชวิถีเปิดเผยว่า “กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลราชวิถี ได้พัฒนาเทคนิคการรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังผิดรูป คือ

1.กระดูกสันหลังคดอย่างรุนแรงในเด็กด้วยวิธี Full Vertebral Column Resection และ

2.การรักษาโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด AS (Ankylosing Spondylitis)

โดยเคส 1. กระดูกสันหลังคดในเด็ก มีสาเหตุมาจากโรคระบบประสาทท้าวแสนปม และผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดดามเหล็ก แต่เกิดการหักของเหล็กที่ยึดตรึงกระดูกไว้ ทำให้กระดูกไม่เชื่อมต่อกัน ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการหลังคดโก่งอีกครั้งอย่างรุนแรง และผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขซ้ำอีกครั้ง

ผู้ป่วยได้ถูกส่งต่อมารับการรักษาที่รพ.ราชวิถี ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดด้วยวิธี Full Vertebral Column Resectionคือการตัดปล้องกระดูกสันหลังออกทั้งระดับ เพื่อให้สามารถจัดกระดูกสันหลังส่วนอื่นเข้าหาแนวปกติได้มากที่สุด

จุดเด่นความสำเร็จในการผ่าตัดครั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับผลการรักษาจากต่างประเทศคือสามารถใช้เวลาผ่าตัดสั้นกว่า - คนไข้เสียเลือดระหว่างผ่าตัดน้อยกว่าและประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากการผ่าตัดแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีพิเศษที่มีราคาสูง ซึ่งหลังผ่าตัดคนไข้จะมีกระดูกสันหลังอยู่ในแนวปกติ และหลังตรงขึ้น มีส่วนสูงเพิ่มมากขึ้น ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดและสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ เป็นการรายงานการผ่าตัดที่ประสบความสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย

และเคส 2. คือการรักษาโรคข้อกระดูกสันหลังค่อมยึดติด AS (Ankylosing Spondylitis) ด้วยเทคนิคแผลเล็ก โดยคนไข้ที่มีภาวะกระดูกสันหลังค่อมยึดติด เป็นโรคกระกดูกสันหลังอักเสบที่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันตัวเองชนิดหนึ่ง โดยผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังอักเสบ จะมีอาการปวดสะโพก ปวดหลัง
เมื่อปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน ข้อกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพกที่อักเสบจะยึดติดและเชื่อมกันเป็นกระดูกแท่งเดียวกันแนวทำให้คนไข้มีอาการหลังค่อมอย่างรุนแรง ไม่สามารถเงยหน้าหรือยืดตัวได้

โดยในอดีตการรักษากระดูกสันหลังยึดติดที่มีภาวะหลังค่อยึดติดจะผ่าตัดรักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกเพื่อปรับมุมใหม่ โดยการตัดกระดูกออกบางส่วน และปรับมุมกระดูกให้แนวกระดูกสันหลังตรงการผ่าตัดจะเปิดแผลยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตรขึ้นไป เพื่อตัดกระดูกสันหลัง และวางเหล็กเส้นตามแนวกระดูกสันหลัง ใช้เวลาผ่าตัดยาวกว่า 8-10 ชั่วโมง การผ่าตัดจะเสียเลือดมาก และพักฟื้นนาน 1-3 เดือน กว่าคนไข้จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลราชวิถี จึงได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็กขึ้น ซึ่งเป็นการผ่าตัดเปิดแผลเพียง 7-8 เซนติเมตร เพื่อทำการตัดกระดูกสันหลังออกบางส่วนและปรับมุมกระดูกร่วมกับการใส่สกรูผ่านผิวหนังเพื่อยึดตรึงกระดูกสันหลัง ทำให้ลดเวลาการผ่าตัดเหลือเพียง 3-5 ชั่วโมง การผ่าตัดด้วยวิธีแผลเล็กลงมาก คนไข้เสียจะเลือดน้อยลงและการพักฟื้นภายหลังผ่าตัดเพียง 2-3 สัปดาห์ ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ นับเป็นการรายงานความสำเร็จในการผ่าตัดแผลเล็กแก้ไขโรคกระดูกสันหลังค่อมยึดติดสำเร็จเป็นครั้งแรกในเอเชีย

ปัจจุบันกลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลราชวิถี โดยนายแพทย์อธิคม เมธาเธียร ได้ทำการผ่าตัดรักษาคนไข้เกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลังผิดรูปทั้งในเด็กและผู้ใหญ่มาแล้วมากกว่า 500 ราย อีกทั้งยังได้พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเทคนิคการรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังผิดรูป จนกลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ดังนั้นจึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมสมทบเข้ากองทุนผู้ป่วยอัมพาตจากกระดูกสันหลังบาดเจ็บ โดยสามารถร่วมบริจาคได้ที่บัญชี “มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี”ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หมายเลขบัญชี 051-2-16322-1 หรือสอบถามโทร02-354-7997-9 หรือ http://www.rajavithihospitalfoundation.org

  • ผู้โพสต์ :
    We_Rut
  • อัพเดทเมื่อ :
    8 พ.ค. 2019 16:09:37

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา