กรุงเทพฯ, 25 ธันวาคม 2560 - การีนา ออนไลน์ พาผู้เข้ารอบ 9 ทีม เข้าร่วมเวิร์คช้อป Play Test ติวเข้มโค้งสุดท้าย แนะแนวคิดและวิธีการออกแบบบอร์ดเกม ภายใต้โครงการ "ของขวัญจากพ่อ” เพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวกับแนวพระราชดำริด้านการเกษตรในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านสื่อการเรียนการสอนสมัยใหม่อย่างบอร์ดเกม ชิงเงินรางวัลกว่า 200,000 บาท พร้อมกับเป็นต้นแบบบอร์ดเกมชิ้นแรกที่จะจูงมือเยาวชนไทยทุกคนตามรอยพระราชา
การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด จองคิวผู้เข้ารอบทั้ง 9 ทีม จัดเวิร์คช็อป Play Test ติวเข้มการออกแบบบอร์ดเกมให้แต่ละทีมอย่างใกล้ชิด โดยคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงบอร์ดเกม ได้แก่ คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด คุณพนม-คุณสราวดี ศิริมงคลสกุล ผู้ก่อตั้งร้านบอร์ดเกมลานละเล่น คุณตรัง สุวรรณศิลป์ แชมป์บอร์ดเกม Catan ตัวแทนประเทศไทย และ คุณวัฒนชัย ตรีเดชา ผู้ก่อตั้งรายการ Board Game Night มาร่วมให้แนวทางการสร้างบอร์ดเกมที่มีครบทั้งความสวยงาม กลเกมที่สนุกสนาน สอดแทรกสาระความรู้ให้กับผู้เล่น ตลอดจนร่วมกิจกรรมทดลองเล่น (Play Test) ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อให้แต่ละทีมนำไปพัฒนาต่อยอดบอร์ดเกมของตนเอง ก่อนนำมาประชันกันอีกครั้งในรอบตัดเชือกในเดือนมกราคม 2561 ส่วนบรรยากาศในชั้นเรียนจะสนุกสนานแค่ไหน งานนี้การีนาเก็บภาพเบื้องหลังมาฝากเรียบร้อย
โดยผู้ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 9 ทีม ได้นำเสนอผลงานบอร์ดเกมที่สอดแทรกวิถีแนวคิดการเกษตรตามพระราชดำริฯ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
ทีม Broccoli Lab กลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่รวมตัวกันสร้างสรรค์เกม Parcel จำลองสถานการณ์ให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นคนในหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพต่างๆ และต้องเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่างๆด้วยการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่
ทีมสามออ กลุ่มนักศึกษาสาวจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชูโรง “a Field Day” บอร์ดเกมที่นำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่ในการจัดสรรที่ดินมาผนวกกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวคิดหลักของเกม
ทีม Hotto Doggu จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ออกแบบเกม “พ่อ-พา-พอ-เพียง” ให้ผู้เล่นวางแผนจัดสรรที่ดินของตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่
Cobra ทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา สร้างสรรค์เกม King’s Farm ฟาร์มที่ผู้เล่นจะสามารถถือครองที่ดินและแข่งขันกันจัดสรรที่ดินตามทฤษฎีใหม่ให้สมบูรณ์ อุปสรรคและสถานการณ์เฉพาะหน้าคือสิ่งที่ผู้เล่นต้องเผชิญ
ทีมเก้ายอด ทีมกราฟฟิกดีไซเนอร์และนักออกแบบตกแต่งร้าน นำเสนอ Monkey Cheek เกมที่ดึงเอาโครงการแก้มลิงมาเป็นธีมหลักในการดำเนินเรื่อง ผู้เล่นจะต้องสร้างทางเดินน้ำไปยังโครงการดังกล่าว โดยคำนึงถึงลักษณะพื้นที่และความเหมาะสมของชุมชนบริเวณๆต่างๆ
ทีมเปาะเปี๊ยะ ทีมสถาปนิกและวิศวกรสาวที่ร่วมกันตกผลึกไอเดียสู่ผลงาน Time to Harvest บอร์ดเกมที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวช่วยเหลือกันพลิกที่ดินเปล่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง
The Eximus Operation ทีมเฉพาะกิจที่ศิลปินและฟรีแลนซ์รวมตัวกันสร้างสรรค์ไอเดียผ่านชิ้นงาน DinDin Family เกมสำหรับครอบครัวที่ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องรับบทเป็นสมาชิกในครอบครัว และจะต้องช่วยกันจัดสรรที่ดิน บริหารจัดการ รวมถึงรับมือกับภัยพิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเกมได้อย่างราบรื่น
ต่อมาที่ Farm no.9 บอร์ดเกมที่ผ่านการกะเทาะไอเดียของสมาชิกทีม Farm no.9 จากหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะทั้งนักบัญชี นักแปลอิสระ และเจ้าของธุรกิจ สู่บอร์ดเกมที่ผู้เล่นจะสวมบทบาทเป็นผู้บริหารที่ดิน ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อพัฒนาผลผลิตและเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร ไปพร้อมกับวางกลยุทธ์ต่อสู้กับคู่แข่งในตลาด
สุดท้ายกับทีมสายฟ้า อีกหนึ่งทีมที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนจากหลายอาชีพ ทั้งวิศวกรคอมพิวเตอร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และนักวิเคราะห์ ต่างได้ปลุกปั้นเกมกระดานในชื่อ “สายฝน” ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโครงการฝนหลวง ผู้เล่นจะต้องแข่งขันกันทำปฏิบัติการฝนหลวงตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับความเดือดร้อนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
หากสนใจสามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์โครงการ Gifts from Dad หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Garena Thailand