ทีมนักพฤกษศาสตร์จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย ดร.จรัญ มากน้อย ดร.ศรายุทธ รักอาชา และดร.วรนาถ ธรรมรงค์ นักพฤกษศาสตร์จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ร่วมกับ รศ. ดร.สุรพล แสนสุข นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และรศ. ดร.ปิยะพร แสนสุข นักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ค้นพบพืชสกุลขมิ้น (Curcuma L.) วงศ์ขิง (Zingiberaceae) ชนิดใหม่ของโลก จากภาคเหนือของประเทศไทย จัดเป็นพืชถิ่นเดียวและยังเป็นพืชหายากของประเทศไทยและของโลก โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารพฤกษศาสตร์ระดับนานาชาติ Biodiversitas ปีที่ 22 ฉบับที่ 9 หน้าที่ 3910–3921 จำนวน 2 ชนิด ได้แก่
กระเจียวอรุณ ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma aruna Maknoi & Saensouk คำระบุชนิด “aruna” หมายถึงสีของดอกที่มีสีเหลืองอร่ามคล้ายกับสีในช่วงรุ่งอรุณในตอนเช้าและยังมีความหมายว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข” ที่เป็นความหมายของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบพืชชนิดนี้ การกระจายพันธุ์เฉพาะที่ป่าบริเวณเขาหินปูนในจังหวัดสุโขทัย ลักษณะเด่นคือ ดอกออกก่อนใบ เกือบทุกส่วนของพืชมีผิวเกลี้ยง ช่อดอกออกเป็นกระจุกติดกับพื้นดิน มีใบประดับ 6–12 อัน ใบประดับสีเขียวและดอกสีเหลือง ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม
ช่อม่วงพิทักษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma pitukii Maknoi, Saensouk, Rakarcha & Thammar. คำระบุชนิด “pitukii” ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ นายพิทักษ์ ปัญญาจันทร์ อดีตเจ้าหน้าที่องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ที่ทำงานสนับสนุนด้านพฤกษศาสตร์มากกว่า 25 ปี และเป็นผู้พบพืชชนิดนี้ระหว่างสำรวจความหลากหลายของพรรณไม้ในภาคเหนือของประเทศไทย การกระจายพันธุ์เฉพาะที่ป่าผลัดใบในจังหวัดลำปางและลำพูน ลักษณะเด่นคือ ดอกเกิดระหว่างซอกใบ ใบประดับมีสีม่วงอ่อนจนถึงม่วงเข้มในระยะติดดอก กลีบดอกมีสีม่วงอ่อนถึงม่วงเข้ม กลีบปากสีขาวและมีแถบสีเหลืองบริเวณกลางกลีบ ออกดอกในช่วงเดือนสิงหาคม มีการใช้ประโยชน์จากท้องถิ่น โดยนำเหง้ามารักษาอาการโรคกระเพาะและบรรเทาอาการท้องอืด รวมถึงเหง้าอ่อนและดอกนำมารับประทานเป็นผัก
ซึ่งพืชทั้ง 2 ชนิด ปัจจุบันจัดเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย มีการนำมาใช้ประโยชน์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ยาสมุนไพรและไม้ประดับ ปัจจุบันมีจำนวนประชากรน้อย เนื่องจากมีถิ่นอาศัยที่มีความจำเพาะ จึงอาจมีความเปราะบางหรือสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ควรมีการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ ซึ่งในอนาคตทีมนักวิจัยยังมีแผนที่จะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชกรรม สารสกัดทางยาและดำเนินการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนำกลับคืนถิ่นสู่ป่าธรรมชาติต่อไป
การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และยังมีพืชพรรณชนิดใหม่ๆ ที่รอการค้นพบอีกเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผืนป่าธรรมชาติกำลังถูกทำลายลงไป พืชพรรณหลายชนิดอาจสูญพันธุ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจในการศึกษาวิจัยด้านพืชและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างความรู้ให้เป็นฐานการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน การศึกษาวิจัยด้านอนุกรมวิธานพืช โดยนักพฤกษศาสตร์ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ร่วมกับนักวิชาการนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้มีการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การอนุรักษ์ขยายพันธุ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป