มูลนิธิศาลเจ้าปุนเถ่ากง-ม่า และ มูลนิธิประสาทบุญสถาน จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับ หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก, จังหวัดพิษณุโลก และ เทศบาลนครพิษณุโลก จัดงานแถลงข่าว “งานเทศกาลโคมไฟง่วนเซียว จ.พิษณุโลก ประจำปี 2562” ที่มีกำหนดจัดขึ้น ณ สวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ ระหว่างวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีน รวมถึงเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยในปีนี้จะจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ อลังการกว่าที่เคยมีมา ซึ่งได้เปิดแถลงข่าวไปแล้ว ณ เซ็นทรัลพลาซา พิษณุโลก โดยมีนายไพบูลย์ ณะบุตรจอม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธี และมีศิลปินดาราชื่อดังมาร่วมงานด้วย อาทิ โบว์ เมลดา,มุกดา นรินทร์รักษ์,ยูโร ยศวรรธน์,อ้น กรกฏ, CD กันต์ธีร์ และ ปุ้ม เปรมสุดา พร้อมด้วย ศุภดิศ เลการัตน์ แฟนพันธุ์แท้เทพเจ้าจีน ปี 2557
นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม รองผู้ว่าราชการ จ.พิษณุโลก ได้กล่าวเชิญชวน ให้ประชาชนมาเที่ยวงานนี้เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของ จ.พิษณุโลก และมั่นใจว่า ความยิ่งใหญ่ของงานจะสร้างความประทับใจให้กับทุกคน
นางมนสินีย์ วัฒนกุลชัย ประธานมูลนิธิปุนเถ่ากง-ม่า และประธานมูลนิธิประสาทบุญสถาน จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นประธานในการจัดงานครั้งนี้ ได้กล่าวถึงแนวคิดของการจัดงานว่า ในปีนี้เรามีความตั้งใจ ที่จะจัดงานเทศกาลโคมไฟง่วนเซียว ให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะตัวดิฉันเองเป็นคนพิษณุโลก เลยคิดว่าถึงเวลาอันสมควรแล้ว ที่จะทำให้งานเทศกาลนี้ เป็นเอกลักษณ์ของชาวพิษณุโลก ซึ่งในปีนี้ เราจัดงานติดต่อกันถึง 5 วัน โดยมีพิธีเปิดงานสุดยิ่งใหญ่ มีโคมไฟยักษ์ รวมถึงโคมไฟต่าง ๆ ที่สามารถมาเที่ยวชมและถ่ายภาพ พร้อมกันนี้ทุกวันยังมีคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบ มีโชว์ ศิลปะต่าง ๆ ของจีน รวมถึงการออกร้านของดี ของอร่อยเมืองพิษณุโลกกว่า 200 ร้าน ทั้งหมดล้วนเป็นความตั้งใจที่จะทำให้งานเทศกาลครั้งนี้เป็นที่จดจำ และสร้างความประทับใจต่อไป รวมถึงการผลักดันให้เป็นเทศกาลท่องเที่ยวระดับประเทศอีกด้วย
จากนั้นยังได้มีการมอบทุน ให้กับ 7 โรงเรียน และ 2 คณะจากมหาวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นทุนในการตกแต่งโคมไฟ เพื่อส่งเข้าประกวดในวันงาน ได้แก่ รร.อนุบาลพิษณุโลก, รร.พิษณุโลกพิทยาคม, รร.สิ่นหมิ่น, รร.สาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร, รร.เตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือ, รร.เฉลิมขวัญสตรี, รร.จ่าการบุญ, มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะวิทยาลัยนานาชาติ และ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะสังคมศาสตร์ พร้อมนำองค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งได้ผ่านการคัดเลือกจากประเพณีโบราณ มาเปิดเผยให้ทุกคนได้พบเป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ภายในงานนอกจากจะตื่นตากับโคมไฟตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟยักษ์ อุโมงค์โคมไฟ สวนตุ๊กตาโคมไฟแล้ว ยังได้ชมกิจกรรมมากมาย ทั้งการประกวดการตกแต่งประดับโคมไฟ, การประกวดรถแห่โคมไฟ, การประกวดหนูน้อย เทพธิดา และอาซ้อง่วนเซียว พร้อมกันนี้ทุกค่ำคืนยังมีการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดัง ก๊อท จักรพันธ์, นนท์ ธนนท์, ก้อง สหรัถ, Urboy TJ, Mindset & DoubleP, มิว MEYOU, วง MEAN และ แม็กซ์ เจนมานะ ซึ่งในวันเปิดงาน มีพระเอกชื่อดัง ณเดชน์ คูกิมิยะ มาร่วมให้ความบันเทิง โดยมี ปนัดดา วงษ์ผู้ดี และ เปรมณัช สุวรรณานนท์ ทำหน้าที่พิธีกร งานนี้ผู้เข้าชมยังได้ร่วมลุ้นรางวัลเพราะมีการแจกโชคทองทุกวัน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Fanpage : เทศกาลโคมไฟง่วนเซียว จังหวัดพิษณุโลก 2562
ประวัติและความเป็นมา “เทศกาลโคมไฟง่วนเซียว”
เทศกาลโคมไฟง่วนเซียว หรือ เทศกาลหยวนเซียว ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของจีนนี้ มีมากกว่า 2,000 ปี โดยตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน จะนับเอาวันที่พระอาทิตย์ โลกและพระจันทร์มาอยู่ในระนาบเดียวกันเป็นวันแรกของปี หรือขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งในสมัยโบราณจะเรียกเดือนอ้ายว่า “หยวน” (元) ส่วนคำว่า”เซียว”(宵) หมายถึงกลางคืน เทศกาลนี้จึงหมายถึงคืนที่พระจันทร์เต็มดวงเป็นครั้งแรกของปี (วันตรุษจีนคือวันปีใหม่ของจีน)
ตำนาน "หยวนเซียว"
ว่ากันว่าเมื่อนานมาแล้ว เป็นยุคที่มีสัตว์ร้ายมากมายเที่ยวทำร้ายผู้คน ทำให้มนุษย์ต้องรวมตัวกันต่อสู้ กระทั่งวันหนึ่ง ได้มีวิหคสวรรค์บินหลงมายังโลก แล้วถูกบรรดานายพรานพลั้งมือฆ่าตาย จนทำให้เง็กเซียนฮ่องเต้ทรงพิโรธ มีราชโองการให้เหล่าขุนพลสวรรค์เดินทางมาเพื่อปล่อยเพลิงเผาทำลายมนุษย์และทรัพย์สินทั้งหลายให้หมดสิ้น ในคืน 15 ค่ำ เดือนอ้าย
ในครั้งนั้นธิดาของเง็กเซียนฮ่องเต้เกิดสงสาร ไม่อาจทนเห็นผู้คนต้องประสบเภทภัย จึงแอบขี่เมฆบินลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อเตือนภัยล่วงหน้า เมื่อนั้นจึงมีผู้เฒ่าคนหนึ่งได้เสนอแผนการว่า ในคืนวัน 14 ค่ำ -16 ค่ำเดือนอ้าย ให้ทุกคนแขวนโคมประดับ จุดประทัดเสียงดัง พร้อมกับจุดพลุ เช่นนี้แล้ว เง็กเซียนฮ่องเต้จะเข้าใจว่าคนบนโลกถูกเผากันหมดแล้ว ทุกคนต่างเห็นด้วย
ในวัน 15 ค่ำเมื่อเง็กเซียนฮ่องเต้ทรงทอดพระเนตรลงมา ทรงเห็นว่าบนโลกนอกจากแดงเถือกไปหมดแล้ว ยังมีเสียงดังโหวกเหวก ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน จึงคิดว่าโลกถูกไฟเผาไปแล้ว และเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ทุกปีเมื่อถึง 15 ค่ำเดือนอ้าย ทุก ๆ บ้านก็จะมีการแขวนโคมไฟ และจุดประทัดเพื่อระลึกถึงวันดังกล่าว
บ้างก็ว่า เทศกาลหยวนเซียว เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ก่อนคริสตกาล 206 ปี- ค.ศ.25) หลังจากที่มีการปราบกบฏเสร็จสิ้น ฮ่องเต้ฮั่นเหวินตี้รู้สึกปิติยินดีกับความสงบสุขที่เกิดขึ้น จึงต้องการจะจัดงานฉลองร่วมกับประชาชนขึ้น ในวัน 15 ค่ำเดือนอ้ายนี้
ส่วนประเพณีการชมโคมไฟ เล่ากันว่าเริ่มขึ้นเมื่อ 1,900 ปีที่แล้ว ในยุคของจักรพรรดิหมิงตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก จักรพรรดิองค์นี้มีความศรัทธาในศาสนาพุทธ และทรงได้ยินมาว่าในวันขึ้น 15 ค่ำของเดือนอ้าย พระสงฆ์จะเข้าไปสักการะพระธาตุและจุดประทีปบูชาเพื่อแสดงความศรัทธา ดังนั้น จึงมีพระราชบัญชาให้วัดและวัง รวมไปถึงประชาชนทำการแขวนโคมไฟ จนเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมชมโคมไฟอย่างแพร่หลาย
มาถึงราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ประเพณีการชมโคมไฟก็ยิ่งมีความพิถีพิถันมากขึ้น ภายในพระราชวัง หรือตามท้องถิ่น ทุกหนทุกแห่งล้วนมีการแขวนโคมไฟ ทั้งยังพัฒนาไปเป็นตึกโคมไฟ ต้นไม้โคมไฟ วงล้อโคมไฟ ในยุคนี้ ประเพณีการชมโคมไฟมีต่อเนื่องกันถึง 3 วัน และเมื่อล่วงเข้าราชวงศ์ชิง ก็มีการเพิ่มการเชิดสิงโต เชิดมังกร แข่งเรือเข้าไป จนทำให้เทศกาลนี้มีสีสันมากยิ่งขึ้น
วันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีนเป็นเทศกาลหยวนเซียว ซึ่งเป็นเทศกาลเก่าแก่อีกเทศกาลหนึ่งของจีน และเป็นเทศกาลที่ต่อจากเทศกาลตรุษจีน คืนของเทศกาลหยวนเซียวเป็นคืนแรกของปีใหม่ที่เห็นพระจันทร์เต็มดวง คืนนั้น มีประเพณีแขวนโคมไฟ ดังนั้น เทศกาลหยวนเซียวจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “เทศกาลโคมไฟ” การชมโคมไฟและการกินขนมหยวนเซียวเป็นกิจกรรมสำคัญของเทศกาลหยวนเซียว เหตุใดจึงต้องแขวนโคมไฟในเทศกาลหยวนเซียว
เล่ากันว่า เมื่อปี 180 ก่อนคริสตกาล จักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ของราชวงศ์ฮั่นขึ้นครองราชย์ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย เพื่อฉลองเรื่องนี้ จักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ทรงกำหนดวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายเป็นเทศกาลโคมไฟ พอถึงคืนนั้น พระองค์จะเสด็จออกจากวังไปร่วมสนุกกับประชาชน วันนั้น ไม่ว่าบ้านเล็กบ้านใหญ่ ตรอกซอกซอยล้วนแขวนโคมไฟหลากสีที่มีรูปลักษณะต่าง ๆ ให้ชมกัน ถึงปี 104 ก่อนคริสตกาล เทศกาลหยวนเซียวได้กำหนดเป็นเทศกาลสำคัญแห่งชาติ ทำให้การฉลองเทศกาลหยวนเซียวมีขนาดใหญ่โตยิ่งขึ้น ตามข้อกำหนด สถานที่สาธารณะต่าง ๆ และทุกบ้านต้องประดับโคมไฟ โดยเฉพาะย่านการค้าและศูนย์วัฒนธรรมต้องจัดงานโคมไฟขนาดใหญ่ ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย เด็กหรือผู้เฒ่าล้วนจะไปชมโคมไฟ ทายปริศนาโคมไฟและเชิดโคมไฟมังกรตลอดคืน ต่อมา ประเพณีนี้ได้สืบทอดกันมาทุกยุคทุกสมัย ตามการบันทึก ปีค.ศ. 731 สมัยราชวงศ์ถังเคยทำภูเขาโคมไฟสูง 7 เมตรที่ประกอบด้วยโคมไฟกว่า 5 หมื่นดวงตั้งอยู่ในเมืองฉางอัน เมืองหลวงของราชวงศ์ถัง
โคมไฟที่แขวนอวดในเทศกาลหยวนเซียวส่วนมากจะทำด้วยกระดาษสีต่างๆ จะทำเป็นรูปภูเขา สิ่งก่อสร้าง คน ดอกไม้ นกและสัตว์ชนิดต่าง ๆ โคมไฟ “โจ่วหม่าเติง” เป็นโคมไฟที่มีเอกลักษณ์ของจีนอย่างเด่นชัด โคมเวียน “โจ่วหม่าเติง” เป็นของเล่นชนิดหนึ่ง มีประวัติกว่าพันปีแล้ว ภายในโคมไฟได้ติดตั้งกงล้อ พอจุดเทียนในโคมไฟ กระแสอากาศที่ได้รับความร้อนจากเปลวเทียนจะดันกงล้อที่ติดกระดาษรูปคนขี่ม้า ในอิริยาบถต่างๆหมุนไปตามกงล้อ เงาของรูปคนขี่ม้าจะสะท้อนอยู่บนกระดาษชั้นนอกของโคมไฟ มองแล้วเสมือนม้ากำลังวิ่งห้อตะบึง
เทศกาลแห่งคู่รัก
นอกจากนั้น กว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา เทศกาลหยวนเซียว โดยนัยยะแล้วยังเป็นเทศกาลแห่งคู่รักอีกด้วย เนื่องจากสตรีในอดีต ที่ส่วนใหญ่จะเก็บตัวอยู่แต่ในเรือนชาน ไม่ค่อยมาร่วมกิจกรรมนอกบ้าน ในเทศกาลนี้ จะได้มีโอกาสออกมาชมการประดับโคมไฟ เล่นทายปริศนา ทำให้หนุ่มสาวทั้งหลาย มีโอกาสมองหาและเลือกคู่ครองในอนาคตของตนได้
บัวลอย ขนมที่นิยมทานในเทศกาล เป็นสัญลักษณ์ของความปรองดอง
สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ ในงานเทศกาลง่วนเซียวหรือ หยวนเซียว คือการรับประทานบัวลอยที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า ภายในมีไส้ทั้งไส้หวานและไส้เค็ม ปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วนำไปต้มหรือนำไปทอด สมัยราชวงศ์ซ่ง ประชาชนนิยมกินขนมพื้นบ้านชนิดหนึ่งในเทศกาลโคมไฟ ขนมชนิดนี้มีรูปกลม ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว ข้างในมีไส้หวาน ภาคเหนือของจีนเรียกขนมชนิดนี้ว่า “หยวนเซียว” ส่วนภาคใต้เรียก “ทังหยวน” หรือ “ทังถวน” ปัจจุบัน ขนมหยวนเซียวมีไส้หลายสิบชนิด เช่น ซันจา พุทรา ถั่วแดง โหงวยิ้น งา เนยและช็อกโกแลต เป็นต้น ในยุคแรก ชาวจีนเรียกขนมชนิดนี้ว่า浮圆子ฝูหยวนจื่อ (,浮-ลอย 圆子-ลูกกลมๆ) ต่อมาก็เรียกว่า 汤团ทังถวน(汤-น้ำแกง团-ลูกกลมๆ ) หรือ 汤圆ทังหยวน โดยมีความหมายเหมือนกัน ทั้งออกเสียงใกล้เคียงกัน และ 团圆เมื่อรวมกันแล้ว ก็ได้ความหมายถึงการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของแต่ละเทศกาลบนแดนมังกร
ทั้งนี้ เนื่องด้วยการรับประทานบัวลอยในคืนหยวนเซียว ปัจจุบันจึงมีการเรียกบัวลอยว่า หยวนเซียวด้วยเช่นกัน ดังนั้น คำว่าหยวนเซียวจึงพัฒนาจนมี 2 ความหมาย หนึ่งคือชื่อเทศกาล สองหมายถึงบัวลอยนั่นเอง
นอกจากการชมโคมไฟและกินขนมหยวนเซียวแล้ว เทศกาลหยวนเซียวยังมีกิจกรรมการละเล่นต่าง ๆ มากมาย เช่น ระบำไม้ต่อขา รำพัด เชิดสิงโต โดยเฉพาะการเชิดสิงโต มีเพียงแต่ในประเทศจีนเท่านั้น และในการเชิดสิงโต ขณะเชิดสิงโตนั้น จะมีดนตรีพื้นเมืองของจีนเล่นประกอบด้วย ไม่ว่าผู้แสดงหรือผู้ชมต่างสนุกกันถ้วนหน้า ทำให้บรรยากาศของเทศกาลหยวนเซียวคึกคักยิ่งขึ้น
ประวัติศาลเจ้าปุนเถ่ากง-ม่า จังหวัดพิษณุโลก
ศาลเจ้าปุนเถ่ากง - ม่า ตั้งอยู่ริมถนนสุรสีห์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ศาลเจ้าปุนเถ่ากง - ม่า เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว ภายในอาคารมีแท่นตั้งวิหารไม้สักทอง 3 หลัง วิหารองค์ประธาน ประดิษฐานองค์ปุนเถ่ากง - ม่า ทั้งสองพระองค์หล่อขึ้นด้วยทองสัมฤทธิ์ และวิหารด้านซ้ายมือ ประดิษฐานองค์ไฉ่ซิ้งเอี๊ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภรูปลักษณ์ยังเป็นมิติเดิมที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่เมื่อครั้งศาลเจ้า เช่นเดียวกับองค์แป๊ะกง ซึ่งประดิษฐานในวิหารไม้สักทองด้านขวามือ ส่วนปุนเถ่ากง - ม่าองค์เดิมมีมาตั้งแต่ยุคสร้างศาลเจ้าประดิษฐานอยู่บนโต๊ะบูชาใหญ่ในห้องโถงเพื่อสาธุชนมาสักการะบูชาขอพร
ปุนเถ่ากง-ม่า
ปุนเถ่ากง - ม่า เป็นเทพเจ้าจีนแหล่งกำเนิดอยู่ที่ประเทศจีน ทางราชการไทยเรียกว่า “องค์เทพารักษ์ประจำท้องถิ่น” ศาลเจ้าปุนเถ่ากง - ม่า เป็นจุดศูนย์รวมจิตวิญญาณของชาวจีน, ชาวไทยเชื้อสายจีน และศาสนิกชน ที่มีความเชื่อเคารพศรัทธา ในพลังอันศักดิ์สิทธิ์และปาฏิหาริย์ เมื่อบ้านใดมีเหตุเกิดขึ้น เช่นในบ้านใดที่มีการให้กำเนิดบุตรหรือ มีผู้ใดเจ็บไข้ป่วย หรือมีคนตาย ผู้คนที่เกี่ยวข้องจะมาจุดธูปขอพรขอความปกปักรักษา เมื่อคนในบ้านใดจะเดินทางไกลหรือขอเลื่อนชั้นยศศักดิ์ ตำแหน่งหน้าที่การงาน การเรียนก็มาบวงสรวงร้องขอให้ช่วยเหลือให้ประสบความสำเร็จตามปรารถนา ส่วนปศุสัตว์บ้านใดเจ็บป่วยเป็นโรคก็จะมาขอขี้ธูปในกระถางไปผสมอาหารให้กินเป็นทิพยโอสถแก้ไข้ตามสถานการณ์สังคมในยุคนั้นๆเพราะสมัยก่อนวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังไม่เข้าถึงชนบทดังปัจจุบันนี้
ตราบเมื่อ พ.ศ. 2558 ปีนักษัตร ปีระกา และ พ.ศ. 2561 ปีนักษัตร ปีจอเมื่อวันตรุษจีนชิวอิก ผ่านพ้นไป 15 วันเป็นวันสารทใหญ่ วันเพ็ญเทศกาลง่วนเชียว คณะกรรมการได้มีพิธีทำการปัวะปวยเสี่ยงทายต่อพระพักตร์องค์ปุนเถ่ากง – ม่า เลือกคณะกรรมการบริหารวาระสมัยตามประเพณี ผลปรากฏว่า นางมนสินีย์ วัฒนสกุลชัย และคณะกรรมการได้รับเลือกทั้ง 2 สมัยต่อเนื่องสมัยละ 2 ปี ในสมัยแรก พ.ศ. 2558 ประธานศาลเจ้า นางมนสินีย์ วัฒนกุลชัย ได้นำคณะกรรมการร่วมกันพัฒนาศาลเจ้าปุนเถ่ากง – ม่า โดยนำศาลเจ้าปุนเถ่ากง – ม่า ไปยื่นจดทะเบียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเป็นนิติบุคคลในนาม “มูลนิธิปุนเถ่ากง – ม่า จ.พิษณุโลก” ซึ่งได้รับใบอนุญาตเลขที่ 105/2560ลว. 4 เมษายน 2560 เรียบร้อยแล้ว
ต่อมานางมนสินีย์ วัฒนกุลชัย ได้ดำเนินการติดต่อขอซื้อที่ดินด้านทิศตะวันตกของศาลเจ้า ซึ่งนางนงลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์ เจ้าของที่ดิน ในราคา 8 ล้านบาท เมื่อได้เจรจาต่อรองกันแล้ว นางนงลักษณ์ ยื่นราคา 8 ล้านบาท แต่ขอรับเงิน 5 ล้านบาทเท่านั้น เงินส่วนต่าง 3 ล้านบาท นางนงลักษณ์ ขอเป็นเงินทำบุญบริจาคสร้างศาลเจ้าปุนเถ่ากง -ม่า หลังใหม่ ซึ่งจะเกิดขึ้นในโอกาสต่อไป เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้ว จึงนัดจ่ายเงินซื้อขายกันโดยการจดทะเบียนนิติกรรม ผู้ถือกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวถูกต้องเรียบร้อยทุกประการ ต่อมามูลนิธิปุนเถ่ากง – ม่า ได้ก่อสร้างอาคารศาลเจ้าหลังใหม่ ผู้รับจ้างได้ดำเนินการก่อสร้างตามขั้นตอนแห่งสัญญาแล้ว ปัจจุบันยังอยู่ในสัญญาดำเนินการก่อสร้างต่อไป