“เส้นทางเศรษฐกิจ 5 ปีที่ผ่านมา” บ้านถวาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่

เอสเอ็มอี โอทอป

หมู่บ้านถวายเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 300 ปี ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในอดีตบ้านถวายเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก แต่เมื่อหมู่บ้านประสบภาวะขาดแคลนน้ำและฝนแล้งส่งผลให้เศรษฐกิจในหมู่บ้านตกต่ำ ชาวบ้านจึงเริ่มทยอยเดินทางออกจากหมู่บ้านไปประกอบอาชีพอื่นๆ ในจำนวนนี้ก็มีชาวบ้านถวาย คือ พ่อใจมา อิ่นแก้ว พ่อหนานแดง พันธุสา และพ่อเฮือน พันธุศาสตร์ ทั้งสามท่านได้เดินทางไปรับจ้างทำงานในตัวเมืองเช่นกัน เนื่องจากในสมัยนั้นการเดินทางเข้าไปยังตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ทำได้ค่อนข้างยาก ท่านทั้งสามจึงต้องปั่นจักรยานเพื่อเดินทางเข้าไปยังตัวเมือง รวมทั้งเมื่อมีงานแกะสลักไม้เข้ามามากขึ้นชาวบ้านทั้งสามท่านจึงได้ขอนำงานแกะสลักมายังบ้านเกิด โดยมีญาติพี่น้องเข้ามาช่วยทำงานเป็นลูกมือ ในระยะต่อมาได้มีกลุ่มสตรีในหมู่บ้าน นำโดยคุณนงคราญ อุปโยคิน ได้เดินทางเข้าไปในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมในด้านอื่นๆ ณ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อเกิดความชำนาญจึงได้นำทักษะนั้นเข้ามาผสมผสานกับงานแกะสลักไม้ในหมู่บ้าน ทำให้เกิดงานหัตถกรรมที่มีความงดงามและมีเอกลักษณ์ เมื่องานหัตถกรรมที่ถูกรังสรรค์โดยคนในหมู่บ้านนั้นมีมากขึ้น ชาวบ้านก็เริ่มที่จะมีการแสดงผลงานของตนบริเวณหน้าบ้านของตน ทำให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้ชื่นชม และได้เล่าขานในความประณีตงดงามของไม้แกะสลักของบ้านถวาย จนกระทั่งเริ่มมีนักท่องเที่ยวและพ่อค้าเริ่มเดินทางเข้ามายังหมู่บ้านถวายเพื่อเลือกซื้อ และเข้ามาชมความงดงามของงานไม้แกะสลักที่ชาวบ้านถวายได้สรรสร้างขึ้นมาด้วยใจรัก

แต่นั่นเป็นประวัติอันยาวนานของบ้านถวายที่อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่มานาน จนถึงตอนนี้ที่ยุคเศรษฐกิจและโลกได้หมุนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งขยับก้าวเร็วขึ้นในทุกๆวันทางทีมข่าวจึงเข้าสอบถามร้านต่างๆที่อยู่ในหมู่บ้านถวายแห่งนี้ว่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและแนวโน้มของธุรกิจในอนาคตที่จะเกิดขึ้น

เริ่มจากร้านแรก “ร้านเอกลักษณ์” เป็นร้านขายของตกแต่งบ้านที่ทำมานานมากกว่า10ปี มีโรงงานเป็นของตัวเองและเปิดหน้าร้านอยู่บ้านถวายทางร้านให้สัมภาษณ์กับทางทีมข่าวถึงเศรษฐกิจเมื่อ 5ปีที่ผ่านมาว่า “มันแล้วแต่บางเดือนแล้วแต่ช่วง อาศัยหน้าHigh Seasonเอา และทางร้านก็อยู่ได้เพราะอาศัยทำขายส่งไม่ได้เน้นขายปลีกหน้าร้าน หน้าร้านเป็นเพียงแค่เหมือนโชว์รูมให้ลูกค้าเลือกสินค้าเท่านั้น ไม่ได้เน้นขายปลีกมากนัก ลูกค้าส่วนใหญ่ก็มักจะเอาไปขายต่อบ้าง ไม่ก็นำไปตกแต่งร้านอาหารร้านกาแฟที่ลูกค้าทำ ซึ่งทางร้านเปิดมานานมากและลูกค้าส่วนใหญ่ก็รู้จักกันปากต่อปากอยู่แล้ว จึงมีฐานลูกค้า เลยไม่ได้กังวลอะไรมากนักเพราะมีออเดอร์มาตลอดส่งทั้งไทยและต่างประเทศ” ทางทีมงานได้ลองถามเกี่ยวกับผลกระทบจากโลกออนไลน์และการปรับตัวเพิ่มเติม ทางร้านได้ตอบว่า “โลกออนไลน์มันมีผลทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีสำหรับลูกค้าก็คือการที่ลูกค้าสามารถเช็คราคาได้เลย ส่วนทางร้านนั้นเป็นร้านขายส่งอยู่แล้วจึงไม่ได้มีผลกระทบมากนัก ลูกค้าส่วนใหญ่ที่สั่งไปก็เอาไปขายออนไลน์ต่อนั่นแหละ ทางร้านไม่ได้ตีแบรนด์ร้านและลูกค้าบางรายก็เอาไปตีแบรนด์เป็นของตัวเองได้เลย ส่วนอนาคตที่จะทำต่อไปนั้นก็คงเปลี่ยนเป็นทำตามออเดอร์ตามใจลูกค้ามากกว่าทำตามรูปแบบตัวเองมาวางขาย” ซึ่งสะท้อนให้เห็นคร่าวๆได้ว่าเศรษฐกิจนั้นไม่ได้มีผลกระทบกับร้านเอกลักษณ์มากนัก เพราะร้านก็พยายามเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและเศรษฐกิจตลอดไม่ได้ย่ำอยู่กับที่เพื่อรอคนมาซื้อเหมือนเมื่อก่อน

ส่วนอีกร้านเป็นร้านหัตถกรรมทำมือแต่ทางร้านขอสงวนชื่อร้านกล่าวว่าเปิดมานานตั้งแต่ปี46 ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวว่า เศรษฐกิจไม่ดีเลยตั้งแต่5 ปีที่ผ่านมาอาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจในประเทศเริ่มชะลอตัว ทำให้ไม่ค่อยมีการซื้อขายเหมือนแต่เดิม ลูกค้าชาวต่างชาติก็ลดลง ยิ่งช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ทางร้านแทบไม่มีออเดอร์ในช่วงคริสมาสเลย ตรุษจีนก็ยังไม่มีออเดอร์เข้า ซึ่งร้านค้าส่วนใหญ่น่าจะเป็นอย่างนี้ เมื่อก่อนทางร้านไปออกงานที่กรุงเทพฯ บ่อย แพคของส่งทุกวัน ในหมู่บ้านถวายแทบไม่มีที่จอดรถ บรรยากาศครึกครื้นตั้งแต่เช้า ขายดีตลอดทั้งวัน แม้แต่ร้านขายอาหารและเครื่องดื่มก็ยังขายดีไปด้วย แต่เดี๋ยวนี้บรรยากาศเงียบเหงา แทบไม่มีนักท่องเที่ยวและลูกค้า แยกไม่ออกว่าช่วงไหนLow Season ช่วงไหนHigh Season หลายร้านอยู่ไม่ได้จึงต้องปิดกิจการไป ส่วนผลกระทบจากโลกออนไลน์และการปรับตัวเพิ่มเติม ทางร้านได้กล่าวว่ามีบ้าง เมื่อก่อนยังไม่มีโลกออนไลน์ก็โฆษณาตามหนังสือพิมพ์อยู่ แต่ที่ร้านไม่ขายออนไลน์เพราะต้องบวกค่าขนส่งแล้วก็หักค่านู้นนี่เยอะ กำไรเหลือน้อยเลยไม่ทำ แต่ก็ยอมรับว่าทางออนไลน์คนซื้อเยอะเพราะง่าย ร้านจึงใช้วิธีการขายส่งแบบเดิมไป ส่วนอนาคตก็คงต้องรอดูเศรษฐกิจหลังจากนี้แม้จะมีความหวังอยู่บ้าง ส่วนตอนนี้ก็ประคับประคองธุรกิจแบบนี้ไปก่อน

แม้เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะมีผลกระทบกับทุกธุรกิจไม่เว้นแต่งานหัตกรรมพื้นบ้านที่เป็นธุรกิจท้องถิ่น ยุค5ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อหมู่บ้านถวายอย่างชัดเจน และหนทางการอยู่รอดในยุคที่หมุนไปอย่างรวดเร็วก็คงไม่พ้นการพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ๆและการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ยิ่งใครปรับตัวไวก็ยิ่งได้เปรียบยิ่งไปยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ก็คงทำให้ระยะทางของธุรกิจสั้นลงเรื่อยๆ

เรื่อง/ภาพ : นายอัฐษฎางค์ เปลวันทะ,นายพีรพล สัยเกตุ นักศึกษาวิชาการสื่อข่าวและการเขียนข่าว ภาคเสาร์-อาทิตย์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่

  • ผู้โพสต์ :
    comman
  • อัพเดทเมื่อ :
    14 เม.ย. 2019 19:10:28

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา