ผู้จัด-กรรมการ “หนูน้อยวัฒนธรรม วิถีใต้ วิถีไทย ๒๕๖๒” เผยกลยุทธ์สร้างความสำเร็จบนเวทีการประกวด

แม่และเด็ก

นับเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ สำหรับการจัดประกวด “หนูน้อยวัฒนธรรม วิถีใต้ วิถีไทย ๒๕๖๒” ซึ่งได้จัดไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ชั้น ๒ ห้างสหไทย การ์เด้น พลาซ่า สุราษฎร์ธานี สร้างสรรค์โดย Kunlaya model ร่วมกับ บริษัท 108 พันล้าน จำกัด,ห้างสหไทย การ์เด้น พลาซ่า สุราษฎร์ธานี และ รายการจ๊ะทิงจาตะลอนทัวร์ ดำเนินรายการโดย คุณลูกน้ำ-จุฏิญาณ ธนะภาชน์ และ คุณเอก-วัชรพงษ์ คันธินทระ

คุณนี-กัลยา พลอยมี ผู้อำนวยการ Kunlaya model กล่าวว่า งานประกวด “หนูน้อยวัฒนธรรม วิถีใต้ วิถีไทย ๒๕๖๒” (ราตรีปาเต๊ะ) เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้แสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ เช่น การเดินแบบ,การแต่งกาย รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างสมาชิกในครอบครัว ตลอดจนการปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้าง นอกจากนี้ยังเป็นทูตประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมวิถีใต้

“งานจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีไม่ได้เลย หากขาดผู้ให้การสนับสนุนจากทุกฝ่าย รวมทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้ให้ความไว้วางใจส่งบุตรหลานเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงบรรยากาศที่อบอุ่น เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของสมาชิกในครอบครัวหรือในกลุ่ม”

คุณน้ำ-สลิล ปัญจคุณาธร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ห้างสหไทย การ์เด้น พลาซ่า สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายหลักของห้างฯคือ การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม การมีส่วนร่วมในสังคม สำหรับการจัดประกวด “หนูน้อยวัฒนธรรม วิถีใต้ วิถีไทย ๒๕๖๒” มีความสอดคล้องกับนโยบายของห้างฯ ดังนั้นเราจึงให้การส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเต็มที่

“การทำกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชนเท่ากับว่าเราได้มีส่วนร่วมในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่ดีให้กับประเทศชาติในอนาคต อยากให้เด็กทุกคนเมื่อได้รับโอกาสและเวลาที่ดีจากผู้ใหญ่แล้วนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชีวิตที่ยาวไกล แต่ทั้งนี้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็ควรต้องดูแลบุตรหลานทั้งกายและใจให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและคุณค่าสืบต่อไป”

คุณจิม-กฤต สุวรรณวิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ร้อยแปดพันล้าน ออกาไนซ์ จำกัด และ ประธานผู้ก่อตั้ง ชมรมปันน้ำใจอุ่นใอรัก กล่าวว่า ศักยภาพของเด็กไทยในยุคนี้มีเยอะมาก ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันดึงศักยภาพของเด็ก ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ต้องส่งเสริม ต้องสนับสนุน และให้กำลังใจกับเด็ก ๆ พร้อมชี้แนะในสิ่งที่ถูกต้องมีความเหมาะสมกับวัยของเด็ก

“สำหรับการประกวดเป็นเวทีหนึ่งที่ให้เด็ก ๆได้แสดงความสามารถที่ตนเองถนัดให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ขอให้เก็บเกี่ยวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม”

คุณอร-อรอนงค์ ปัญญาวงศ์ นางสาวไทย ประจำปี 2535 ประธานคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า เด็กมีความน่ารักตามแบบฉบับของแต่ละคน แต่สิ่งที่อยากจะฝากบอกพ่อแม่ ผู้ปกครองคือ อย่าเอาความรู้สึกของตนเองไปใส่ให้เด็ก เพราะเด็กสมัยนี้เขามีความคิดความอ่าน หากเป็นสิ่งที่เด็กรักและชอบด้วยก็ดีไป แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ ถ้าหากไม่ใช่จะเป็นการทำร้ายเด็ก เด็กจะเกิดแรงกดดัน ทำให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง บางครั้งดูเกิดเด็กไป

“ตนเองมีลูกจะเข้าใจความรู้ของพ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นอย่างดี อยากให้เต็มเติมในสิ่งที่ดีและสร้างสรรค์ให้กับเด็ก ๆ ให้เขามีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ชีวิต มองเขาเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตและจิตใจ ไม่ใช่เป็นหุ่นยนต์ที่จะบังคับและป้อนโปรแกรมให้ทำตามคำสั่ง”

คุณหนุ่ม-นันท์นภัทร เจิมจุติธรรม (กรรมการ) กูรูนางงามและผู้เชี่ยวชาญการประกวด กล่าวว่า เวลารับเชิญให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดเด็ก ๆ สิ่งที่จะพิจารณาดูเป็นพิเศษคือ ความเป็นธรรมชาติ การปฏิบัติตัวที่เหมาะสมกับวัย ผู้ฝึกสอนบางคนชอบใส่จริตผู้ใหญ่ให้กับเด็ก จึงทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติดูขัดตา

“สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากบอกผู้ใหญ่คือ ต้องสอนเด็กให้ รู้จักแพ้ให้เป็น และ ชนะให้เป็น หลายครั้งที่เห็นแล้วไม่สบายใจคือ การสอนให้ลูกแพ้ไม่เป็น ไม่ยอมรับความจริง จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงได้”

คุณบ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ (กรรมการ) รองบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวบางกอกทูเดย์และโค้ชสอนด้านการแสดง กล่าวว่า ในการประกวดแต่ละเวทีแต่ละครั้งสิ่งสำคัญคือ ต้องทำการบ้าน เพื่อจะได้ทราบว่า วัตถุประสงค์ คุณสมบัติ กฎ กติกา มารยาท และเงื่อนไขต่าง ๆ ตัวผู้เข้าประกวดเองสามารถตอบโจทย์ที่เวทีนั้น ๆ ได้มั้ย แต่ถ้าเป็นเด็ก ๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองก็ต้องคอยให้คำแนะนำ ไม่ใช่เลยตามเลย

“การประกวดก็เหมือนกับการลงแข่งขันกีฬา ต้องฝึกซ้อมเยอะๆ อย่าฟังอย่างเดียวแต่ไม่เคยลงมือทำ ให้มีความสม่ำเสมอ มีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ให้พลาดน้อยที่สุด ความสำเร็จก็จะเข้าใกล้เรามากที่สุด”

คุณดวงใจ ธรรมบำรุง (กรรมการ) เซเลบและผู้สื่อข่าวพิเศษ หนังสือพิมพ์ทันใจนิว สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่ภาคใต้ ต้องยอมรับว่า เด็กใต้มีศักยภาพสูงมาก พ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้การส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพียงแต่ขาดโอกาสดี ๆ ที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น การที่มีการจัดประกวดต่าง ๆ ของเด็ก นับว่าเป็นการจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ รวมทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง

"การประกวดหรือการแข่งขันย่อมมีผู้ชนะและผู้แพ้ ผู้ชนะก็ต้องพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ส่วนผู้แพ้ อยากให้นึกถึงข้อคิดที่ว่า ความพยายามครั้งที่ 100 ดีกว่าคิดท้อถอยก่อนที่จะทํา"

ภาพ : กองประกวด/สุพร ขุนรักษ์

  • ผู้โพสต์ :
    comman
  • อัพเดทเมื่อ :
    1 พ.ย. 2019 01:50:15

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา