"ICPD" กับ​ 25 ปีหลัง ในการพัฒนาประชากรเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเสวนาเปิดตัวรายงาน “ประชากรและการพัฒนาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนในประเทศไทย 25 ปี หลังจาก ICPD” ผ่านทาง Facebook Live UNFPA Thailand เมื่อไม่นานนี้

ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดการเสวนาว่า “นับตั้งแต่การประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา หรือ International Conference on Population and Development (ICPD) เมื่อ25 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามกรอบ ICPD โดยแนวทางหลักสามประการคือ หนึ่ง ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน รวมถึงการบริการทางอนามัยการเจริญพันธุ์โดยปราศจากอุปสรรคด้านการเงินเพื่อเข้าถึงบริการ

สอง มีการดำเนินงานร่วมกันตามกลไกระดับชาติเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากอคติทางเพศ (Gender-based Violence) โดยการสร้างศักยภาพให้กับวัยรุ่นหญิงผ่านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ 2559 และลดการคลอดในวัยรุ่นให้เหลือเพียง 25 คนต่อการเกิด 1,000 รายภายในปี พ.ศ. 2579

สาม ดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาตลอดช่วงชีวิต (life-course approach) เพื่อสร้างวิถีชีวิตที่เข้มแข็ง ทำให้ผู้สูงวัยและประชากรวัยแรงงานเป็นทรัพยากรและทุนมนุษย์ในการร่วมพัฒนาประเทศอย่างมีส่วนร่วม”

ด้าน มาร์เซล่า ซูอาโซ ผู้อำนวยการ UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทยที่มีอัตราการเกิดน้อยลงว่า “การพัฒนาทุนมนุษย์นับเป็นเรื่องสำคัญที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะเพิ่มมากขึ้นในขณะที่จำนวนประชากรคนรุ่นใหม่นั้นกลับน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น จำนวนนักเรียนออกจากการเรียนระหว่างภาคการศึกษามากขึ้น จำนวนวัยรุ่นที่ไม่ได้เรียนและไม่ทำงาน ตอลดจนจำนวนแม่วัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะของการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นเรื่องที่เร่งด่วนยิ่งขึ้น เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในภาวะการณ์เช่นนี้มักมีการปฏิบัติที่แสดงถึงความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดในกลุ่มของวัยรุ่นและประชากรที่อยู่ในภาวะเปราะบาง รวมถึงผู้หญิงและเด็กผู้หญิงด้วย”

นอกจากนั้น ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมองในเรื่องของความเหลื่อมล้ำว่า “สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ พบปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนคือ ประชาชนประสบภาวะเงินออมไม่เพียงพอ ภาพสะท้อนของการเป็นสังคมสูงวัยเด่นชัด โดยเห็นได้จากการพัฒนาความสามารถในการหารายได้ของแรงงานที่ลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน แรงงานที่จบการศึกษาต่ำกว่าระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ยังมีสัดส่วนที่สูงในทุกกลุ่มอายุ ไม่เฉพาะแค่ในกลุ่มอายุ 50 ปีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแรงงานวัยหนุ่มสาววที่มีอายึระหว่างอายุ 30-39 ปี คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 44 ในปี 2561 ซึ่งคนวัยหนุ่มสาวเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มที่ว่างงานอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นแรงงานที่มีพื้นฐานการศึกษาต่ำ กว่าความต้องการของตลาดแรงงาน แม้ในช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงไป ประชากรเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถกลับไปหางานทำได้ง่าย จึงอาจเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า แผลเป็น นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่ากลัวเป็นอย่างมากในอนาคต เพราะยังไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่นอนของประชากรเหล่านี้ได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีจำนวนมาก

สิ่งที่เราควรเตรียมพร้อมรับมือสำหรับสังคมสูงวัย โดยเฉพาะในสภาวการณ์การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งต้องมีการรักษาระห่างทางสังคม รวมถึงการทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ปัจจุบันทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาวจำนวนมากกลับยังมีปัญหาเกี่ยวกับใช้เทคโนโลยีดังกล่าว จึงส่งผลให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก”

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมุมมองด้านสุขภาพว่า “ปัจจุบันประชากรในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จำนวนความต้องการประชากรทดแทนมีไม่เพียงพอ จึงต้องเร่งสร้างระบบรองรับหลายด้านเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาประเทศ แต่หลังสถานการณ์โควิด ต้องมีการพิจารณาจำนวนประชากรที่เหมาะสมของประเทศใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดต่อสถานการณ์ครอบครัวที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมการเกิดหรือการวางแผนครอบครัว ดังที่เราเคยประสบความสำเร็จเรื่องการคุมกำเนิดมาแล้ว เพื่อเป็นการวางแผนคุณภาพชีวิตของสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ใช่เรื่องการมีบุตรหรือการแต่งงานเพื่อมีบุตรเท่านั้น”

ทั้งนี้ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมุมมองของอนาคตในระยะ 20 ปีข้างหน้า ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นมาจากความยากจน ซึ่งการสร้างประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต หากเริ่มต้นจากความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ของพ่อแม่ และการสาธารณสุขที่ดี จะช่วยให้เด็กเกิดและเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ การมีสุขภาพที่ดีย่อมเป็นต้นทุนในการเริ่มต้นชีวิตที่ดีของทุกคน ดังนั้น จึงควรพิจารณานำเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์ เทคโนโลยีเพื่อช่วยการเกิด และการเลี้ยงดูเด็ก เข้ามาใช้ในการป้องกัน รวมถึงแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์”

ดร. ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “ความสุขอย่างยั่งยืนย่อมเกิดจากการที่สมาชิกในครอบครัวหลายช่วงวัยอาศัยอยู่ในละแวกชุมชนเดียวกัน สถานการณ์ COVID-19 นำไปสู่เศรษฐกิจติดบ้าน (isolation economy) หลายคนต้องทำงาน ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพตนเอง และพักผ่อนอยู่กับบ้าน ปัจเจกจึงจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงานในพื้นที่อันพร่าเลือนมากขึ้นของบ้าน ผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลใส่ใจ ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพอารมณ์ เพื่อให้สามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

การนำเสนอรายงาน “ประชากรและการพัฒนาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนในประเทศไทย 25 ปี หลังจาก ICPD” ครั้งนี้ UNFPA จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในประเทศ ทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ประชากรวัยหนุ่มสาว สถาบันการศึกษา และสื่อแขนงต่างๆ ร่วมกันค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นนวัตกรรมและเป็นการลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ที่อยู่บนพื้นฐานของสิทธิและคุณภาพ เพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้เตรียมการเข้าสู่การสูงวัยอย่างมีศักยภาพ รวมถึงการมีสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และเตรียมพร้อมกับสังคมที่มีคนหลากหลายวัย เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และประชากรผู้สูงวัยมีความเกื้อกูล เกิดความเข้าใจและมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมร่วมกันของคนต่างวัย นำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของคนทุกวัยและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

  • ผู้โพสต์ :
    comman
  • อัพเดทเมื่อ :
    19 มิ.ย. 2020 10:50:22

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา