นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนและจัดทำแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Good Practice) ในกระบวนการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ กรณีพื้นที่จังหวัดภาคกลาง โดยมีคณะผู้บริหาร หัวหน้าและผู้แทนหน่วยงานระดับกรมในส่วนกลาง (กทม.) และทีม พม. จังหวัด (One Home) จาก 25 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง รวม 160 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมชัมมิท ไพน์เฮิร์สท กอล์ฟ คลับ จังหวัดปทุมธานี
นายจุติ กล่าวว่า ด้วยกระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ไปสู่การปฏิบัติงานในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้สามารถขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรกระทรวง พม. ให้มีความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และร่วมระดมความคิดเห็นในการวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และถอดบทเรียน เพื่อจัดทำแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Good Practice) สำหรับใช้ในการปฏิบัติงานให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น กระทรวง พม. จึงได้จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนและจัดทำแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Good Practice) ในกระบวนการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ กรณีพื้นที่จังหวัดภาคกลาง 25 จังหวัด
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ตนตั้งใจมามอบนโยบายของทั้งรัฐบาลและกระทรวง พม. ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเด็ดขาด เพราะวันนี้ เรื่องเด็กไม่ใช่มีแค่เรื่องปัญหาการค้ามนุษย์เท่านั้น ยังมีเรื่องการพัฒนาเด็กไทยที่เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้ดำเนินการมาโดยตลอด รวมไปถึงกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ซึ่งการพัฒนาเด็กนั้นต้องมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้ง 3 กรมข้างต้น ตนอยากให้มองภาพกว้างว่าการที่จะพัฒนาเด็กขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าทำได้แล้วจะคุ้มค่าอย่างมาก นอกจากนี้ ผู้บริหารของกระทรวง พม. และองค์กรของเราต้องเป็นมืออาชีพด้วย จะได้ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ สำหรับการพัฒนาอนาคตเด็กหนึ่งคนหรือการปั้นครอบครัวให้เข้มแข็ง ผู้นำต้องเป็นมืออาชีพเสียก่อน โดยดูที่ความรับผิดชอบ และไม่ใช่แค่ทำตามหน้าที่และภารกิจที่ได้รับมอบหมาย หากเกิดอะไรขึ้นที่ไม่ดีกับกระทรวง พม. คนที่รับผิดชอบคนแรกคือตน และตนจะไม่หนีจากปัญหา เพราะเป็นความรับผิดชอบภายใต้จิตสำนึกและจิตวิญญาณในภารกิจที่ต้องทำ
นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า เรากำลังส่งสัญญาณให้ทุกคนได้เห็นว่ากระทรวง พม. เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราขอโทษด้วยการกระทำ ขอโทษจากความผิดพลาด ด้วยการทำให้ถูกต้อง และเราต้องปรับยุทธศาสตร์ที่ล้าสมัย ปรับกลวิธีให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ดังนั้น โครงการในวันนี้จะเป็นการทำกิจกรรมที่ตอบโจทย์หลายโจทย์ ซึ่งกระทรวง พม. มีศักดิ์ศรี มีความสามารถ และเราเข้าถึงประชาชน และขอให้ทุกท่านมีองค์ความรู้และจิตวิญญาณของความเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่มาจากการทำงานหลายสิบปี ได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด แม้ว่างานจะหนัก แต่เราต้องรับ ต้องช่วยกันพัฒนาคุณภาพของมนุษย์ในประเทศของเรา
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายประวิทย์ ร้อยแก้ว รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ บรรยายในหัวข้อ "กระบวนการช่วยเหลือและส่งต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์" อีกทั้งมีการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็น วิเคราะห์ SWOT และจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นแผนระยะสั้น (3 เดือน) ระยะกลาง (6 เดือน) และระยะยาว (1 ปี) ภายใต้ 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1) กระบวนการช่วยเหลือและส่งต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ได้แก่ กระบวนการคัดแยกผู้เสียหาย การรับเข้าและส่งต่อผู้เสียหาย การคุ้มครองผู้เสียหาย และการส่งกลับและติดตามผล 2) กระบวนการคุ้มครองเด็ก 3) การสร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่นในการดูแลกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. และ 4) การเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และการเชื่อมโยงกระบวนการทำงานระหว่างหน่วยงาน One Home