ทีเส็บ จับมือ สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) โชว์ผลงานคว้า 3 งานประชุมนานาชาติด้านวิศวกรรมไฟฟ้า-พลังงาน จัดใหญ่ใน 3 เมืองไมซ์ไทยต่อเนื่อง 3 ปี “งาน IEEE PES APPEEC 2023 ที่เชียงใหม่ ปี 2566 งาน IEEE ISC2 2024 ที่พัทยา ปี 2567 และงาน IEEE PES GTD Asia 2025 ปี 2568 ณ กรุงเทพมหานคร” คาดดึงผู้ร่วมงานจากทั่วโลกรวมกว่าหมื่นคน สร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 837 ล้านบาท โชว์ศักยภาพไทยผู้นำงานไมซ์และวิทยาการไฟฟ้า-พลังงานแห่งเอเชีย พร้อมเชิญชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดี มั่นใจเมืองไมซ์ไทยพร้อมรองรับงานเพิ่มต่อเนื่องตลอดปี ชี้งานสำคัญสะท้อนความพร้อมของไทยในด้านวิทยาการไฟฟ้าและพลังงาน ต่อยอดสู่การดึงงานระดับโลก
ไทยเป็นประเทศเป้าหมายที่สำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE – Meetings, Incentives, Conventions & Exhibitions) ในเอเชีย โดยมี สสปน. หรือทีเส็บ เป็นองค์กรหลักในการผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและกระจายรายได้ไปสู่ทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน และมีบทบาทสำคัญในการเป็น National Bidder ทำหน้าที่เสนอตัวเป็นผู้ประมูลสิทธิ์ในนามประเทศไทยเพื่อดึงงานระดับโลกเข้ามาจัดในไทย โดยในปี 2562 (ก่อนสถานการณ์โควิด) ภาคธุรกิจไมซ์ได้สร้างรายได้เข้าประเทศและก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 280,000 ล้านบาทเกิดผลประโยชน์จากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจในประเทศประมาณ 277,000 ล้านบาท สร้างการจ้างงานประมาณ 410,000 อัตรา ตลอดจนสร้างรายได้จากภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บโดยประมาณจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานประชุมอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท
และจากการเตรียมความพร้อมของทีเส็บและภาคอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ซึ่งรวมถึงการประมูลสิทธิ์งานประชุมและการวางแผนดึงงานอีเวนท์ระดับโลกสู่เมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ ภาคธุรกิจไมซ์จึงพร้อมเดินหน้าต่อในทันที โดยมีสมาคมและองค์กรจากทั่วโลกทยอยเข้ามาจัดงานในไทยแล้วในหลากหลายสาขา โดยล่าสุด ทีเส็บ และสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ได้ร่วมกันคว้าสิทธิ์งานประชุมนานาชาติด้านไฟฟ้าและพลังงาน 3 งาน ให้เข้ามาจัดใน 3 เมืองไมซ์ไทยถึงสามปีต่อเนื่อง ประกอบด้วย งานประชุม IEEE PES APPEEC 2023 จัดที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี 2566 งานประชุม IEEE ISC2 2024 จัดที่เมืองพัทยาในปี 2567 และงานประชุม IEEE PES GTD Asia 2025 ซึ่งเป็นงานสัมมนาวิชาการและนิทรรศการด้านไฟฟ้าและพลังงานระดับนานาชาติงานใหญ่ที่คาดจะมีผู้เข้าร่วมงานจากทั่วโลกนับหมื่นคน จัด ณ กรุงเทพมหานครในปี 2568
นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือทีเส็บ กล่าวว่า “ความสำเร็จในการดึงงานประชุมนานาชาติในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงานได้ต่อเนื่องถึงสามงานในครั้งนี้ เป็นผลจากการวางกลยุทธ์ของทีเส็บด้านการประมูลสิทธิ์งานประชุมนานาชาติสู่ประเทศไทย ผ่านความร่วมมือกับสมาคมวิชาชีพและพันธมิตรในไทยซึ่งรวมถึงเมืองไมซ์เป้าหมาย เพื่อสร้างความมั่นใจต่อเจ้าของงานในต่างประเทศ ให้นำเม็ดเงินและองค์ความรู้ระดับโลกมาลงทุนจัดการประชุมในบ้านเรา โดยคาดว่า 3 งานประชุมที่ทีเส็บร่วมกับสมาคมฯ ดึงมาจัดในไทยในปี 2566-68 ที่เชียงใหม่ พัทยา และกรุงเทพฯ นี้ จะดึงผู้ร่วมงานจากทั่วโลกรวมกว่าหมื่นคน สร้างรายได้เข้าประเทศและก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมกว่า 837 ล้านบาท เกิดผลประโยชน์จากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจในประเทศประมาณ 465 ล้านบาท และจะเกิดการจ้างงานประมาณ 586 อัตรา ตลอดจนสร้างรายได้จากภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บโดยประมาณจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานประชุมอีกประมาณ 29 ล้านบาท ทั้งยังเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาและบุคลากรไทยได้เข้าถึงองค์ความรู้ระดับโลกจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า พลังงาน และเมืองอัจฉริยะจากนานาประเทศ สร้างผลกระทบเชิงบวกและคุณประโยชน์ต่อเนื่องทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาวิทยาการในสาขาที่เกี่ยวข้องสู่ประเทศและพื้นที่จัดงาน สอดรับกับกลยุทธ์สำคัญของทีเส็บในการใช้งานไมซ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนกระจายรายได้ทั่วภูมิภาค พร้อมยกระดับงานไมซ์ใน 10 เมืองไมซ์ยุทธศาสตร์ของไทย รวมถึงเมืองที่มีศักยภาพอีกมากมาย”
การที่ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นเมืองเจ้าภาพงานประชุมนานาชาติด้านไฟฟ้าและพลังงานทั้งสามงานนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยในสาขาไฟฟ้าและพลังงาน ทั้งด้านวิทยาการและองค์ความรู้ ด้านบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิและสมาคมไทยที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี ผู้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาด้านไฟฟ้าและพลังงานของไทย อันจะช่วยตอกย้ำความมั่นใจในการต่อยอดดึงงานใหญ่ระดับโลกสู่ไทยได้ในอนาคต
นายสมชาย หอมกลิ่นแก้ว อุปนายกสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) และรองผู้ว่าการวางแผนและนวัตกรรมระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง กล่าวเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของงานทั้งสามว่า “ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของสมาคมฯ และทีเส็บในความพยายามเสนอประเทศไทยเป็นเมืองเจ้าภาพงานประชุมนานาชาติสำคัญๆ ร่วมกันตลอดมา โดยสามงานดังกล่าว ได้แก่ งาน 15th Annual Asia-Pacific Power & Energy Engineering Conference หรือ IEEE APPEEC 2023 เป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงาน ซึ่งกำหนดจะจัดในเดือนธันวาคม 2566 ที่เชียงใหม่ คาดจะมีผู้เข้าร่วมงาน 700 คน งาน IEEE International Smart Cities Conference หรือ ISC2 2024 ซึ่งเป็นงานประชุมหลักของ IEEE Smart Cities จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อนำเสนอเทคโนโยลี และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยงานจะจัดในปี 2567 ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี คาดมีผู้ร่วมงานกว่า 500 คน และงาน IEEE PES GTD Grand International Conference and Exposition Asia หรือ GTD Asia 2025 เป็นงานสัมมนาวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ เพื่อให้ผู้ประกอบการชั้นนำจากทั่วโลกได้เข้าร่วมแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงานอย่างครบวงจร โดยจะจัดในปี 2568 ณ กรุงเทพมหานคร คาดจะมีผู้ร่วมงานจากทั่วโลกกว่า 10,000 คน”
นอกจากความพร้อมของไทยในด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงานแล้ว การเสนอเมืองเจ้าภาพที่มีความพร้อมและเหมาะสมกับงานในขั้นตอนการประมูลสิทธิ์ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการช่วงชิงงานประชุมนานาชาติให้มาจัดในพื้นที่เป้าหมายของไทย
นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “การวิจัยด้านต่างๆ ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนของจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปแบ่งปันในการประชุม เนื่องจากเป็นการผสมผสานความรู้ในระดับสากลผ่านวิธีการและวัตถุดิบที่มีในชุมชน ประกอบกับแผนพัฒนาเชียงใหม่ และการสนับสนุนส่งเสริมของหน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน จะทำให้จังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพในการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน จะส่งเสริมให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้ง ในด้านวิศวะไฟฟ้าพลังงาน ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญ และต้องการองค์ความรู้เพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญในระดับสากล จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมทั้งในระดับจังหวัดและประเทศในอนาคต”
นางสาวทิฐิพันธ์ เพ็ชรตระกูล รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่า “จากแนวทาง NEO Pattaya ต่อยอด ต่อเนื่องสู่ Better Pattaya เมืองพัทยามีความพร้อมที่จะนําเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนธุรกิจ การท่องเที่ยว และการใช้ชีวิต เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยว และนักเดินทางไมซ์หลังการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อม 3 สนามบินเสร็จสมบูรณ์ซึ่งการจัดงานประชุม IEEE ISC2 ที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์การนําเสนอเทคโนโลยีต่างๆ และการนําไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายในการเป็น “เมืองแห่งโอกาส เศรษฐกิจสมดุล คุณภาพชีวิตที่ดีสําหรับทุกคน” และร่วมกันขับเคลื่อนเครือข่ายพลังงานสะอาดให้มีความยั่งยืนต่อไป”
นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กรุงเทพฯ มีความพร้อมต้อนรับในฐานะเมืองเจ้าภาพที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทน เนื่องจากเป็นเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางการค้า เทคโนโลยี และมีจำนวนประชากรอาศัยอยู่มาก โดยมีแผนพัฒนาและยุทธศาสตร์จากรัฐบาล กระทรวง และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่มุ่งเน้นให้เกิดการวิจัย เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนรวมไปถึงประชาชน เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดและการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน การประชุมด้านพลังงานที่มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างงาน GTD Asia 2025 นี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับทุกภาคส่วนในกรุงเทพฯและจังหวัดต่างๆ รวมไปถึงพัฒนาองค์ความรู้ในด้านวิชาการอันจะก่อประโยชน์สูงสุดต่อนิสิตนักศึกษาและบุคลากรในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงานต่อไป”
ในระหว่างงานแถลงข่าวฯ นางนิชาภา ยศวีร์ ในนามทีเส็บ ยังได้กล่าวขอบคุณสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ในความมุ่งมั่นพัฒนาวิทยาการ องค์ความรู้ และบุคลากรในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงานของไทยผ่านการจัดประชุมนานาชาติ รวมถึงสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี สำนักงานใหญ่ หรือ “ไอทริปเปิลอี พีอีเอส” (IEEE Power & Energy Society) และสมาคมเมืองอัจฉริยะไอทริปเปิลอี หรือ “ไอทริปเปิลอี สมาร์ท ซิตีส์” (IEEE Smart Cities) ในมลรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ที่เล็งเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและนำเสนอองค์ความรู้ในครั้งนี้ และขอบคุณเมืองไมซ์สำคัญของไทยทั้ง 3 เมืองในความสนับสนุนและความร่วมมือในฐานะเจ้าบ้าน ผู้ช่วยสร้างความมั่นใจและความประทับใจแก่ผู้มาเยือนตลอดมา
“ทีเส็บจะเดินหน้าผสานความร่วมมือกับสมาคมฯ และร่วมผลักดันการประมูลสิทธิ์งานประชุมนานาชาติไปยังเมืองไมซ์ในไทยให้เพิ่มมากขึ้น เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ร่วมประชุมด้านไฟฟ้าและพลังงานที่จะเดินทางมาจากทั่วโลกใน 3 ปีข้างหน้านี้ จะได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์อันน่าประทับใจกับบุคลากรและผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงานชาวไทย และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในฐานะเจ้าภาพจากคนไทยทุกคน” นางนิชาภากล่าวสรุป