ตามที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยว่า ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ จะมีการปรับแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่มีพื้นที่เชื่อมโยงเขตจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะมีผลให้รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ สวนเกษตรและผู้ที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานรวมกว่า 400 คดี มีโอกาสพ้นผิดและจะได้ครอบครองที่ดินขณะที่นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคโอกาสไทย อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่าที่ผ่านมาพอรู้ว่ามีความพยายามดำเนินการเรื่องนี้ โดยผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ซึ่งดูจะเร่งรีบนำเข้าสู่การพิจารณาจนผิดสังเกตุ และอาจจะมีการเมืองเข้ามาแอบแฝงนั้น
แหล่งข่าวในคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) เปิดเผยว่าเรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงรู้ดีว่าพื้นที่บริเวณทับลานเป็นการจัดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ชาวบ้านที่หนีภัยคอมมิวนิสต์ (โครงการหมู่บ้านไทยสามัคคี) มีกฎหมายรองรับชัดเจนในปี 2518 และ 2521แต่มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานมาทับพื้นที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2524
แม้ต่อมาจะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 อนุมัติตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจที่ เสนอขออนุมัติดำเนินการปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และการพิจารณาปรับแนวเขต อุทยานแห่งชาติทับลาน ให้เป็นไปตามสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสม และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมป่าไม้) เร่งรัดจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว
อย่างไรก็ตามกรมอุทยานฯก็ยังทำงานอย่างเชื่องช้าประกอบกับมีการเปลี่ยนรัฐบาล มีการเปลี่ยนเปลี่ยนตัวผู้บริหารคนมาใหม่ไม่รู้รายละเอียดจนถึงปี 2555 อธิบดีกรมอุทยานฯได้เปิดยุทธการกวาดล้างจับกุมทุบ ทำลาย รื้อรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศในพื้นที่ทับลานครั้งใหญ่ด้วยข้อหาบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติ
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯทับลานหลายครั้งแต่คณะกรรมการอุทยานฯไม่เร่งดำเนินการเหตุที่บางคนไม่อยากแก้เพราะอยากมีอำนาจครอบเอาไว้เพื่อหาผลประโยชน์ดังเช่นการปรากฏข่าวว่ามีการเรียกรับเงินคนที่อยู่หรือนายทุนที่เข้าไปลงทุนปลูกรีสอร์ท ทำบ้านพักตากอากาศ
“ตอนนี้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯกลัวว่าถ้าชาวบ้านเป็นฝ่ายถูกก็จะถูกฟ้องกลับเลยมีการปล่อยข่าวเพื่อสร้างกระแสกลบความผิดพลาดในอดีตต้องการให้มีการต่อต้านการแก้ไขแนวเขตอุทยานฯคนทั่วไปที่ไม่รู้ที่มาที่ไปย่อมหลงเชื่อว่านักการเมืองกำลังเข้ามาแทรกแซงข้าราชการแต่ความจริงคือข้าราชการบางคนบางส่วนดื้อแพ่งต่อนโยบายรัฐซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังจะเล่นงานด้วย มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”
แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่าเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีการประชุมที่ สคทช. โดยเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมซึ่งผู้แทนกรมอุทยานฯยอมรับว่าต้องปรับปรุงแนวเขตแต่ขอให้ช่วยเรื่องคดีความของเจ้าหน้าที่อุทยานฯหากถูกฟ้องกลับซึ่งที่ประชุมเห็นว่าหากปฏิบัติโดยชอบกฎหมายก็ย่อมคุ้มครองแต่การที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯจับชาวบ้านฟ้องเป็นคดีแล้วบอกให้ดำเนินคดีชาวบ้านต่อไปแต่ขอให้คุ้มครองเจ้าหน้าที่ก็ถือว่าไม่ยุติธรรมทางออกคือให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย
“ช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนมือผู้ถือครองที่ดินมามากพวกที่เข้าไปสร้างรีสอร์ทยังไงก็ผิดอันนั้นต้องว่าไปตามกฎหมายถ้าอยู่ในเขตของกรมป่าไม้หรือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)ก็ว่าไปตามกฎหมายนั้นต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านที่อยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน”แหล่งข่าวกล่าวในที่สุด
อนึ่ง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเคยมีคำวินิจฉัยว่าแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี 2524 ยังอยู่แต่เมื่อปี 2543 กรมป่าไม้ได้มีการปักปันแนวเขตแล้วเพียงแต่ยังไม่ได้มีการดำเนินให้เรียบร้อยเนื่องจากปี 2545 มีการเปลี่ยนแปลงกระทรวง ทบวง กรมโดยกรมอุทยานฯ กับ กรมป่าไม้ แยกไปอยู่คนละกระทรวงงานเลยค้างมาตั้งแต่บัดนั้นแค่ดำเนินการต่อตามแนวเขตปี 2543 จัดสรรที่ดินให้ประชาชนก็จบปัญญาหากยังยืดเยื้อไม่เพียงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในปัจจุบันแต่ยังมีอีกกว่า 3,000 ครอบครัวที่จะต้องถูกดำเนินคดีอีกด้วย