วันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2566 พม.จังหวัดตรัง นำทีมโดยนางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง พร้อมด้วยนายพงศกร ชูเลื่อน ปลัดอำเภอปะเหลียน นายชอบ รองเดช ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าคลองตง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเทือกเขาบรรทัด เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลปะเหลียน ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ม.14 ตำบลปะเหลียน ครูผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียน ตชด.สันติราษฎร์ เครือข่าย CSR จังหวัดตรัง (สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง สโมสรไลออนส์ศรีตรัง บริษัทผลิตอาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน)) ลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่มชนเผ่ามานิ (ซาไก) กลุ่มสกุลศรีสันติราษฎร์ ในพื้นที่ ม.14 ตำบลปะเหลียน (ใกล้กับโรงเรียน ตชด.สันติราษฎร์) ซึ่ง ‘มานิ’ เป็นชื่อเรียกตัวเองของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ดำรงชีวิตอยู่ในผืนป่าเทือกเขาบรรทัดของภาคใต้มานานหลายร้อยปี ที่บางครั้งคนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับคำว่า ‘เงาะป่า’ หรือ ‘ซาไก’ ซึ่งปัจจุบันมีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในผืนป่าเทือกเขาบรรทัดในพื้นที่ของจังหวัดสงขลา พัทลุง สตูล และตรัง ซึ่งในอดีตเป็นป่าดงดิบที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่จากสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้วิถีชีวิตของมานิเปลี่ยนแปลงไปทั้งแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และการที่ต้องปรับตัวเข้ากับชุมชนมากขึ้น
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่เยี่ยมชนเผ่ามานิ (ซาไก) กลุ่มสกุลศรีสันติราษฎร์ครั้งนี้ เพื่อตรวจสอบการเข้าถึงสิทธิ์สวัสดิการของภาครัฐต่าง ๆ พร้อมรับฟังสภาพความเป็นอยู่ ความต้องการของกลุ่มชนเผ่า ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ พบว่า มีประชากรจำนวน 12 ครัวเรือน 34 คน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ จำนวน 3 คน ผู้พิการจำนวน 1 คน ซึ่งได้รับสิทธิเบี้ยยังชีพคนพิการแล้ว สำหรับเด็กแรกเกิดอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวน 13 คน เนื่องจากเป็นการคลอดแบบธรรมชาติของชนเผ่า ไม่ได้คลอดในโรงพยาบาล ไม่มีหลักฐานการเกิด สำหรับเด็กอีก 1 ราย เป็นเด็กตามกรณีที่สื่อเคยเสนอข่าวชนเผ่ามานิคลอดลูกน้อยเพศหญิงแล้วพาลูกน้อยออกจากโรงพยาบาลตรังก่อนกำหนด เมื่อประมาณต้นปี 2564 ขณะนี้อายุ 2 ปีแล้ว เด็กมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง และได้เข้าสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้สูงอายุและผู้พิการได้รับเบี้ยยังชีพรายเดือนแล้วทุกราย
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ชนเผ่ามานิ (ซาไก) บางคนยังไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ ตามสวัสดิการของรัฐได้ เช่น สิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐาน สิทธิการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิการรับเงินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอื่น ๆ เนื่องจากทางชนเผ่าดังกล่าวมีความประสงค์จะรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม และประเพณีของชนเผ่าแบบเดิมไว้ ทั้งนี้ เบื้องต้นทางอำเภอปะเหลียน ได้รับทราบปัญหาแล้ว และจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กลุ่มมานิ (ซาไก) กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่พึงจะได้รับต่อไป
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ในวันนี้ พม.จังหวัดตรัง พร้อมเครือข่าย CSR จังหวัดตรัง ได้มอบเครื่องอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อให้กลุ่มมานิ สามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้ สำหรับ กระทรวง พม. พร้อมขับเคลื่อนงานด้านสังคม และส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนสามารถโทรติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์โทรสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง