10 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมวัฒนา พาร์ค อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง จัดโครงการ “เสริมสร้างความเข้มแข็งของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนและการขับเคลื่อนศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว (ศปก.ต.) ประจำปี 2566 โดยมี นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ และมีนางจิรพา เรนเรือง นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นผู้กล่าวรายงานสรุปความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย ผู้แทนจากเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) คณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือตำบล คณะทำงาน ศปก.ต. อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 120 คน
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวว่า การจัดโครงการในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.)ได้ทบทวนบทบาท แนวทางการปฏิบัติงาน รวมถึงเพื่อยกระดับเป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล องค์กรสาธารณประโยชน์ และการขับเคลื่อน ศปก.ต. ซึ่งกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.)กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้สนับสนุนการจัดตั้ง ศพค. เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางขององค์กรประชาชนที่มาร่วมกันดูแลป้องกันและแก้ไขปัญหาครอบครัวในชุมชน มีการบริหารจัดการในรูปของคณะทำงาน โดยมีเครือข่ายกลุ่มครอบครัวเป็นสมาชิก และอยู่ภายใต้การดูแลและสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในด้านวิชาการและงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินงาน มีประสิทธิภาพ ดังนั้น อปท. จึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ในการขับเคลื่อนงาน ศพค. ศูนย์ช่วยเหลือสังคมระดับตำบล และ ศปก.ต.
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) มีภารกิจหลักที่สำคัญ ในการดำเนินการส่งเสริมและเสริมสร้างครอบครัวเข้มแข็ง โดยการจัดกิจกรรมสร้างสัมพันธภาพครอบครัว ผ่าน ศพค. เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านครอบครัวร่วมกันของภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ ให้มีความเข้มแข็งให้สอดคล้องกับบริบทครอบครัวของแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัจจุบัน จังหวัดตรังมีการจัดตั้ง ศพค. รวมทั้งสิ้น 88 แห่ง และกระทรวง พม. ได้มีนโยบาย ในการพัฒนา ศพค. ให้เป็น “ ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล” เพื่อยกระดับการทำงานเชิงพื้นที่ แบบบูรณาการการให้บริการสวัสดิการสังคมของทุกกรม ณ จุดเดียวเป็นแบบองค์รวม หรือ การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) อันครอบคลุมบริการสวัสดิการสังคม และบริการอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับประชาชนอย่างหลากหลาย และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ปัจจุบันจังหวัดตรัง ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลไปแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 94 ศูนย์ เพื่อรองรับสถานการณ์ปัญหาภายหลังวิกฤติโควิด-19ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้ง ข้อมูลรายงานสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว พบว่า จังหวัดตรัง มีสถิติการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ณ วันที่ 30 กันยายน 2565) มีจำนวน 49 เหตุการณ์ โดยมีสาเหตุ/ปัจจัย สูงสุดอันดับ 1 คือ ยาเสพติด จำนวน 24 ราย อันดับที่ 2 สุขภาพจิต/จิตเวช จำนวน 14 ราย ลำดับที่ 3 หึงหวง/นอกใจ จำนวน 11 ราย บันดาลโทสะ จำนวน 11 ราย ลำดับที่ 4 ความสัมพันธ์ในครอบครัว จำนวน 10 ราย อันดับที่ 5 สุรา จำนวน 9 ราย และลำดับสุดท้ายเกิดจากความเครียดทางเศรษฐกิจ จำนวน 4 ราย โดยสาเหตุของการเกิดความรุนแรงในแต่ละราย สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จะเห็นได้ว่าสาเหตุและปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว (ศปก.ต.) ในระดับพื้นที่ ในการส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชนและสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืน ต่อไป
สุดท้ายนี้ ได้เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมการอบรมทุกคน ช่วยกันแอดไลน์ ESS ซึ่งเป็นระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ติดมือถือไว้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือทุกคนได้ หากตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย/ข่มขู่ว่าจะทำร้าย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือพบเห็นผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และการมั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้ายสามารถกดแจ้งเหตุผ่านไลน์ ESS เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุได้อย่างทันท่วงทีด้วยระบบ Line OA ที่ช่วยสร้างความปลอดภัย แก่ตัวเองและชุมชนเพียงแชร์ให้เพื่อน แอดไลน์ @esshelpme หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/GetbF8D นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์โทรสายด่วน 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย