ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี บิดาแห่งขลุ่ยไทยสมัยใหม่ คอนเสิร์ต 'น้อมคารวะศิลปินแห่งชาติ'

ศิลปิน นักร้อง ดนตรี เพลง

ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี บิดาแห่งขลุ่ยไทยสมัยใหม่

คอนเสิร์ต 'น้อมคารวะศิลปินแห่งชาติ'

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ มังกี้อีที จัดการแสดงดนตรีต่อเนื่อง ในรูปแบบของ "คอนเสิร์ตซีรีส์" เป็นครั้งที่สาม ภายใต้ชื่อโครงการ 'น้อมคารวะศิลปินแห่งชาติ' โดยการแสดงของ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (ดนตรีไทยสากล) ศิลปินแห่งชาติ ปี 2559 มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม ศกนี้ เวลา 16.00-18.00 น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

ที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี มีความโดดเด่นในเรื่องของขลุ่ยไทย แต่โดยเนื้อแท้แล้ว เขามีความรู้ความเข้าใจในดนตรีสากลเป็นอย่างดี ในแวดวงแจ๊ส เขาเป็นมือแซ็กโซโฟนรุ่นใหญ่ เล่นมารุ่นราวคราวเดียวกันกับนักดนตรีแถวหน้า อย่าง วิชัย อึ้งอัมพร และ สุเทพ น้อมกรานต์ ด้วยซ้ำ

ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป็นชาวสิงห์บุรีโดยกำเนิด เข้ามาเล่นดนตรีในกรุงเทพฯ ตั้งแต่จบชั้นมัธยมในปี พ.ศ.2510 สอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน เรียนถึงปี 3 ก็ลาออกมาสอบใหม่ เข้า มศว.ประสานมิตร จากนั้นอีกหนึ่งปีก็สอบใหม่เข้ามหาวิทยาลัยเดิม แต่หนนี้เลือกวิชาเอก ดนตรีสากล เมื่อเรียนจบได้เป็นครูสอนดนตรีที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม จนกระทั่งเป็นหัวหนาภาควิชาดนตรี ต่อมาได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษที่ มศว.ประสานมิตร อีกด้วย ปัจจุบัน ธนิสร์ เป็นศิลปินอิสระ และเป็นวิทยากรรับเชิญทางด้านดนตรีไทยและสากลตามสถาบันศึกษาทั่วประเทศ

ธนิสร์ ได้ร่วมวง 'คาราบาว' ทำงานชุด เมดอินไทยแลนด์ อเมริโกย ประชาธิปไตย เวลคัมทูไทยแลนด์ อีสานเขียว และ ทับหลัง และยังมีผลงานเดี่ยวที่ทำให้ขลุ่ยไทยเป็นพระเอก ได้แก่อัลบั้ม ชุดลมไผ่ 1-2-3, ขลุ่ยกับธรรมชาติชุด ลมชีวิต , อัลบั้มขลุ่ยประชันกับ Woodwind Quartet ชุด Rhythm of Mind ร่วมกับวงซาฮาร่า จากสหรัฐฯ และอัลบั้มเพลงขลุ่ยประชันกีตาร์คลาสสิก ที่บรรเลงโดย โรเบิร์ต ฟิลลิป ชาวอเมริกัน

ส่วนงานเบื้องหลัง ธนิสร์ ทำงานเรียบเรียงเสียงประสานให้แก่ศิลปินนักร้องมากมาย อาทิ นัดดา วิยะกาญจน์, ไพจิตร อักษรณรงค์, ทิพวรรณ ปิ่นภิบาลและกุ้ง กิตติคุณ เป็นต้น รวมทั้งงานด้านดูแลการผลิต (โปรดิวซ์) ให้แก่ หงา คาราวานชุด รัตติกาล , วงสามโทน ชุด สวัสดีประเทศไทย , วงประจัญบานชุด คิดถึงบ้าน , อรวี สัจจานนท์ ชุด ดอกไม้เปลี่ยนสี และแช่ม แช่มรัมย์ ชุด แช่ม แช่มรัมย์ เป็นต้น

ผลงานที่ถือเป็นเกียรติประวัติอย่างยิ่งของ ธนิสร์ คือ บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ ชุด ความหวังอันสูงสุด ด้วยขลุ่ยไม้นางพญางิ้วดำ เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และงานอัลบั้ม ชุด เพื่อพ่อ ถวายเนื่องในวโรกาสครบรอบ 72 พรรษา นอกจากนี้ ธนิสร์ ยังได้ร่วมงานแสดงคอนเสิร์ตเพลงพระราชนิพนธ์อีกหลายโอกาส และได้เป็นตัวแทนศิลปินไทยเล่นคอนเสิร์ต Asian Fantasy Orchestra 2003 ร่วมกับนักดนตรีผู้เชี่ยวชาญเครื่องดนตรีต่างๆ จากประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสทรงพระเจริญพระชนมายุครบ 4 รอบ

ไม่เกินจริง หากเราจะกล่าวว่า ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์สองโลก เพราะเขาเห็นทั้งโลกดนตรีไทยที่มีจารีตเฉพาะตัว และโลกดนตรีสากลที่เปิดกว้างเหมือนมหาสมุทร

ในงาน “น้อมคารวะศิลปินแห่งชาติ” ครั้งนี้ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และผองเพื่อน ประกอบด้วย ภูษิต ไล้ทอง (แต๋ง วงเฉลียง) , สมชาย แก้วเจริญ, ประทีป ขจัดพาล, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ , ไข่ มาลีฮวนน่า ฯ พร้อมด้วยลูกศิษย์รุ่นหลาน จะนำเสนอเสียงดนตรี ที่ผ่านการเก็บเกี่ยวประสบการณ์มายาวนาน ผนวกกับความมุ่งมั่นในการพัฒนา “ขลุ่ยไทย” เพื่อนำเสนอศักยภาพของเครื่องดนตรีอันเรียบง่ายชิ้นนี้ ให้ปรากฏในโลกดนตรีร่วมสมัยอย่างเต็มภาคภูมิ




  • ผู้โพสต์ :
    dhitaraht
  • อัพเดทเมื่อ :
    19 ส.ค. 2019 14:00:24

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา