วันนี้ (2 มีนาคม 2564) ที่ศาลาประชาคม ศาลากลางจังหวัดลำพูน
จังหวัดลำพูน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน
เป็นประธานพิธีถวายราชสักการะแด่ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย”
เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
ซึ่งสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูนจัดขึ้น โดยมี นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร, นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน,นางปนัดดา
เนาวรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน ศาล ทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ
คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน สมาชิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำพูน รัฐวิสาหกิจ
ภาคเอกชน เข้าร่วมพิธี
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นำส่วนราชการ ศาล ทหาร
ตำรวจ หน่วยงานต่างๆ วางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จ
พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และกล่าวถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” และถวายความเคารพ จากนั้นได้ร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า วันนี้
เมื่อปีพุทธศักราช 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ณ
ลุมพินีสถานและทรงพระราชทานดำรัสเกี่ยวกับการช่างของไทย ความตอนหนึ่งว่า "
ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน
เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่าง ๆ
ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน
ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย
ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ
เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง
ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้น
มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ ประการแรก ได้แก่
ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่สอง ได้แก่
ปัญหาเรื่องฝีมือ
ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริง ๆ ประการที่สาม
ได้แก่ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ
มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือทั้งสามประการนี้
จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอน
สร้างฐานะและ
ความก้าวหน้า
ข้าพเจ้าใคร่ขอฝากความคิดทั้งนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติของท่านทั้งหลายต่อไป "
จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว
สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลที่มีพระราชดำริถึงความสำคัญของข่างฝีมือ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อทุกคนในสังคม
จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้มีฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน
เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ
ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย แม้จะผ่านมาถึง 51 ปี แล้ว
ยังคงทันสมัยและนับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานได้น้อมนำใส่เกล้ามาปฏิบัติในการพัฒนากำลังแรงงาน
ให้มีฝีมือพัฒนาสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
สร้างมูลค่าเพิ่มทั้งด้านการผลิตสินค้า และบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ
สร้างการยอมรับในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมโลก
เมื่อวันที่ 17
กุมภาพันธ์ 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติถวายพระราชสมัญญาแด่พระองค์ท่านให้เป็น
"พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" พร้อมกับกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและในปีนี้ วันที่ 2
มีนาคม ได้เวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่ง ปวงข้าพระพุทธเจ้านายวรยุทธ
เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยข้าราชการตุลาการ ทหาร ตำรวจ อัยการ
สมาชิกเหล่ากาชาด สมาชิกแม่บ้านมหาดไทย องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
และภาคเอกชน ต่างพร้อมใจกันมา ณ ที่แห่งนี้
ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพะองค์ท่านอย่างหาที่สุดมิได้ พระองค์ทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่
จะสถิตอยู่ในดวงใจตราบนิรันดร์ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายความจงรักภักดี
ขอตั้งจิตปฏิญาณ น้อมนำกะแสพระราชดำรัสไปปฏิบัติด้วยความตั้งใจมั่นสืบไป