วันที่ 16 มีนาคม 2565 จังหวัดลำพูน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน จัดกิจกรรมการศึกษาดูงานและรับสมัครเข้าฝึกอบรมโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) จังหวัดลำพูน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ณ ห้องประชุมอาคาร 7 สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน โดยมี นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธาน เปิดกิจกรรมการศึกษาดูงาน
นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้กล่าวว่า โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อ เป็นการช่วยเหลือนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับที่มีฐานะยากจนและขาดโอกาสในการศึกษาต่อในพื้นที่ ให้มีทักษะด้านอาชีพหลังจบการศึกษาก่อนที่นักเรียนจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นการช่วยให้เข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” เพื่อให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายมีรายได้ ค่าจ้างสูงขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม พร้อมทั้งให้แนวทางการดำเนินชีวิต หมั่นฝึกฝนเพิ่มทักษะฝีมือ ตั้งใจทำงานเพื่อความก้าวหน้าของตนเอง และสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ในอนาคต
ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการและแขกผู้มีเกียรติ คณะครูแนะแนว คณะผู้ปกครอง และคณะนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 69 คน ซึ่งมีนักเรียนที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 18 คน เข้ารับฟังการชี้แจงกระบวนการฝึกอบรม ได้รับทราบและเข้าใจวัตถุประสงค์และประโยชน์ของโครงการ พร้อมทั้งได้รับความรู้ แนวทางการประกอบอาชีพ ข้อแนะนำในการสร้างอาชีพ และสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ที่จะได้รับในระหว่างระยะเวลาที่เข้ารับการฝึกอบรม โดย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำพูน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำพูน ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา บรมราชินีนาถ จังหวัดลำพูน และศูนย์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) จังหวัดลำพูน ทั้งนี้คณะผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้เยี่ยมชมสถานที่ ศึกษาดูงานโรงฝึกงานสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน เพื่อให้นักเรียน และผู้ปกครอง ได้เห็นสถานที่ และได้รับข้อมูลรายละเอียดในการฝึกอบรม หลักสูตรต่างๆ โดยอาจารย์ผู้สอนประจำสาขาช่างต่างๆ เช่นช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม,ช่างจักรยานยนต์, ช่างเชื่อม, ช่างเครื่องปรับอากาศ,ช่างแต่งผม และสาขาผู้ประกอบอาหาร เป็นต้น