กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เดินหน้าเฟส 3 “โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ” สร้างอนาคตนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อ ประสานมือผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ปั้นนักเรียนกลุ่มเปราะบางเป็นแรงงานมีฝีมือก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีงาน มีอาชีพ มีรายได้มั่นคง
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย ให้ได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพ ซึ่งจากข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ มัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 22,168 คน โดยในแต่ละปีนักเรียนเหล่านี้ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานไร้ฝีมือ” ในการนี้ กระทรวงแรงงาน จึงบูรณาการร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยงานต่างๆ เพิ่มทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนกลุ่มดังกล่าว ดูแล สนับสนุนเรื่องตำแหน่งงาน หรือส่งเสริมการประกอบอาชีพหลังจากฝึกอบรมจบหลักสูตรแล้ว ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” อันจะทำให้มีรายได้ ค่าจ้างที่สูงขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ซึ่งโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับนี้ เป็นสิ่งที่ กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นการทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแบบพุ่งเป้า อาศัยความร่วมมือการบูรณาการจากทุกภาคส่วนโดยมีเป้าหมายคือประชาชน
“กระทรวงแรงงานมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านแรงงาน ด้วยการส่งเสริมการมีงานทำ การพัฒนาทักษะฝีมือตามความต้องการของตลาดแรงงาน การคุ้มครองแรงงานในทุกกลุ่ม ทุกมิติให้มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต เพื่อให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น”
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับเป็นความร่วมมือระหว่าง 8 หน่วยงาน ได้แก่ สํานักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ซึ่งคาดว่า ในปีการศึกษานี้จะมีเด็กนักเรียนที่เรียนจบชั้น ม.3 แล้วไม่มีโอกาสได้เรียนต่อมีจำนวนสูงขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและพิษภัยโควิด-19 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะดําเนินการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมเข้าทํางานในสาขาอาชีพต่างๆ ให้นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อ ในปี 2564 เพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ภายใต้โครงการฝึกอบรมแรงงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ผู้สำเร็จการฝึกทักษะอาชีพดังกล่าวจำนวนกว่า 460 คน มีงานทำหรือประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว
การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ของคณะผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดฝึกอบรมโครงการในปี 2565 ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน โดยดำเนินการฝึกอบรมให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ เข้ารับการฝึกอบรม จำนวนรวม 20 คน ฝึกอบรมในสาขา 1) ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก 2) ช่างซ่อมและบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ 3) ช่างแต่งผมสตรี 4) ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ 5) ช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม 6) ช่างยนต์ และ 7) ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ฝึกอบรมในสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน ระหว่างวันที่ 20 เม.ย. – 17 มิ.ย. 2565 และฝึกในสถานประกอบกิจการ ระหว่างวันที่ 20 มิ.ย. – 20 ก.ค. 2565 จากโครงการดังกล่าวมีผู้ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ จากหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปประกอบอาชีพทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีงานทำ หลายคนเข้าสู่ตลาดแรงงานทำง่นในสถานประกอบกิจการในฐานะแรงงานมีฝีมือ เช่นนายมงคลชัย ผึ่งผาย และนายโกวิทย์ หนุนภิรมย์ขวัญ เป็นช่างไฟฟ้าในอาคาร ของร้าน เอพี เทคนิคแอร์ จังหวัดลำพูน นายกวีศิลป์ มั่นธรรม เป็นช่างเชื่อมโลหะ ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส เค ที เทรลเลอร์ แอนด์ ทรัคและนายวัชรินทร์ พรมแต้มเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ที่ บริษัท Sabai รถไฟฟ้า จำกัด จังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้บางคนเปิดเป็นกิจการส่วนตัว เช่น นายสุขสันต์ ตาก่ำ ปัจจุบัน เปิดร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ ที่จังหวัดลำพูนและ นางสาวรมิตา จิตสัมพันธ์สุข ประกอบอาชีพส่วนตัว ผลิตขนมเบเกอรี่ส่งร้านในจังหวัดเชียงใหม่ และขายออนไลน์เป็นต้น
การเสริมทักษะฝีมือให้เยาวชน โดยเฉพาะนักเรียนชายขอบรุ่นใหม่ให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพจะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ยั่งยืนต่อไป ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเข้าร่วมโครงการได้ที่ สถาบัน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4