​สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานฯ สาขา ช่างหล่อลูกพิมพ์ ระดับ 1

ข่าวประชาสัมพันธ์

วันนี้ (19 กันยายน 2565) นายพงษ์ศักดิ์ โพธินาม ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองมาตรฐานฝีมือแรงงานตามมาตรา 26 สาขา ช่างหล่อลูกพิมพ์ ระดับ 1 ครั้งที่ 1/2565 ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารอำนวยการ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน เพื่อพิจารณากลั่นกรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของสถานประกอบการ บริษัท เลอ ครูเซ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบการนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานพิจารณารับรองตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545

นายพงษ์ศักดิ์ โพธินาม ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน กล่าวว่า มาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นข้อกำหนดทางวิชาการที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดระดับ ความรู้ (Knowledge) ความสามารถ (Skill) และทัศนคติ (Attitude) ในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพในสาขาต่าง ๆ การจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพเพื่อใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงาน กำหนดอัตราค่าจ้างและค่าตอบแทนตามทักษะฝีมือ พิจารณาเลื่อนตำแหน่งงาน พัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรมซึ่งส่งผลดีต่อสถานประกอบกิจการในแง่ของการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ช่วยลดการสูญเสียในวงจรการผลิตลดต้นทุน ลดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานได้ โดยขั้นตอนจะทำร่วมกันระหว่างสถานประกอบกิจการกับสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูนในการจัดตั้งคณะทำงานในการวิเคราะห์ตำแหน่งงาน จัดทำข้อสอบภาคความรู้ ภาคปฏิบัติ วิเคราะห์ข้อสอบ จัดทดลองทดสอบให้แก่พนักงาน และเสนอต่อคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อขอหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพแล้วนำไปใช้ได้ทันที สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน ได้ร่วมกับบริษัท เลอ ครูเซ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 26 ในสาขา ช่างหล่อลูกพิมพ์ ระดับ 1 โดยใช้เทคนิค DACUM (DEVELOPING A CURRICULUM) ในการวิเคราะห์ตำแหน่งงาน งานหลักและงานย่อย แล้วจัดทำรายละเอียดคู่มือมาตรฐานฝีมือแรงงาน ข้อสอบภาคความรู้แบบทดสอบภาคความสามารถ ดำเนินการทดลองทดสอบทั้งภาคความรู้และภาคความสามารถ เพื่อสร้างมาตรฐานฝีมือแรงงานตามมาตรา 26 ที่ใช้เฉพาะในสถานประกอบกิจการ ทั้งนี้ เมื่อผู้ประกอบกิจการได้รับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของตนตามมาตรา 26 แล้ว และได้นำมาตรฐานดังกล่าว ไปใช้ในการทดสอบให้แก่ลูกจ้างของตนในปีที่ผ่านมา มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนในแต่ละสาขา ระดับละ 10,000 บาทอีกด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานและนำไปใช้ในการทดสอบให้แก่ลูกจ้างของตน ต่อไป ซึ่งนอกจากประโยชน์ที่สถานประกอบกิจการจะได้รับแล้ว พนักงานหรือลูกจ้างก็จะได้ทราบระดับทักษะฝีมือ และข้อบกพร่องของตนเองเป็นแนวทางการวางแผนพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบและช่วยให้ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมอีกด้วย

  • ผู้โพสต์ :
    dsdlamphun
  • อัพเดทเมื่อ :
    19 ก.ย. 2022 17:30:03

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา