เครือข่ายปฏิบัติการ CSR for Thailand โดยคุณพิมพร ศิริวรรณ ผู้จัดการเครือข่าย เปิดเผยว่า ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บป่วยด้วยอาหาร ที่ควรจะให้ประโยชน์มากกว่าโทษ ซึ่งจะต้องหันกลับมาดูแลตั้งแต่ต้นทางคือ การเลือกทานวัตถุดิบที่ปลอดภัยมาปรุงอาหาร โดยเฉพาะ ข้าว และพืชผัก ที่ควรจะต้องมาจากการปลูกแบบอินทรีย์ คือปลูกด้วยดิน ไม่ใชปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า และใส่ใจระบบนิเวศน์ รวมถึงมีความมุ่งมั่นในการเชื่อมโยงผู้บริโภคให้ไปรู้จักแหล่งปลูกพืชผักอินทรีย์ ตามแนวทางของสามพรานโมเดล เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์และห่วงโซ่อาหารสมดุล ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงริเริ่มกิจกรรมลงพื้นที่ พาคนเมืองซึ่งเป็นคนปลายน้ำ ไปเรียนรู้ ความหมายของเกษตรอินทรีย์ จากเกษตรกรอินทรีย์ ที่เป็นคนต้นน้ำ โดยตรง พร้อมฟังประสบการณ์ องค์ความรู้ แรงบันดาลใจและความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทั้งต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ของครอบครัวเกษตรกร หลังจากหันหลังให้กับการใช้เคมี
Organic DIY“วิถีอินทรีย์ ขอมีใจ ลงมือทำ คุณทำได้” ในทริปแรกนี้ จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561โดยจะลงไปพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ ต. ทัพหลวง อ.เมือง จ. นครปฐม ที่มี คุณอรุณี พุทธรักษา หนึ่งในเครือข่ายของสามพรานโมเดล ที่นับเป็นเกษตรอินทรีย์สายแข็ง เป็นผู้นำ และทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยนำแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต และขยายสู่สังคมรอบข้าง ทำให้ครอบครัวของตนเอง รวมถึงเกษตรกรในกลุ่มมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยหลายปีมานี้ จากความเอาใจใส่ พัฒนาแปลงปลูกอย่างต่อเนื่อง กลุ่มเกษตรกรที่มีอุดมการณ์ร่วมกันมีความเข้มแข็ง มุ่งมั่นทำผลผลิตอินทรีย์ จนได้รับการรับรองมาตรฐาน IFOAM และ ได้รับใบประกาศการรับรองการทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS
คุณอรุณี พุทธรักษา กล่าวว่า อยากให้ผู้คนในเมือง ผู้บริโภคตื่นตัวมาเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ทั้งการปลูก การแปรรูป เพื่อจะได้ตระหนักถึงคุณค่า ประโยชน์ รวมถึงรับรู้ถึง พิษภัยของสารเคมี ที่เป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วยอย่างชัดเจน เพื่อจะได้หันมาเปลี่ยนแปลง เลือกบริโภคอาหารที่ผลิตจากเกษตรอินทรีย์ ที่มีความปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ รวมถึงมาเรียนรู้วิถีชีวิตของเกษตรกร และมาหัดปลูก และนำความรู้กลับไปที่บ้านไปปลูก ไปบอกเพื่อนๆ ให้ตื่นตัวได้
การนำผู้บริโภคลงพื้นที่มาเรียนรู้กับเกษตรกร ในโครงการ Organic DIY ยังจะทำให้เกิดความเข้าใจและเกิดความเชื่อมโยงที่นำไปสู่ห่วงโซ่อาหารที่ยั่งยืน ซึ่งอรุณีเล่าว่า สิ่งที่จะถ่ายทอดให้ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมนอกจากเทคนิคการปลูกแล้ว ยังรวมถึง กระบวนการทำงานของเกษตรกรอินทรีย์ ที่จะต้องมีการ วางแผนและทำงานอย่างเป็นระบบ
“เพราะผักบางชนิด ไม่สามารถปลูกได้ทั้งปี เช่นคะน้า กวางตุ้ง ต้องปลูกในฤดูหนาว แต่มีผักที่มีปลูกได้ทั้งปีเช่นดอกแค ตำลึง ซึ่งคนที่สนใจจะต้องรู้ถึงความยากง่ายของการปลูกพืชแต่ละชนิด ที่ในที่สุดแล้วหากตั้งใจจริงก็สามารถปลูกในแบบอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆได้ เช่น ผักบุ้ง ที่บางช่วงจะไม่โต ก็ต้องไปดูเจอปัญหาอะไรไหม แล้วก็ค่อยๆ แก้ หากปลูกในฤดูฝน ใบก็จะช้ำ ก็ต้องแก้ปัญหาทำแสลน กันน้ำฝนกระแทก ขณะที่การทำงานจะต้องมีการจดบันทึก เรื่องโรคพืชแมลง ว่าในเดือนไหนจะเจอโรคพืชชนิดใด ใช้ชีวภาพตัวไหนฉีดพ่น ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์เช่นเดียวกับการรวมกลุ่ม เพื่อให้เกิดระบบตรวจสอบกันเอง นอกจากนี้ยังจะได้เล่าให้ผู้มาร่วมกิจกรรมฟัง ถึงการรวมกลุ่มเกษตรกร ที่ทำให้การทำอินทรีย์ง่ายขึ้น เพราะสมาชิกในกลุ่มจะมีความถนัดต่างกันไป และวิธีการวางแผนล่วงหน้าก่อนการเพาะปลูกภายใต้ความต้องการของตลาด” สำหรับการที่คนตื่นตัวมาเรียนรู้ เรื่องเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
คุณพิมพร ศิริวรรณ ผู้จัดการเครือข่าย CSR for Thailand มองว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะเหนือกว่าแรงบันดาลใจ ความเข้าใจ ที่ทุกคนจะได้รับ คนที่มาร่วมกิจกรรมอาจจะไปพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพเสริม ซึ่งสำหรับศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจพอเพียง เป็นต้นแบบที่ดี เพราะเกษตรกรในกลุ่มมีองค์ความรู้ และมีอุดมการณ์ที่จะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และคนในสังคม โดยหลังจากกิจกรรม คนที่สนใจก็อาจจะมาร่วมเรียนรู้กับเกษตรกรต่อ ในเรื่องต่างๆ
อย่างไรก็ตามผู้สนใจที่อยากเดินตามวิถีอินทรีย์ คุณอรุณีบอกว่าอันดับแรกต้องตั้งใจจริง รวมถึงมาหาแรงบันดาลใจจาก ทริป Organic DIY และทริปอื่นๆ ด้วย และหากอยากทำจริงๆ ก็ควรมาเรียนรู้การทำอินทรีย์ราว 5 เดือน ซึ่งทางศูนย์ฯ ยินดีต้อนรับคนที่สนใจมาอบรมต่อเนื่องด้วย
สำหรับกิจกรรม Organic DIY ที่จะจัดขึ้นในครั้งนี้ จะมีการลงพื้นที่ดูแปลงนาอินทรีย์ แปลงปลูกผักสวนครัวเหนือดิน การทำปุ๋ยหมัก การทำสมุนไพรไล่แมลง รวมถึงการเตรียมดิน การเลี้ยงไก่ ตลอดจนมีกิจกรรมเพาะต้นอ่อนผักบุ้ง เพาะถั่วงอก การแปรรูปทำน้ำตาลอ้อยอินทรีย์ การทำขนมข้าวต้มมัด การเพาะเห็ด และการปลูกผักสลัดตุ้ม รวมถึงการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ทำน้ำยาปากหอม โดยในกิจกรรม ทุกคนจะได้ลิ้มรสกับ อาหาร ขนม ของว่าง น้ำอ้อยอินทรีย์ ชาสมุนไพร รวมถึงช้อป ผลผลิตอินทรีย์ ที่ทางกลุ่มเกษตรกรได้จัดเตรียมไว้ต้อนรับทุกคนที่มาร่วมกิจกรรม ด้วยความสุขใจและเต็มใจยิ่ง
สำหรับผู้สนใจร่วม กิจกรรม Organic DIY สามารถสอบถามรายละเอียดและค่าใช้จ่ายได้ที่ เครือข่ายปฏิบัติการ CSR for Thailand คุณพิมพร 081-9282808 หรือติดต่อ ID line : pimporn999