รายงานโดย China Report
ในการรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศว่า ประชาชนยากจนในชนบทที่เหลืออยู่ราว 5.51 ล้านคนในช่วงต้นปี 2563 ได้หลุดพ้นจากความยากจนเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อสิ้นปี 2563 ขณะที่อำเภอยากจนที่เหลืออยู่ 52 อำเภอก็หลุดพ้นจากความยากจนเช่นกัน โดยมณฑลเสฉวนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสมรภูมิสำคัญในการต่อสู้กับความยากจน มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จที่เกิดขึ้น
มณฑลเสฉวนมีพื้นที่ระดับอำเภอ 183 อำเภอ โดยในจำนวนนี้ 161 อำเภอมีสถานะยากจน และ 45 อำเภอมีสถานะยากจนสุดขีด แต่เมื่อปีที่แล้ว ประชาชนยากจน 6.25 ล้านคน จาก 11,501 หมู่บ้าน ใน 88 อำเภอต่างหลุดพ้นจากความยากจน
หมู่บ้านอาปู้ลั่วฮา ซึ่งเคยเป็น "มุมที่ยากจนที่สุดในจีน" ก็เป็นหนึ่งใน 11,501 หมู่บ้านที่กล่าวถึงข้างต้น ทั้งนี้ ในภาษาอี้เสฉวน "อาปู้ลั่วฮา" แปลว่า "หุบเขาลึก" หรือ "เขตหวงห้าม" โดยหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในหุบเขาริมแม่น้ำจินซาในอำเภอปู้ถัว เขตปกครองตนเองเหลียงซานอี้ สภาพภูมิศาสตร์ทำให้การคมนาคมสมัยใหม่เข้าไม่ถึงหมู่บ้านแห่งนี้ ชาวบ้านต้องปีนเขาและหน้าผาหรือใช้ซิปไลน์ในการข้ามแม่น้ำเพื่อออกไปสู่โลกภายนอก
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในปี 2562 เมื่อมณฑลเสฉวนประกาศว่าจะสร้างถนนเข้าหมู่บ้านทุกแห่งภายในสิ้นปี จากนั้นในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน เครื่องจักรต่าง ๆ ก็เดินทางไปถึงหมู่บ้านอาปู้ลั่วฮา
การสร้างถนนเข้าหมู่บ้านระยะทางเพียง 3.8 กิโลเมตรมีความท้าทายอย่างมาก เพราะแทบทุกจุดอยู่ใกล้หน้าผาสูงชัน มณฑลเสฉวนได้ส่งผู้เชี่ยวชาญและเฮลิคอปเตอร์ขนส่ง Mil Mi-26 ไปช่วยปฏิบัติภารกิจ ชาวบ้านคนหนึ่งที่อยู่ห่างจากจุดจอดเฮลิคอปเตอร์เพียง 20 เมตร เล่าว่า "เราทึ่งมากที่เห็นรถขุดเคลื่อนออกมาจากเฮลิคอปเตอร์"
การสร้างถนนเสร็จสมบูรณ์ในปีต่อมา ส่งผลให้หมู่บ้านทั้งหมดในมณฑลเสฉวนสามารถเข้าถึงได้ด้วยรถยนต์ ถนนเส้นนี้ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากและสามารถบอกลาความยากจนได้ในที่สุด
การขจัดความยากจนไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศจัดตั้งคณะบริหารแห่งชาติเพื่อชุบชีวิตชนบท โดยเข้ามาทำหน้าที่แทนสำนักงานกลุ่มผู้นำการบรรเทาความยากจนและการพัฒนาของคณะรัฐมนตรี นับเป็นการเปลี่ยนจุดโฟกัสของการทำงานในชนบทครั้งประวัติศาสตร์ของจีน และมณฑลเสฉวนก็เริ่มดำเนินการชุบชีวิตพื้นที่ชนบทแล้ว
ความเจริญรุ่งเรืองเชิงอุตสาหกรรมคือส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์การชุบชีวิตชนบทจีน ในฐานะที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มณฑลเสฉวนเริ่มจากการเร่งปรับปรุงการเกษตรให้ทันสมัย จนถึงขณะนี้ เขตปกครองตนเองเหลียงซานอี้ได้วางแผนสร้างนิมคมอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ 118 แห่ง เพื่อสร้างงานให้แก่ครัวเรือนที่เคยยากจนกว่า 80% ของทั้งหมด
ขณะเดียวกัน เกษตรกรในอำเภอต้าอี้ของมณฑลเสฉวนได้เริ่มทำการเกษตรผ่าน "ระบบคลาวด์" โดยจู หลี่ซา เกษตรกรในท้องถิ่น เปิดเผยว่า เธอทำงานทั้งหมดผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเธอสามารถดูแผนที่ฟาร์มทั้งหมดผ่านแอปที่มี 4 ฟีเจอร์ ได้แก่ การผลิตทางการเกษตร การทำงานในฟาร์ม การเก็บเกี่ยว และการเงิน "ฉันสามารถสั่งงานผ่านโทรศัพท์เพื่อให้ทีมงานทำหน้าที่ของตนเอง" คุณจูกล่าว พร้อมกับเสริมว่าเธอไม่จำเป็นต้องไปทำงานที่ฟาร์มเลยด้วยซ้ำ
อีกหนึ่งยุทธศาสตร์การชุบชีวิตชนบทคือ การส่งเสริมชนบทด้วยสื่อดิจิทัล ในปี 2563 หนุ่มทิเบตชื่อว่า "ติงเจิน" ได้กลายเป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์ ส่งผลให้อำเภอหลี่ถัง ในเขตปกครองตนเองกานจือ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา โด่งดังในชั่วข้ามคืน นอกจากนั้นยังมีหมู่บ้านหานฟานในอำเภอหลี่ถัง ซึ่งเคยประสบกับความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ในปี 2559 ทางหมู่บ้านได้เริ่มทดลองผสมผสานการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาการท่องเที่ยว ด้วยการปลูกไม้ดอกทนแล้งบนพื้นที่ 53.3 เฮกตาร์ พร้อมกับสร้างรีสอร์ทธีมทุ่งหญ้าบนพื้นที่ 13.3 เฮกตาร์ ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและปกป้องระบบนิเวศไปพร้อมกัน
ในอนาคต มณฑลเสฉวนจะเดินหน้าชุบชีวิตชนบทด้วยการปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน กระตุ้นเศรษฐกิจชนบทรูปแบบใหม่ สำรวจแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกร ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตร พัฒนาห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุตสาหกรรมของนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรให้ทันสมัย ขยายขอบเขตการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ใหม่ในด้านการเกษตร และปรับปรุงสภาพแวดล้อมในพื้นที่ชนบท
คำบรรยายภาพ: ชาวบ้านในมณฑลเสฉวนหลุดพ้นจากความยากจน และย้ายจากบ้านเก่าที่ไม่เหมาะสำหรับอยู่อาศัยไปยังบ้านใหม่