โครงการระยะเวลา 3 ปีจะส่งมอบแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับกานา เอธิโอเปีย และอียิปต์
หัวเว่ย (Huawei) และยูเนสโก (UNESCO) ประกาศเปิดตัวเฟสการดำเนินงานโครงการ Technology-Enabled Open Schools for All (TeOSS) ในประเทศกานา เอธิโอเปีย และอียิปต์ ในระหว่างการประชุมทางออนไลน์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
โครงการ TeOSS สอดรับกับเป้าหมาย UN SDG4 และจะทำหน้าที่เป็นฐานสำหรับการขับเคลื่อนการพลิกโฉมภาคการศึกษาสู่ความเป็นดิจิทัล และส่งเสริมประเทศสมาชิกของยูเนสโกทั้ง 3 ประเทศนี้ในการสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ซึ่งต้านทานต่อการหยุดชะงักทั่วโลกได้ เช่น การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การประเมินผลลัพธ์ของโครงการจะช่วยชี้แนะกลยุทธ์และแบบจำลองสำหรับการขยายโครงการ TeOSS ในระดับชาติ และสำหรับการขยายโครงการไปยังประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา เพื่อผลักดันการผนวกรวม ICT ในการสอนและการเรียนรู้
นอกจากการเชื่อมต่อโรงเรียนแล้ว โครงการ TeOSS ในกานา เอธิโอเปีย และอียิปต์ จะจัดการฝึกอบรมสำหรับครูและนักเรียนในการใช้เครื่องมือดิจิทัล สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ที่โรงเรียนและที่บ้าน ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรดิจิทัลที่เข้าถึงได้จากระยะไกลโดยอิสระ ทั้งยังมุ่งมั่นที่จะช่วยให้นักเรียนกลายเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีความมั่นใจ ซึ่งสามารถนำทางโลกเสมือนอย่างเสรี และทำให้ครูมีทักษะที่จำเป็นในการใช้เครื่องมือดิจิทัลทั้งที่มีอยู่เดิมและเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มผลการเรียนรู้สูงสุด
Stefania Giannini ผู้ช่วยอธิบดีฝ่ายการศึกษาของยูเนสโก กล่าวว่า "โครงการนี้ออกแบบมาเพื่อทดสอบรูปแบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดได้ทันที และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อช่วยพัฒนารูปแบบการศึกษาในอนาคต" พร้อมเสริมว่า "โครงการนี้มาในรูปแบบโรงเรียนดิจิทัล ที่ทำให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงโครงการได้ ไม่ว่าในยามวิกฤตหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นการก้าวให้ไกลกว่าสถานการณ์ปัจจุบันและเปิดขอบฟ้าใหม่ของการเรียนการสอน"
โครงการ TeOSS ได้รับการวางแผนร่วมกับรัฐบาลกานา เอธิโอเปีย และอียิปต์อย่างใกล้ชิดตามยุทธศาสตร์ชาติที่มีอยู่เดิม โครงการนี้จึงตอบสนองความต้องการของแต่ละที่ได้อย่างเจาะจง
ในอียิปต์ ได้มีการพัฒนากรอบทักษะด้าน ICT สำหรับครูและนักเรียนในโรงเรียนระดับ K12 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรดิจิทัลและครูระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นจะได้รับการฝึกอบรม อีกทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางไกลแห่งชาติ เพื่อให้นักการศึกษาทั่วประเทศได้ใช้งานเพื่อความต่อเนื่องในการพัฒนาวิชาชีพ
ดร. Reda Hegazy รัฐมนตรีช่วยว่าการกิจการครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการและการศึกษาด้านเทคนิคของอียิปต์ กล่าวว่า "ระบบการศึกษา 2.0 ใหม่ของอียิปต์ขับเน้นการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับกระบวนการศึกษาที่มีแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ดิจิทัลและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ ตลอดจนบรรลุการเข้าถึงและคุณภาพของการศึกษา" พร้อมเสริมว่า "บทบาทของครูได้เปลี่ยนจากการให้ข้อมูลมาเป็นผู้ชี้แนะและผู้นำกระบวนการเรียนรู้ในกระบวนการศึกษาผ่านแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ดิจิทัล"
โครงการ TeOSS ในเอธิโอเปียจะมุ่งเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ICT เพื่อเชื่อมต่อโรงเรียนนำร่อง ฝึกอบรมครูและนักเรียน และสร้างระบบการจัดการการเรียนรู้ที่ผนวกรวมกับแพลตฟอร์มการฝึกอบรมครู
ดร. Fanta Mandefiro จากกระทรวงศึกษาธิการของเอธิโอเปีย กล่าวว่า "เอธิโอเปียเข้าใจดีถึงความจำเป็นของ ICT และการพลิกโฉมระบบการศึกษาในอนาคตของเราสู่ความเป็นดิจิทัล เพื่อส่งมอบการศึกษาที่มีคุณภาพและครอบคลุมอย่างเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน ปราศจากการหยุดชะงัก ตามที่กำหนดไว้ในแผนงานภาคการศึกษาใหม่ของเรา" พร้อมระบุว่า "โครงการนี้จึงสอดคล้องอย่างยิ่งกับความตั้งใจและกิจกรรมของโครงการและแนวคิดริเริ่มของเราในการใช้คอนเทนต์ดิจิทัลในระบบการศึกษา"
สำหรับกานา เป้าหมายอยู่ที่การสร้างคอนเทนต์ดิจิทัลสำหรับทุกวิชา ตลอดจนการฝึกอบรมคุณครูและนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมต้น โครงการนี้จะสร้างคลังสารสนเทศดิจิทัลที่ครูสามารถใช้งานเพื่ออัปโหลดคอนเทนต์ และผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์โดยอิสระ
ดร. Yaw Osei Adutwum รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกานา กล่าวว่า "ผมรู้สึกดีใจที่ได้ทราบว่า ความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยกับยูเนสโก เป็นการสานต่อความร่วมมือและความพยายามในการทำงานร่วมกันกับสถาบันระดับชาติของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง CENDLOS ซึ่งเป็นสถาบันของรัฐบาลกานาที่มุ่งอำนวยความสะดวกในการผนวกรวม ICT เข้ากับระบบการศึกษาทั่วประเทศ"
TeOSS สอดรับกับโครงการ Tech4Edu ของแผนริเริ่มของหัวเว่ยในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม หรือ TECH4ALL ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนความเท่าเทียมและคุณภาพทางการศึกษาด้วยเทคโนโลยี
"แพลตฟอร์มดิจิทัลที่โครงการ Technology-enabled Open Schools for All จะสร้างนั้น สะท้อนถึงการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร" Kevin Zhang ซีเอ็มโอฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน ICT ของหัวเว่ย กล่าว "หัวเว่ยมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยมที่จะทำงานร่วมกับยูเนสโก รัฐบาล และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อสร้างโครงการที่ประสบความสำเร็จ ยั่งยืน และปรับขนาดได้"
โครงการ TeOSS และความร่วมมือต่าง ๆ ที่จะดำเนินโครงการนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพลิกโฉมการศึกษาสู่ความเป็นดิจิทัล และขับเคลื่อนการเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเท่าเทียมและครอบคลุมสำหรับทุกคน
คำบรรยายภาพ - หัวเว่ยและยูเนสโกประกาศเปิดตัวเฟสการดำเนินงานโครงการ Technology-Enabled Open Schools for All (TeOSS) ในประเทศกานา เอธิโอเปีย และอียิปต์