องค์กรโรคหลอดเลือดสมองแห่งยุโรป เผยความเชื่อมโยงระหว่างจุลินทรีย์ในลำไส้กับอาการที่รุนแรงขึ้นและการฟื้นตัวที่ช้าลงหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

สุขภาพ

ผลการศึกษาครั้งใหม่พบว่าจุลินทรีย์ในลำไส้หลายสายพันธุ์มีความสัมพันธ์กับอาการของโรคหลอดเลือดสมองที่รุนแรงขึ้นและการฟื้นตัวที่ช้าลงหลังเกิดโรค บ่งชี้ว่าจุลินทรีย์ในลำไส้อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเสี่ยงและผลของโรคหลอดเลือดสมอง

ผลการศึกษาครั้งใหม่ซึ่งได้รับการนำเสนอในการประชุมขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองแห่งยุโรป (European Stroke Organisation Conference หรือ ESOC 2022) ได้ชี้ให้เห็นถึงแบคทีเรียกลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับการฟื้นตัวของระบบประสาทที่ช้าลงหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) ทั้งในระยะแรก (24 ชั่วโมง) และหลังผ่านพ้นไป 3 เดือน

ผลวิจัยระบุว่ามีแบคทีเรียหลายชนิดที่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด ซึ่งรวมถึงแบคทีเรียฟิวโซแบคทีเรียม (Fusobacterium) และแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ส่วนทางด้านแบคทีเรียเนกาทิวิบาซิลลัส (Negativibacillus) และเลนทิสเฟเรีย (Lentisphaeria) มีความสัมพันธ์กับอาการของโรคหลอดเลือดสมองที่รุนแรงขึ้นในระยะแรก (ณ 6 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมงตามลำดับ) ขณะที่แบคทีเรียแอซิดามิโนคอคคัส (Acidaminococcus) มีความสัมพันธ์กับการทำงานของระบบประสาทที่ย่ำแย่เมื่อผ่านไป 3 เดือน

ดร. มิเกล เลดอส (Dr. Miquel Lledos) จากห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์และเภสัชพันธุศาสตร์โรคหลอดเลือดสมองแห่งสถาบันวิจัยซานเปา (Sant Pau Research Institute) ในเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า "จุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งครอบคลุมจุลินทรีย์และแบคทีเรียนับล้านล้านที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนเรา ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองและการฟื้นตัวของระบบประสาทหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง อย่างไรก็ตาม การวิจัยส่วนใหญ่ในอดีตเป็นเพียงการศึกษาในสัตว์"

"สำหรับการศึกษาครั้งนี้ เราใช้ตัวอย่างจากอุจจาระของผู้ป่วย 89 คนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด โดยเป็นตัวอย่างแรกที่เก็บหลังเกิดโรค และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เราจึงสามารถระบุแบคทีเรียหลายกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด"

โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด เกิดขึ้นจากหลอดเลือดแดงที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองเกิดการอุดตันจากลิ่มเลือดหรือสิ่งกีดขวางอื่น ๆ และเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดที่พบมากที่สุด ในยุโรปมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองราว 1.3 ล้านคนต่อปี และถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับสอง

"การค้นพบในครั้งนี้เปิดมุมมองใหม่ที่น่าตื่นเต้นอย่างมาก นั่นคือ ในอนาคตเราอาจสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองหรือเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวของระบบประสาทด้วยการทดสอบจุลินทรีย์ในลำไส้ ทั้งนี้ ในสาขาอื่น ๆ ก็กำลังมีการทดลองทางคลินิกที่น่าสนใจ เช่น นักวิจัยได้แทนที่จุลินทรีย์ในลำไส้ด้วยการเปลี่ยนแปลงอาหารหรือการปลูกถ่ายอุจจาระจากผู้บริจาคที่มีสุขภาพดี ซึ่งเรื่องนี้ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในสาขาโรคหลอดเลือดสมองด้วย"

  • ผู้โพสต์ :
    iqmedia
  • อัพเดทเมื่อ :
    8 พ.ค. 2022 10:45:56

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา