บริษัทเปิดเผยความก้าวหน้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมภายในงานอีเวนท์ที่มุ่งเน้นด้านนี้โดยเฉพาะ
หัวเว่ย (Huawei) ประกาศเปิดตัวสิ่งประดิษฐ์สำคัญ ๆ กลุ่มใหม่ในการประกาศรางวัล "สุดยอดสิบสิ่งประดิษฐ์" (Top Ten Inventions) ซึ่งจัดขึ้นทุกสองปี ภายในงานประชุม "ขยายภูมิทัศน์นวัตกรรม 2022" (Broadening the Innovation Landscape 2022) ณ สำนักงานใหญ่ในเมืองเซินเจิ้น
รางวัลนี้มีขึ้นเพื่อยกย่องสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ซีรีส์ใหม่ หรือที่เป็นฟีเจอร์เชิงพาณิชย์ที่สำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว หรือที่สามารถสร้างมูลค่าอย่างมีนัยสำคัญให้กับบริษัทและอุตสาหกรรม
สิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลมีตั้งแต่โครงข่ายประสาทวงจรบวก (adder neural network) ที่ช่วยลดการกินไฟและขนาดพื้นที่ของวงจร ไปจนถึง "ม่านตานำแสง" (optical iris) ซึ่งปฏิวัติวงการด้วยการสร้างรหัสเฉพาะของใยแก้วนำแสง โดยออกแบบมาเพื่อช่วยผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถบริหารจัดการทรัพยากรเครือข่ายเพื่อลดเวลาและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งใช้งานบรอดแบนด์
การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นในบริบทของเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ที่ซึ่งการคุ้มครองและการแบ่งปันสิทธิดังกล่าวเป็นสิ่งที่หัวเว่ยเชื่อว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอีโคซิสเต็มทางเทคโนโลยี
"การคุ้มครอง IP เป็นหัวใจสำคัญของการปกป้องนวัตกรรม" ซ่ง หลิ่วผิง (Song Liuping) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของหัวเว่ย กล่าว พร้อมเสริมว่า "เราตั้งตารอที่จะได้ออกใบอนุญาตในสิทธิบัตรและในเทคโนโลยีของเราเพื่อแชร์นวัตกรรมของเราต่อชาวโลก สิ่งนี้จะช่วยขยายภูมิทัศน์ของนวัตกรรม ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของเราไปข้างหน้า และยกระดับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสำหรับทุกคน"
"หัวเว่ยเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่ตลอดเวลา และแสดงมูลค่าของ IP จากจีนให้เป็นที่ประจักษ์สู่สายตาโลกอยู่เสมอ" เถียน ลี่ผู่ (Tian Lipu) ประธานสมาคมคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (International Association for the Protection of Intellectual Property) สาขาประเทศจีน กล่าว
เมื่อถึงสิ้นปี 2564 หัวเว่ยถือครองสิทธิบัตรที่มีการใช้งานอยู่กว่า 110,000 รายการในกลุ่มสิทธิบัตรกว่า 45,000 กลุ่ม บริษัทได้จดสิทธิบัตรมากกว่าบริษัทสัญชาติจีนอื่นใด อีกทั้งยังได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรกับสำนักงานสิทธิบัตรแห่งสหภาพยุโรป (EU Patent Office) เป็นจำนวนมากที่สุด และอยู่ในอันดับ 5 ของการจดสิทธิบัตรใหม่ในสหรัฐอีกด้วย เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกันแล้วที่หัวเว่ยเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านการยื่นขอความคุ้มครองตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty)
อลัน ฟ่าน (Alan Fan) ประธานฝ่ายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของหัวเว่ย ระบุว่า มูลค่าสิทธิบัตรของหัวเว่ยได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในมาตรฐานที่เป็นกระแสหลัก อย่างเช่น เทคโนโลยีเซลลูลาร์, Wi-Fi และโคเดกเสียง/วิดีโอ
"ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สมาร์ทโฟนกว่า 2 พันล้านเครื่องได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตร 4G/5G ของหัวเว่ย และสำหรับรถยนต์นั้น มีการส่งมอบยานยนต์ที่มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตราว 8 ล้านคันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของหัวเว่ยให้กับผู้บริโภคในทุก ๆ ปี" ฟ่านกล่าว
นอกจากนี้ หัวเว่ยยังทำงานร่วมกับบริษัทบริหารจัดการสิทธิบัตรในการให้บริการการขออนุญาตแบบ "ครบจบในที่เดียว" สำหรับมาตรฐานที่เป็นกระแสหลักอีกด้วย
"บริษัทกว่า 260 แห่ง ซึ่งคิดเป็นเจ้าของอุปกรณ์ 1 พันล้านเครื่อง ได้รับการอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตร HEVC ของหัวเว่ยในระบบการแบ่งปันสิทธิบัตร" ฟ่านกล่าว พร้อมเสริมว่าบริษัทอยู่ระหว่างการหารือเพื่อสร้างระบบการแบ่งปันสิทธิบัตรแบบใหม่เพื่อทำให้อุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงสิทธิบัตรของหัวเว่ยสำหรับอุปกรณ์ Wi-Fi ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ หัวเว่ยยังอยู่ระหว่างการหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกใบอนุญาตและผู้ได้รับสิทธิบัตรระดับแนวหน้ารายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม เกี่ยวกับโครงการออกใบอนุญาตร่วมสำหรับสิทธิบัตร 5G
หลิว ฮว่า (Liu Hua) ผู้อำนวยการสำนักงานองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization) ในประเทศจีน ได้ชื่นชมการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมอยู่เสมอของหัวเว่ย โดยกล่าวว่า "เราตั้งตารอที่จะได้เห็นหัวเว่ยมีส่วนร่วมในการแข่งขันระดับสูงในระดับโลกต่อไปโดยมีนวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญ"
สำหรับมานูเอล เดอซานเตส (Manuel Desantes) อดีตรองประธานสำนักงานสิทธิบัตรแห่งยุโรปนั้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลหลายประการในโลกปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่จำนวนสิทธิบัตรหรือสิ่งประดิษฐ์ที่มีการขึ้นทะเบียนอีกต่อไปแล้ว "ระบบ IP ควรเป็นเครื่องรับประกันได้ว่า ผลงานสร้างสรรค์ที่คู่ควรต่อการคุ้มครองคือผลงานที่สร้างคุณค่าอย่างแท้จริง" เขากล่าว
งานดังกล่าวนี้นับเป็นงานอีเวนท์ด้านนวัตกรรมและ IP เป็นครั้งที่ 3 ที่หัวเว่ยได้จัดขึ้นเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านนวัตกรรมของบริษัท โดยทุก ๆ ปีหัวเว่ยจะนำเงินกว่า 10% ของรายได้จากยอดขายไปลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D)
ในแง่ของค่าใช้จ่ายด้าน R&D หัวเว่ยอยู่ในอันดับ 2 ในสกอร์บอร์ดการลงทุนด้าน R&D เชิงอุตสาหกรรมของ EU (EU Industrial R&D Investment Scoreboard) โดยในปี 2564 บริษัทได้เพิ่มเงินลงทุนด้าน R&D เป็น 1.427 แสนล้านหยวน คิดเป็น 22.4% ของรายรับรวมของบริษัท ส่วนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เงินลงทุนด้าน R&D โดยรวมของหัวเว่ยสูงกว่า 8.45 แสนล้านหยวน