เอ็ดฮีโร่ส์ (EdHeroes) โครงการริเริ่มด้านการศึกษาระดับโลก ประกาศเปิดตัวฮับในอินโดนีเซีย โดยมีการจัดพิธีลงนาม "บันทึกความร่วมมือ" ที่เกี่ยวข้องในแบบส่วนตัวสำหรับนักนวัตกรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ณ โรงแรมริตซ์ คาร์ลตัน แปซิฟิก เพลซ (Ritz Carlton Pacific Place) ในกรุงจาการ์ตา ซึ่งพันธมิตรหลักในอินโดนีเซียคือ มูลนิธิปีจาร์ (Pijar Foundation) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ช่วยทำให้เกิดโครงการริเริ่มแห่งอนาคตผ่าน "การบริหารการปกครองแบบประสานความร่วมมือ" อันเป็นการประสานงานของภาครัฐ, เอกชน และชุมชน
เจ้าชายจักราฮูโตโม วีรา ซุดจีโว หรือ เจ้าชายมังกูเนอการาที่ 10 (GPH Bhre Cakrahutomo Wira Sudjiwo, KGPAA Mangkunegara X) แห่งเมืองซูราการ์ตา เข้าร่วมงานเปิดตัวดังกล่าว รวมถึงตัวแทนจากกระทรวงรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย, มูลนิธิปูเตอรีอินโดนีเซีย, องค์กรกีซะฮ์ กาซิฮ์ (Kisah Kasih) และอีกมากมาย
คุณโอซามะ โอเบแดต (Osama Obeidat) สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาของเอ็ดฮีโร่ส์ และซีอีโอของควีน ราเนีย ทีเชอร์ อคาเดมี (Queen Rania Teacher Academy) และคุณชอน คอนเวย์ (Shaun Conway) ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิไอเอ็กซ์โอ (iXO Foundation) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการกำหนดให้เอ็ดฮีโร่ส์เป็นสถาบันในฮับอินโดนีเซีย เนื่องจากจะมีการจัดกิจกรรมมากมายที่จะส่งผลเชิงบวกต่อการศึกษาในประเทศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เอ็ดฮีโร่ส์เป็นโครงการริเริ่มด้านการศึกษาระดับโลก ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพันธกิจในการสร้างความสามัคคี สนับสนุน และสร้างแรงบันดาลใจให้ครอบครัวทั่วโลกโดยมอบโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ เครือข่ายเอ็ดฮีโร่ส์ได้รวบรวมผู้สนับสนุนกว่า 63,000 รายและเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกและระดับภูมิภาคเป็นประจำ โดยพันธมิตรบางส่วน ได้แก่ เวิลด์ แบงก์ กรุ๊ป (World Bank Group), สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งยูเนสโก (UNESCO IITE), ดรีม อะ ดรีม (Dream a Dream), ทีช ฟอร์ ออลล์ (Teach For All), วูลแฟรม (Wolfram), เอ็ดดูเคต เกิร์ลส์ (Educate Girls), เอ็ดดูเคต! (Educate!) และอีกมากมาย
นอกจากนี้ มูลนิธิปีจาร์ได้ประกาศโครงการสมาพันธ์บุคลากรแห่งอนาคตระดับโลก (Global Future Talent Alliance) ในระหว่างการเปิดตัวฮับเอ็ดฮีโร่ส์ในอินโดนีเซีย
"สมาพันธ์บุคลากรแห่งอนาคตระดับโลก" (GFTA) เป็นอีโคซิสเต็มการแชร์ทรัพยากรร่วมกันในภารกิจปฏิรูปการศึกษาสำหรับคนรุ่นต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ GFTA จะเชื่อมโยงนักนวัตกรรมด้านการศึกษา องค์กรการกุศล และองค์กรอื่น ๆ ที่ต้องการทดสอบและขยายขอบเขตโครงการริเริ่มเพื่ออุดช่องโหว่ด้านบุคลากรทั่วโลก กลไกการแชร์ทรัพยากรของ GFTA ช่วยให้โครงการทดลองด้านนวัตกรรมการศึกษาสามารถแสวงหาทรัพยากรด้านการเงินที่จำเป็นและเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากทั่วโลก
คุณจาซาดีรา เฟดีวา ตัมซิล (Cazadira Fediva Tamzil) ผู้นำโครงการ GFTA โดยมูลนิธิปีจาร์ กล่าวว่า "ช่องโหว่ด้านทักษะในระดับโลกเป็นปัญหาสำคัญสำหรับคนรุ่นนี้และคนรุ่นหน้า เรายินดีต้อนรับนักปฏิรูปการศึกษาทุกคนให้เข้าร่วมสมาพันธ์นี้และทำลายอุปสรรคไปด้วยกัน" ซึ่ง GFTA มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนโครงการริเริ่ม 25 โครงการทั่วโลกในปีแรก
ไม่นานมานี้เอ็ดฮีโร่ส์และมูลนิธิปีจาร์ได้พบกับนักนวัตกรรมด้านการศึกษาทั่วอินโดนีเซีย รวมถึงเจ้าหญิงมังคูบูมี (Princess Mangkubumi) สมาชิกราชวงศ์ยอกยาการ์ตา ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะนักกิจกรรมด้านการศึกษาและความเคลื่อนไหวของเยาวชน โดยพวกเขายังมีส่วนร่วมในการประชุมเอเชียน เวนเจอร์ ฟิแลนโธรพี เน็ตเวิร์ค (Asian Venture Philanthropy Network: AVPN) ปี 2565 ที่บาหลี ซึ่งเป็นงานประชุมด้านการลงทุนเพื่อสังคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนเงินทุนเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคม