ฟรีสแลนด์คัมพิน่า โปรเฟสชันแนล (FrieslandCampina Professional หรือ FCP) ได้ลงนามในสัญญาการสนับสนุนระยะเวลา 10 ปีกับสมาพันธ์กาแฟอาเซียน (ASEAN Coffee Federation หรือ ACF) เพื่อเป็นพันธมิตรก่อตั้ง (Founding Partner) และแบรนด์ผลิตภัณฑ์นมแต่เพียงผู้เดียวของสมาพันธ์ การร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ฟรีสแลนด์คัมพิน่า โปรเฟสชันแนล และสถาบันกาแฟอาเซียน (ASEAN Coffee Institute หรือ ACI) ซึ่งเป็นหน่วยงานฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับกาแฟอย่างเป็นทางการของสมาพันธ์กาแฟอาเซียน ได้ร่วมพัฒนาหลักสูตรศาสตร์แห่งนม (Milk Science) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรรับรองบาริสต้า (Barista Certification Programmes) ที่มีอยู่เดิมของสถาบัน หลักสูตรรับรองบาริสต้าของสถาบันกาแฟอาเซียนนี้ออกแบบโครงสร้างให้เหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านกาแฟทุกระดับ ตั้งแต่บาริสต้าระดับเริ่มต้นไปจนถึงเจ้าของคาเฟ่ นักออกแบบเมนูเครื่องดื่ม และผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทสัมผัสเครื่องดื่ม โดยเปิดสอนในประเทศอินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
คำบรรยายภาพ - วิคเตอร์ มาห์ (Victor Mah) ประธานสมาพันธ์กาแฟอาเซียนและสถาบันกาแฟอาเซียน และสตีเวน ตัน (Steven Tan) กรรมการบริหารสมาพันธ์กาแฟอาเซียน ร่วมกับลูส สนิจเดอร์ (Loes Snijder) ประธานฝ่ายการตลาดกลุ่มกาแฟและชา ฟรีสแลนด์คัมพิน่า โปรเฟสชันแนล และเยลลา โฟล์เมอร์ (Jelle Folmer) ผู้อำนวยการฝ่ายการขายและการตลาด ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ฟรีสแลนด์คัมพิน่า โปรเฟสชันแนล ในพิธีลงนามความร่วมมือในการสนับสนุน จัดขึ้นในสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565
ความร่วมมือครั้งนี้ระหว่างฟรีสแลนด์คัมพิน่า โปรเฟสชันแนล กับสมาพันธ์กาแฟอาเซียนมุ่งยกระดับการรับรองทางวิชาชีพของชุมชนบาริสต้าในอาเซียนและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้นมในบริบทร้านคาเฟ่ ทั้งนี้ นมซึ่งเป็นหนึ่งส่วนผสมหลักในสูตรกาแฟ มีบทบาทสำคัญในประสบการณ์การลิ้มรสชาติ ด้วยความต้องการของผู้บริโภคต่อประสบการณ์คาเฟ่และกาแฟที่เพิ่มมากขึ้น ความเชี่ยวชาญของบาริสต้าในศิลปะการทำกาแฟมักถูกมองข้ามไป ฟรีสแลนด์คัมพิน่า โปรเฟสชันแนล ร่วมพัฒนาหลักสูตรศาสตร์แห่งนมร่วมกับสมาพันธ์กาแฟอาเซียน ผ่านหน่วยงานฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับกาแฟอย่างเป็นทางการของสมาพันธ์อย่างสถาบันกาแฟอาเซียน โดยหวังว่าจะได้เริ่มต้นทศวรรษของการตระหนักถึงคุณค่าของความเชี่ยวชาญด้านกาแฟที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดอาเซียนของสมาพันธ์กาแฟอาเซียน โดยเกิดขึ้นได้ด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้นมในบริบทร้านคาเฟ่ เช่นนี้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของสถาบันกาแฟอาเซียน ในการสร้างคุณภาพและมาตรฐานของกาแฟ ตลอดจนให้ความรู้เกี่ยวกับกาแฟในราคาที่เข้าถึงได้ในทั่วทั้งอาเซียน
ฟรีสแลนด์คัมพิน่า โปรเฟสชันแนล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรอยัล ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (Royal FrieslandCampina) เป็นบริษัทผลิตภัณฑ์จากนมรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีประวัติความเป็นมา 150 ปีและมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์จากนมแบบค้าปลีกระดับแนวหน้าของตลาดที่เป็นที่รู้จักจำนวนมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อย่างเช่น ดัทช์ เลดี้ (Dutch Lady), นกเหยี่ยวฟอลคอน (Falcon), โฟร์โมสต์ (Foremost), อลาสก้า (Alaska), โอเมลา (Omela) และฟริเชียน แฟล็ก (Frisian Flag) ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์นมระยะเวลากว่า 100 ปี โซลูชันกาแฟและชาที่ครอบคลุมหลากหลายภายใต้แบรนด์ระดับโลกและระดับภูมิภาค ตลอดจนความร่วมมือเป็นพันธมิตรในกว่า 40 พื้นที่ใน 5 ทวีป ฟรีสแลนด์คัมพิน่า โปรเฟสชันแนล ภูมิใจที่ได้เป็นพันธมิตรก่อตั้งของสมาพันธ์กาแฟอาเซียนและสถาบันกาแฟอาเซียนสำหรับโครงการที่มีความหมายเช่นนี้
"สมาพันธ์กาแฟอาเซียนยินดีที่ได้ฟรีสแลนด์คัมพิน่า โปรเฟสชันแนล มาร่วมเป็นหนึ่งในองค์กรพันธมิตรก่อตั้งของสถาบันกาแฟอาเซียน หน่วยงานด้านการศึกษาอย่างเป็นทางการของสมาพันธ์กาแฟอาเซียน เนื่องจากนมเป็นส่วนสำคัญของกาแฟ เราเชื่อว่าความร่วมมือของเราจะให้ผลลัพธ์ที่มีคุณค่าในการยกระดับอุตสาหกรรมกาแฟด้วยหลักสูตรการศึกษาในราคาที่เข้าถึงได้" วิคเตอร์ มาห์ (Victor Mah) ประธานสมาพันธ์กาแฟอาเซียนและสถาบันกาแฟอาเซียน กล่าว
"แบรนด์ผลิตภัณฑ์จากนมของเราได้ให้บริการผู้บริโภค ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการบริการอาหาร และลูกค้าระดับอุตสาหกรรมในอาเซียน ด้วยผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงมาเป็นเวลากว่าร้อยปี เราเชื่อในการพัฒนานวัตกรรมและการเพิ่มคุณค่าอย่างสม่ำเสมอให้กับคู่ค้าในอุตสาหกรรมของเรา เพื่อให้ผู้บริโภคของเราได้บริโภคเครื่องดื่มที่ทันสมัยที่สุดอย่างต่อเนื่อง เราตื่นเต้นเกี่ยวกับความร่วมมือของเรากับสมาพันธ์กาแฟอาเซียนและสถาบันกาแฟอาเซียน และตั้งตารอทศวรรษแห่งการส่งเสริมและยกระดับความเชี่ยวชาญของบาริสต้า" เทรซี่ ฟอร์ทู (Tracy Fortu) หัวหน้าฝ่ายการตลาดด้านกาแฟและชา ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ฟรีสแลนด์คัมพิน่า โปรเฟสชันแนล กล่าว
เกี่ยวกับบริษัท รอยัล ฟรีสแลนด์คัมพิน่า จำกัด
ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (FrieslandCampina) เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตภัณฑ์จากนมรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีวัฒนธรรมสหกรณ์ย้อนไปเป็นเวลา 150 ปี บริษัทดำเนินการแปรรูปนมจากฟาร์มนมเป็นผลิตภัณฑ์และส่วนผสมจากนมหลากหลายชนิด ในแง่นี้รอยัล ฟรีสแลนด์คัมพิน่า ให้บริการสารอาหารที่มีคุณค่าจากนมแก่ผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
บริษัท รอยัล ฟรีสแลนด์คัมพิน่า จำกัด (Royal FrieslandCampina N.V.) เป็นเจ้าของโดยสหกรณ์โคนมฟรีสแลนด์คัมพิน่า ยู.เอ. (Zuivelcooeperatie FrieslandCampina U.A.) ซึ่งมีสมาชิกเป็นเกษตรกรฟาร์มโคนม 15,703 คนในเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และเยอรมนี ณ ปี 2564 ด้วยระบบสหกรณ์ สมาชิกชาวไร่โคนมเหล่านี้เป็นเจ้าของและเป็นผู้ควบคุมดูแลบริษัท ด้วยการร่วมมือกับสมาชิกชาวไร่โคนม ฟรีสแลนด์คัมพิน่าบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด จากยอดหญ้าสู่แก้วน้ำนม
ฟรีสแลนด์คัมพิน่าให้บริการผลิตภัณฑ์จากนมแก่ผู้บริโภค อย่างเช่น นม โยเกิร์ต นมข้นหวาน นมข้นจืด เครื่องดื่มจากนม ชีส เนย ควาร์ก และครีม บริษัทผลิตภัณฑ์จากนมแห่งนี้ให้บริการสารอาหารที่จำเพาะแก่กลุ่มผู้บริโภคที่จำเพาะ อย่างเช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และนักกีฬา กลุ่มผู้ประกอบการมืออาชีพ เช่น นักอบขนมปัง เชฟขนมอบ นักทำขนมช็อคโกแล็ต เชฟ และนักจัดเลี้ยงสามารถไว้วางใจฟรีสแลนด์คัมพิน่าสำหรับผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท รวมถึงครีม เนย ขนมหวาน และไส้ขนมหวาน นอกจากนี้บริษัทยังให้บริการส่วนผสมคุณภาพสูงแก่ผู้ผลิตอาหารและบริษัทเภสัชภัณฑ์ระดับระหว่างประเทศ
ในปี 2564 ไร่โคนมที่เป็นสมาชิก 10,564 แห่งในเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และเบลเยียมผลิตนมเกือบ 10,000 ล้านกิโลกรัมสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และส่วนผสมจากนม ฟรีสแลนด์คัมพิน่ามีสาขาใน 32 ประเทศและส่งออกไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ณ สิ้นปี 2564 ฟรีสแลนด์คัมพิน่ามีพนักงานเฉลี่ย 22,961 คน (พนักงานประจำ) สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของเรา www.frieslandcampina.com
เกี่ยวกับสมาพันธ์กาแฟอาเซียน
สมาพันธ์กาแฟอาเซียน (ACF) ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้เล่นในอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียนที่มีความหลงใหลในกาแฟ ซึ่งมุ่งที่จะยกระดับและพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟของอาเซียนอยู่เสมอเพื่อที่จะแข่งขันในเวทีโลก
สมาพันธ์กาแฟอาเซียนก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 ปัจจุบันเป็นตัวแทนของสมาคมกาแฟ 10 แห่งทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นสมาชิกหลักของสมาพันธ์ และมีสมาคมกาแฟอีก 1 แห่งจากเอเชียเหนือเป็นสมาชิกสมทบ สมาชิกหลักของสมาพันธ์กาแฟอาเซียน ประกอบด้วย
อินโดนีเซีย - (1) สมาคมกาแฟชนิดพิเศษแห่งอินโดนีเซีย (Specialty Coffee Association of Indonesia) และ (2) สมาคมผู้ส่งออกและอุตสาหกรรมกาแฟอินโดนีเซีย (Association of Indonesian Coffee Exporters and Industries)
ลาว - (3) สมาคมกาแฟลาว (Lao Coffee Association)
มาเลเซีย - (4) สมาคมกาแฟชนิดพิเศษมาเลเซีย (Malaysia Specialty Coffee Association)
เมียนมาร์ - (5) สมาคมกาแฟเมียนมาร์ (Myanmar Coffee Association)
ฟิลิปปินส์ - (6) คณะกรรมการกาแฟฟิลิปปินส์ (Philippine Coffee Board)
สิงคโปร์ - (7) สมาคมกาแฟสิงคโปร์ (Singapore Coffee Association)
ไทย - (8) สมาคมกาแฟไทย (Thai Coffee Association) และ (9) สมาคมบาริสต้าประเทศไทย (Barista Association of Thailand)
เวียดนาม - (10) สมาคมกาแฟและโกโก้เวียดนาม (Vietnam Coffee & Cocoa Association)
เกี่ยวกับสถาบันกาแฟอาเซียน
ในปี 2564 สมาพันธ์กาแฟอาเซียน (ACF) ได้ก่อตั้งหน่วยงานด้านการฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับกาแฟอย่างเป็นทางการ ได้แก่สถาบันกาแฟอาเซียน (ACI) เป้าประสงค์ของสถาบันคือ (1) สร้างคุณภาพและมาตรฐานด้านกาแฟสำหรับภูมิภาคอาเซียนในการเข้าสู่ตลาดโลก (2) ให้การศึกษาเกี่ยวกับกาแฟในราคาที่สามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคน (3) ส่งเสริมการปฏิบัติที่ยั่งยืนสำหรับชาวไร่กาแฟ (4) สนับสนุนการจัดหาอย่างยั่งยืนโดยผู้ค้า ผู้คั่ว และเจ้าของร้านกาแฟ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://aseancoffeeinstitute.org/