สถาบันสังคมศาสตร์กาลิงคะ (KISS) ในเมืองภุพเนศวร รัฐโอฑิศา ประเทศอินเดีย เป็นสถาบันการศึกษาเทียบเท่าระดับมหาวิทยาลัย (Deemed-to-be-University) สำหรับนักเรียน-นักศึกษาชาวพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยให้การศึกษาแก่ผู้เรียน 30,000 คนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับปริญญาโทขึ้นไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สถาบันฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมชุมชนพื้นเมืองผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่นำโดยการศึกษา
เมื่อวันที่ 22 มกราคม KISS ได้จัดอภิมหางานประชุมผู้ปกครอง โดยในงาน ดร. อาชยุตา ซามานตา (Dr. Achyuta Samanta) ผู้ก่อตั้ง KIIT-KISS กล่าวขอบคุณต่อบรรดาผู้ปกครองสำหรับการสนับสนุนและความรักของพวกเขาที่ทำให้สถาบันแห่งนี้มีชื่อเสียงทั้งในอินเดียและต่างประเทศ
งานนี้มีคนเข้าร่วมเป็นผู้ปกครองถึง 60,000 คน นักเรียน-นักศึกษา 30,000 คน ตลอดจนศิษย์เก่าผู้ภาคภูมิใจในสถาบันฯ
ดร. ซามานตากล่าวปราศรัยว่า "KISS เริ่มต้นจากที่มีนักเรียนชนเผ่าเพียง 125 คนจากเขตมยุรพานจ์ ในรัฐโอฑิศา เมื่อปี 2535-36 มาสู่ปัจจุบันที่เรามีนักเรียน-นักศึกษา 30,000 คนจบการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ และอีก 30,000 คนที่กำลังเรียนอยู่ นักเรียนแต่ละคนที่จบการศึกษาจากที่นี่จะเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อน ๆ ในหมู่บ้านของเขาคิดแสวงหาการศึกษา"
ในวาระโอกาสนี้ ดร. ซามานตาแสดงความยินดีกับศิษย์เก่า 2 คนสำหรับความสำเร็จของพวกเขา ได้แก่ คุณซาดัก คาร์จี (Sadhak Karjee) ที่สอบผ่านได้เป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการของรัฐโอฑิศา และคุณอาเจย์ โอรัม นักกีฬาซึ่งกำลังจะไปเป็นโค้ชรักบี้ในญี่ปุ่นในเดือนนี้
งานประชุมผู้ปกครองครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้พบปะกับบุตรหลาน เจ้าหน้าที่ในสถาบันฯ และรับทราบเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดในแคมปัสนี้ โดย KISS ได้เตรียมการอย่างละเอียดสำหรับผู้ปกครองที่จะเข้าร่วมการประชุม
ทางด้านผู้ปกครองยกย่องความทุ่มเทของผู้ก่อตั้งที่มีต่อการศึกษาของชนเผ่าตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกล่าวว่า ดร. ซามานตาได้แสดงความกล้าหาญในการก่อตั้ง KISS เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคทั้งปวงและให้การศึกษาแก่ชุมชนชนเผ่า
คุณนิรันจัน บิชิ (Niranjan Bishi) สมาชิกรัฐสภาในสภาสูงกล่าวว่า ดร. ซามานตาเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนที่ตระหนักได้ตั้งแต่อายุยังน้อยว่า จำเป็นต้องเพิ่มอำนาจให้กับชุมชนชนเผ่าผ่านการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่นำโดยการศึกษา
คุณประชันต์ กุมาร เราเทร (Prashant Kumar Routray) ซีอีโอของ KISS กล่าวว่า ท่านผู้ก่อตั้งได้เติมเต็มความฝันของชุมชนพื้นเมืองในการจัดหาการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับลูกหลานของพวกเขา