คุณหลี่ เผิง (Li Peng) รองประธานอาวุโสและประธานกลุ่มธุรกิจแคร์ริเออร์ของหัวเว่ย (Huawei) ได้ออกมาสนับสนุนให้มีนวัตกรรมในระบบเครือข่าย 5G มากขึ้น เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ ๆ และปลดปล่อยคุณประโยชน์ทางดิจิทัลในการปาฐกถาที่งานเอ็มดับบลิวซี เซี่ยงไฮ้ ประจำปี 2566 (MWC Shanghai 2023) เขากล่าวว่า อุตสาหกรรมต้องร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการทางดิจิทัลทั้งในตลาดผู้บริโภคและตลาดอุตสาหกรรม
การปาฐกถาในหัวข้อ "สร้างคุณค่าใหม่ด้วยเครือข่าย 5G เพื่อปลดปล่อยคุณประโยชน์ทางดิจิทัล" (Creating New Value with 5G to Unleash Digital Dividends)" กล่าวถึงวิธีการที่เครือข่าย 5G กลายมาเป็นหัวหอกสำคัญในการพัฒนาของอุตสาหกรรมดิจิทัลและช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในทุกอุตสาหกรรม
คุณหลี่กล่าวว่า "อนาคตได้มาถึงแล้ว สถานการณ์ทางธุรกิจใหม่สำหรับผู้คน ครัวเรือน ธุรกิจ และยานพาหนะกำลังนำมาซึ่งประสบการณ์ใหม่ ๆ สิ่งนี้ทำให้ความต้องการเครือข่ายที่มีศักยภาพสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งศักยภาพเครือข่ายที่ได้รับการยกระดับ อาทิ ความเร็วดาวน์ลิงก์ (downlink) 10 Gbps, ความเร็วอัปลิงก์ (uplink) 1 Gbps และการเชื่อมต่อ IoT 1 แสนล้านจุด กำลังสร้างพื้นที่ตลาดอย่างมหาศาลในเครือข่าย 5.5G สำหรับเหล่าผู้ให้บริการเครือข่าย"
เชื่อมต่อผู้คน: ความต้องการประสบการณ์ใหม่ช่วยผลักดันอัตราการรับส่งข้อมูล
ปัจจุบัน ผู้ใช้งานเครือข่าย 5G ทั่วโลกมีจำนวนมากกว่า 1.2 พันล้านคน โดยคุณหลี่อธิบายว่า การที่ผู้ใช้งานจำนวนมากพยายามค้นหาสุดยอดประสบการณ์นั้นกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างเครือข่าย 5G ที่มอบประสบการณ์ระดับ 10 Gbps ได้
หัวเว่ยคาดว่า แอปพลิเคชันและคอนเทนต์เหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการรับส่งข้อมูล (traffic) เพิ่มขึ้น 10 เท่า ตัวอย่างเช่น ปริมาณข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นจากคอนเทนต์ 3 มิติที่สามารถรับชมได้ด้วยตาเปล่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าคอนเทนต์ 2 มิติ 3-10 เท่า ขณะที่ผู้ใช้งานบริการนิวคอลลิ่ง (New Calling) เพียงรายเดียวสามารถสร้างข้อมูลได้มากกว่า 1 GB ต่อสัปดาห์ ส่วนผู้ใช้งานมือถือระบบคลาวด์สามารถสร้างข้อมูลได้มากกว่า 1GB ต่อวัน
นอกจากนี้ คลื่นความถี่ 5G ก็มีส่วนสำคัญในการมอบประสบการณ์อันเป็นที่สุดให้ผู้ใช้งาน คุณหลี่กล่าวว่า อุตสาหกรรมจำเป็นต้องเข้าถึงคลื่นความถี่ใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงคลื่นความถี่ 6 GHz และ mmWave ตลอดจนคลื่นความถี่ sub-100 GHz สำหรับ 5G นิว เรดิโอ (5G New Radio)
หัวเว่ยได้ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายรายต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตรวจสอบทางเทคนิคสำหรับคลื่นความถี่ 6 GHz ซึ่งการทดสอบภาคสนามแสดงให้เห็นว่า สามารถบรรลุความเร็วดาวน์ลิงก์ 10 Gbps ได้บนคลื่นความถี่ 6 GHz นอกจากนี้ คลื่นความถี่ดังกล่าวยังสามารถส่งสัญญาณครอบคลุมร่วมกับคลื่นความถี่ซีแบนด์ (C-band) สำหรับไซต์เดี่ยวได้
เชื่อมครัวเรือน: ห้องขนาดใหญ่สำหรับชีวิตสมาร์ตไลฟ์
ในตลาดผู้บริโภค ความต้องการประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากได้ทำให้เกิดกระแสนิยมต่อรูปแบบคอนเทนต์และแอปพลิเคชันที่สร้างสรรค์ เช่น ภาพ 3 มิติที่สามารถรับชมได้ด้วยตาเปล่า การจัดการบ้านอัจฉริยะ (smart home) และระบบบ้านอัจฉริยะเต็มรูปแบบ (whole-house) สิ่งนี้ได้จุดประกายให้เหล่าผู้ให้บริการเครือข่ายอัปเกรดเครือข่ายครัวเรือน ที่ให้แบนด์วิดท์ได้ 10 Gbps เหมือนเป็นสายส่วนตัว
คุณหลี่อธิบายว่า หัวเว่ยเปิดตัวโซลูชัน 5G เอฟดับบลิวเอ สแควร์ (5G FWA Square) ซึ่งประกอบด้วย เอฟดับบลิวเอ โปร (FWA Pro) สำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เอฟดับบลิวเอ ไลต์ (FWA Lite) สำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตราคาประหยัด และเอฟดับบลิวเอ บิซ (FWA Biz) สำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเสถียรสูง โซลูชันทั้ง 3 อย่างนี้สามารถช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นในหลากหลายสถานการณ์ และแผ่ขยายตลาด 5G เอฟดับบลิวเอ (5G FWA) ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
เชื่อมต่ออุตสาหกรรมและเครื่องจักร: ตลาดมูลค่าล้านล้านหยวน
นับตั้งแต่ที่เครือข่าย 5G เริ่มต้นให้บริการเชิงพาณิชย์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ระบบเครือข่าย 5G ภาคเอกชนมากกว่า 17,000 แห่งก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้นทั่วโลก ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้ได้เร่งความเร็วการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เห็นได้อย่างชัดเจนสำหรับอุตสาหกรรมที่เพิ่งเริ่มต้นประยุกต์ใช้เครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นในภาคการผลิต การท่าเรือ เหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซ และการดูแลสุขภาพ
เมื่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลกลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้มากขึ้น ก็จะมีธุรกิจจำนวนมากขึ้นที่ผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่กระบวนการผลิตของพวกเขา และพวกเขาจะต้องการเครือข่ายขั้นสูงที่มีศักยภาพมากขึ้นที่ 5G มอบให้ได้
หัวเว่ยได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการช่วยลูกค้ารายหนึ่งพัฒนาสายการผลิตที่ยืดหยุ่นด้วยพลังของเครือข่าย 5.5G ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โครงการข้างต้นเผยให้เห็นว่า เครือข่าย 5.5G รับประกันความเสถียรที่สูงมาก และลดเวลาแฝง (latency) ลงสู่ระดับ 4 มิลลิวินาทีในสภาพแวดล้อมที่มีการทำงานพร้อมกันสูง
เชื่อมต่อยานพาหนะ: เส้นทางใหม่ของผู้ให้บริการเครือข่าย
คุณหลี่ยังได้กล่าวถึงรถยนต์ขับเคลื่อนเอง ซึ่งเป็นหัวข้อยอดนิยมในตอนนี้ในการปาฐกถาครั้งนี้ด้วย โดยมีความคืบหน้าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องด้านยานพาหนะที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและยานพาหนะที่สื่อสารกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต (IoV) ขณะที่บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) นับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับยานพาหนะที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ระบบยานยนต์สู่ทุกสิ่ง (V2X) และการเชื่อมต่ออัจฉริยะ
เครือข่าย 5.5G จะช่วยให้ยานพาหนะสัมผัสถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ยานพาหนะที่สื่อสารกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต (IoV) ที่มีการรับรู้ขั้นสูงคือองค์ประกอบหลักของระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ ระบบนำทางในวันที่ฝนตกหรือมีหมอกจัด การรับรู้เกินขอบเขตสายตา และอื่น ๆ อีกมากมาย ยานพาหนะไร้คนขับระดับ 4 คาดว่าจะได้รับการเปิดตัวออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ในปี 2568 และจะต้องพึ่งพาพลังการประมวลผลและเครือข่ายที่แข็งแกร่งอย่างมหาศาล
รถยนต์อัตโนมัติผลิตข้อมูลมากถึงหลายร้อยเทระไบต์ในแต่ละวัน และจำเป็นต้องอัปโหลดข้อมูลดังกล่าวราว 1 เทระไบต์เข้าสู่ระดับคลาวด์เพื่อสนับสนุนการฝึกฝนโมเดล AI และอัปเดตอัลกอริทึม
คุณหลี่กล่าวว่า หัวเว่ยจะกระชับความเป็นพันธมิตรกับอุตสาหกรรมอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนความต้องการพลังการประมวลผลบนระบบคลาวด์และการประมวลผลอัจฉริยะแบบเรียลไทม์ที่มากมายมหาศาลนี้ ตลาดการเชื่อมต่อและการประมวลผลได้รับการคาดการณ์ว่าจะกลายเป็นพื้นที่ที่น่าจับตามองสำหรับการเติบโตของเหล่าผู้ให้บริการเครือข่าย
งานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส เซี่ยงไฮ้ ประจำปี 2566 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28-30 มิถุนายน ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยหัวเว่ยจะร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่บูธ E10 และ E50 ณ ฮอลล์ N1 ของศูนย์จัดแสดงสินค้านานาชาติเซี่ยงไฮ้ (SNIEC) หัวเว่ยจะร่วมมือกับผู้ให้บริการระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และผู้นำทางความคิดในการอภิปรายหัวข้อต่าง ๆ เช่น การเร่งการเติบโตของเทคโนโลยี 5G การก้าวสู่ยุค 5.5G และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอัจฉริยะ ทั้งนี้ เทคโนโลยี 5.5G ได้มอบโอกาสในการสร้างมูลค่าทางธุรกิจใหม่ ๆ เช่น อินเทอร์เน็ตของผู้คน (IoP) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) และยานพาหนะที่สื่อสารกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต (IoV) สนับสนุนอุตสาหกรรมจำนวนมากในขณะที่กำลังก้าวไปสู่โลกอัจฉริยะ เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://carrier.huawei.com/en/events/mwcs2023