สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติเผยว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนมากเพิ่งรู้ตัวว่าป่วยหลังจากตรวจพบภาวะแทรกซ้อน

สุขภาพ

การวิจัยระดับโลกโดยสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติเผยให้เห็นว่า 72% ของผู้ป่วยโรคเบาหวานได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานเพราะเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้วอย่างน้อยหนึ่งภาวะ เช่น สูญเสียการมองเห็น เส้นประสาทเสียหาย หรือโรคหัวใจ เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน 7 ใน 10 ราย (72%) เพิ่งรู้ว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานเพราะเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานแล้ว ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบทั้งหมด (94%) เคยประสบภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานอย่างน้อยหนึ่งภาวะในช่วงชีวิตที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ผลการค้นพบดังกล่าวมาจากการวิจัยระดับโลกที่ดำเนินการโดยสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation หรือ IDF) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก่อนที่จะถึงวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน โดยการสำรวจนี้จัดทำขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วแอฟริกา เอเชีย ยุโรป และอเมริกาใต้ เพื่อทำความเข้าใจระดับความตระหนักรู้และผลกระทบที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานอาจร้ายแรงและในบางกรณีอาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยมีทั้งความเสียหายต่อหัวใจ ดวงตา ไต และเท้า ซึ่งความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดความเครียดอย่างมาก โดยผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่ง (55%) เผยว่ารู้สึกกังวลแทบทุกวันว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

การตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ การรักษาอย่างทันท่วงที และการดูแลตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม จะทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการป้องกันภาวะแทรกซ้อน ผู้ตอบแบบสำรวจสี่ในห้า (84%) เชื่อว่าตนเองสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ และเกือบสองในสาม (62%) คิดว่าบุคลากรทางการแพทย์น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้

ศาสตราจารย์ อักห์ตาร์ ฮุสเซน (Akhtar Hussain) ประธานสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ กล่าวถึงผลการวิจัยว่า "ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่จำเป็นต้องทำเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน นอกจากนั้นยังต้องให้ความรู้เพื่อสนับสนุนการตรวจโรคและการจัดการภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่เนิ่น ๆ สิ่งที่เราได้เรียนรู้เป็นเครื่องเตือนใจว่า โรคเบาหวานมักไม่ถูกตรวจพบจนกว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนอย่างน้อยหนึ่งภาวะเกิดขึ้น เราตระหนักว่าการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างถูกต้องสามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้อย่างมาก นอกจากนั้นยังมีขั้นตอนที่ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถทำได้เพื่อชะลอหรือป้องกันการเกิดโรค สิ่งสำคัญคือต้องทราบระดับความเสี่ยง รู้ว่าควรมองหาอะไร และรู้วิธีรับมือ"

มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งรวมถึงประวัติครอบครัว น้ำหนัก อายุ ชาติพันธุ์ ความเฉื่อยชา และโรคเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งบางส่วนสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการกินเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกาย ดังนั้น การเพิ่มความเข้าใจและความตระหนักรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสนับสนุนการป้องกัน การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ และการรักษาอย่างทันท่วงที

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของโรคเบาหวานทั้งหมด มักเกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ โดยมีอาการที่อาจไม่ทันสังเกต ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยจำนวนมาก (มากกว่า 50% ในบางประเทศ) จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยจนกระทั่งภาวะแทรกซ้อนแสดงออกมา ดังที่ผลการวิจัยครั้งนี้ระบุ โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดในผู้ตอบแบบสำรวจคือ ปัญหาเกี่ยวกับตา (46%) เท้า (38%) และสุขภาพช่องปาก (37%)

ศาสตราจารย์ฮุสเซนกล่าวเสริมว่า "สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือที่เหมาะสม โรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตประจำวันและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้ สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติจึงมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความตระหนักรู้ถึงวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับโรค ช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าใจความเสี่ยง และยกระดับการเข้าถึงการรักษาที่ดีที่สุด ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต้องมีความรู้และทรัพยากรในการวินิจฉัยโรคเบาหวานตั้งแต่เนิ่น ๆ และให้การสนับสนุนที่เหมาะสม"

เนื่องในวันเบาหวานโลกปีนี้ สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติขอเรียกร้องให้ประชาชนเรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และขอให้รัฐบาลทั่วโลกจัดหาทรัพยากรให้เพียงพอต่อการยกระดับการเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาโรคเบาหวาน สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://worlddiabetesday.org/

วิธีการวิจัยและตัวอย่าง

สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติได้มอบหมายให้ อาร์ลิงตัน รีเสิร์ช (Arlington Research) บริษัทวิจัยตลาดเอกชน ดำเนินการวิจัยออนไลน์กับผู้ใหญ่ 700 คนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานในหลายประเทศทั่วโลก ได้แก่ สเปน บราซิล เม็กซิโก ปากีสถาน อินเดีย จีน และไนจีเรีย

เกี่ยวกับสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ

สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ คือองค์กรแม่ข่ายที่ประกอบด้วยสมาคมโรคเบาหวานระดับประเทศกว่า 240 แห่ง ในกว่า 160 ประเทศและดินแดน โดยมีพันธกิจในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเบาหวานและป้องกันผู้ที่มีความเสี่ยงไม่ให้เป็นโรคเบาหวาน ทางสหพันธ์เป็นผู้นำชุมชนโรคเบาหวานทั่วโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.idf.org

เกี่ยวกับวันเบาหวานโลก

วันเบาหวานโลกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติและองค์การอนามัยโลก เพื่อรับมือกับข้อกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านสุขภาพที่ทวีความรุนแรงขึ้นอันเนื่องมาจากโรคเบาหวาน วันเบาหวานโลกกลายเป็นวันสหประชาชาติอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2549 หลังผ่านข้อมติสหประชาชาติ 61/225 วันเบาหวานโลกตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของเซอร์เฟรเดอริก แบนติง (Sir Frederick Banting) ผู้ค้นพบอินซูลินสำหรับรักษาโรคเบาหวานในปี พ.ศ. 2465 ร่วมกับชาร์ลส์ เบสต์ (Charles Best) ทั้งนี้ แคมเปญรณรงค์วันเบาหวานโลกปี 2566 ได้รับการสนับสนุนจาก แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca), เด็กซ์คอม (Dexcom), ลิลลี่ ไดอะบีทีส (Lilly Diabetes), เมอร์ค (Merck), โนโว นอร์ดิสค์ (Novo Nordisk) และ ซาโนฟี่ (Sanofi) สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.worlddiabetesday.org

  • ผู้โพสต์ :
    iqmedia
  • อัพเดทเมื่อ :
    15 พ.ย. 2023 13:44:09

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา