ในการประชุมของสมาคมโสมแห่งเกาหลี (Korean Society of Ginseng) เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ณ กรุงโซล ได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า โสมแดงมีคุณสมบัติในการบรรเทาอาการติดยาได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยศาสตราจารย์ โอเซควาน (Oh Sei-kwan) จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (Ewha Womans University) ค้นพบว่า การบริโภคโสมแดงช่วยลดอาการติดยาทั้งทางร่างกายและจิตใจ และช่วยบรรเทาอาการเนื่องจากการขาดยาได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยผลการวิจัยดังกล่าวถือเป็นความหวังอย่างมาก เนื่องจากปัญหาการติดยาเสพติดกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก
"รายงานยาเสพติดโลก ประจำปี 2566" (World Drug Report 2023) ระบุว่า จำนวนผู้ใช้ยาทั่วโลกเพิ่มขึ้น 23.3% จากเมื่อสิบปีที่แล้ว แตะระดับ 296 ล้านคนในปี 2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาระงับปวดทางการแพทย์ เฟนทานิล (Fentanyl) ซึ่งถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดจนมีชื่อเรียกว่า "ยาซอมบี้" กำลังแทรกซึมเข้าสู่กลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง และเนื่องจากยังไม่มีวิธีรักษาที่ชัดเจนสำหรับอาการติดยา ผลการศึกษาคุณสมบัติของโสมแดงในการบรรเทาอาการติดยาจึงได้รับความสนใจอย่างมาก
ทีมวิจัยของศาสตราจารย์โอได้ทำการทดลองกับหนู และยืนยันว่ากลุ่มที่บริโภคโสมแดงมีพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงการติดยาทางร่างกายลดลง 50% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมในระหว่างการให้มอร์ฟีน ส่วนในการทดลองเพื่อประเมินการติดยาทางจิตใจพบว่า กลุ่มที่บริโภคโสมแดงมีคะแนนต่ำกว่ากลุ่มควบคุมประมาณสามเท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโสมแดงช่วยลดการติดยาทางจิตใจได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ การศึกษายังเผยให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างโสมแดงกับการล้างพิษตับ โดยพบว่าสารกลูตาไธโอนในตับซึ่งมีคุณสมบัติในการล้างพิษนั้น มีจำนวนลดลงเพราะการติดมอร์ฟีน แต่เพิ่มขึ้นมาอีกครั้งในกลุ่มที่บริโภคโสมแดง โดยมีประสิทธิผลราว 90% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม
คุณสมบัติของโสมแดงที่ช่วยปรับปรุงการทำงานของตับได้รับการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในการประชุมวิชาการของสมาคมวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการแห่งเกาหลี (Korean Society of Food Science and Nutrition) เมื่อเดือนตุลาคม ณ เมืองปูซาน ได้มีการนำเสนอผลการวิจัยที่สำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของโสมแดงในการบรรเทาโรคไขมันพอกตับ โดยผลการทดลองกับผู้ป่วย 94 รายยืนยันว่า การบริโภคโสมแดงช่วยควบคุมจุลินทรีย์ในลำไส้ เพิ่มแบคทีเรียที่มีประโยชน์ และลดแบคทีเรียที่เป็นอันตราย จึงช่วยให้ตับที่เสียหายมีสภาพดีขึ้น
ทั้งนี้ ผลการศึกษาข้างต้นเป็นข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ถึงประโยชน์ของโสมแดงในการรักษาผู้ติดยา และยืนยันศักยภาพของโสมแดงในฐานะยาธรรมชาติที่ช่วยบรรเทาอาการติดยา ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ