ไทย-มาเลเซีย เตรียมกระชับสัมพันธ์การค้าและการลงทุน หนุนการเติบโตระดับภูมิภาค ในการประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน ปี 2567

ลงทุน การเงิน ธนาคาร เศรษฐกิจ

สำนักเลขาธิการการประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน ปี 2567 / คิวบ์ อินทิเกรตเต็ด

การประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน ปี 2567 (Malaysia-China Summit (MCS) 2024) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ จะเป็นเวทีที่นำเสนอโอกาสครั้งสำคัญให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยได้ส่งเสริมการค้าและการลงทุน ไม่ใช่แค่เพียงกับมาเลเซียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีนด้วย

ดาโต๊ะ ดร. ตัน ยู ชอง (Dato' Dr. Tan Yew Chong) กรรมาธิการจัดงาน MCS 2024 กล่าวว่า อุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทยจะได้รับประโยชน์จากการพบปะพูดคุยกับผู้จัดแสดงสินค้ามากกว่า 500 ราย และผู้แทนการค้า 10,000 รายจากมาเลเซีย จีน และอาเซียน ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้

"ทุกท่านไม่ควรพลาดโอกาสในการเข้าร่วมการจับคู่ทางธุรกิจ การประชุมอุตสาหกรรม การเสวนา การพบปะพูดคุยและสานสัมพันธ์ รวมถึงการแบ่งปันความรู้ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการทำงานร่วมกันในภูมิภาค" เขากล่าวในงาน MCS 2024: Networking Engagement Series ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ (17 ก.ค.)

สำหรับการประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน ปี 2567 จะจัดขึ้นในหัวข้อ "Prosperity Beyond 50" ภายในงานประกอบด้วยมหกรรมการค้าและการลงทุนนานาชาติระยะเวลา 3 วัน และการประชุมผู้นำระยะเวลา 2 วัน ซึ่งให้ความสำคัญกับ 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีแห่งอนาคต (Future Tech), ความรู้และประสบการณ์แห่งอนาคต (Future Knowledge and Experience), การเดินทางและการเชื่อมต่อแห่งอนาคต (Future Mobility & Connectivity), การเติบโตในอนาคต (Future Growth) และโอกาสในอนาคต (Future Opportunity) โดยมุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนหลักมากกว่า 20 ภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

อุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์ บริการระดับโลก การท่องเที่ยว การศึกษา โครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อระดับภูมิภาค อิเล็กทรอนิกส์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ การผลิตขั้นสูง อาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฮาลาล แฟรนไชส์ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จะได้รับโอกาสมากมายในการสร้างความร่วมมือและการเติบโตในการประชุมสุดยอดครั้งนี้

การประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน ปี 2567 จัดขึ้นโดยบริษัท คิวบ์ อินทิเกรตเต็ด มาเลเซีย (Qube Integrated Malaysia) ร่วมกับบรรษัทพัฒนาการค้าต่างประเทศมาเลเซีย (MATRADE) เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างมาเลเซียกับจีน ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคและแสดงจุดแข็งร่วมกันของอาเซียน เนื่องในโอกาสที่มาเลเซียจะได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2568 ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซีย (MITEC) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์

นายโมฮาเหม็ด ฮาฟิซ มูฮัมหมัด ชาริฟฟ์ (Mr. Mohamed Hafiz Md Shariff) กรรมาธิการการค้าประจำกรุงเทพฯ ของ MATRADE กล่าวว่า "MCS 2024 มอบโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ในการมีส่วนร่วม การทำงานร่วมกัน และการสำรวจเส้นทางการเติบโตใหม่ ๆ ร่วมกับคู่ค้าจากมาเลเซีย จีน และอาเซียน"

"เนื่องจากมีผู้จัดแสดงสินค้าและผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากจากหลากหลายภาคส่วน ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยสามารถขยายขอบเขตการเข้าถึงตลาด สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนรับทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มและเทคโนโลยีใหม่ ๆ" เขากล่าว

พร้อมกันนี้ เขาได้ชี้ให้เห็นว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้มุ่งมั่นสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนคิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 2 พันล้านริงกิต ตลอดจนมอบโอกาสมากมายให้แก่อุตสาหกรรมไทยในการสร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจ รวมทั้งคว้าประโยชน์จากการประสานความร่วมมือระหว่างตลาดมาเลเซียกับตลาดจีน

ในการกล่าวสุนทรพจน์หลัก ดาตุ๊ก โจจี แซมูเอล (Datuk Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำราชอาณาจักรไทย ได้เชิญชวนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยมาร่วมกันเสริมสร้างการค้าทวิภาคีกับมาเลเซีย เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันของทั้งสองประเทศ นั่นคือ การสร้างการค้ามูลค่ารวม 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2570

ทั้งสองประเทศต่างให้คำมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งตอกย้ำถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยต้องเข้าร่วมงาน MCS 2024 "เป้าหมายอันยิ่งใหญ่นี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของเราในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสำรวจโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ระหว่างทั้งสองประเทศ" เอกอัครราชทูตมาเลเซียกล่าว

นอกจากนี้ เขาได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีที่แน่นแฟ้นระหว่างมาเลเซียกับไทย โดยกล่าวว่าไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของมาเลเซียในระดับโลก และเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ในอาเซียน ขณะที่มาเลเซียเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยในอาเซียน

การพึ่งพาซึ่งกันและกันเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญ ตลอดจนโอกาสในการสร้างความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

"ในช่วงปี 2560-2566 มาเลเซียและไทยยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีที่แข็งแกร่ง ด้วยมูลค่าการค้าเฉลี่ย 2.473 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แม้ว่าจะลดลงเล็กน้อยในปี 2566 อันเนื่องมาจากการค้าโลกชะลอตัว แต่มาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในอาเซียน" เขากล่าวเสริม

"สำหรับในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 การค้าระหว่างมาเลเซียกับไทยมีมูลค่ารวม 9.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.616 หมื่นล้านริงกิต) โดยมีมูลค่าการส่งออก 5.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.374 หมื่นล้านริงกิต) และมูลค่าการนำเข้า 4.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.242 หมื่นล้านริงกิต)" เอกอัครราชทูตมาเลเซียกล่าว

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตมาเลเซียยังเน้นย้ำถึงจุดแข็งของมาเลเซียในการส่งออกสินค้าจำเป็นให้กับประเทศไทย เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า สินค้าเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ฮาลาล เพื่อรองรับชาวมุสลิมจำนวนมากในไทย

"การประชุมสุดยอดครั้งนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเราที่อยากเห็นภูมิภาคอาเซียนที่เจริญรุ่งเรืองและเชื่อมโยงกันด้วยการค้าและการลงทุนที่แข็งแกร่ง โดยงานนี้จะเป็นเวทีอันทรงพลังที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาค" เขาเน้นย้ำ

นอกจากนี้ เขายังตอกย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของประเทศไทยในการผลักดันความร่วมมือระดับภูมิภาคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ "ในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน มาเลเซียและไทยได้ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การบูรณาการ และเสถียรภาพของภูมิภาค เมื่อร่วมมือกัน เราสามารถต่อยอดความสำเร็จของอาเซียน ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น ธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขัน และภูมิภาคที่มีความเป็นเอกภาพ"

สำหรับกิจกรรม MCS 2024: Networking Engagement Series ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนรวม 200 คน โดยมีนายเย็บ ซู ชวน (Mr. Yeap Swee Chuan) ประธานกิตติมศักดิ์ของสภาหอการค้ามาเลเซีย-ไทย และแอร์เอเชีย (AirAsia) มาร่วมเป็นวิทยากรภายในงาน

ทั้งนี้ แอร์เอเชียเป็นพันธมิตรสายการบินอย่างเป็นทางการของงาน MCS 2024 ส่วนพันธมิตรเชิงกลยุทธ์รายอื่น ๆ ได้แก่ การท่องเที่ยวมาเลเซีย, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการมาเลเซีย, สภาธุรกิจมาเลเซีย-จีน, สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติมาเลเซีย, สภาหอการค้ามาเลเซีย-จีน, สภาหอการค้าวิสาหกิจจีนในมาเลเซีย, MAYCHAM China, สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอาเซียน และ Persatuan Muafakat One Belt One Road ในขณะที่พันธมิตรสื่อประกอบด้วย เบอร์นามา (Bernama), เดอะสตาร์ (The Star) และ ซินจิวเดลี (Sin Chew Daily)

ที่มา: สำนักเลขาธิการการประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน ปี 2567 / คิวบ์ อินทิเกรตเต็ด

  • ผู้โพสต์ :
    iqmedia
  • อัพเดทเมื่อ :
    18 ก.ค. 2024 13:27:36

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา